เมื่อคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานเป็นประจำ อยู่ๆ ก็ไม่เหมือนเดิม เกิดอาการเด๋อด๋า, ทำงานช้าผิดปกติ มีจอฟ้าแห่งความตายมาเยี่ยมเยียนบ่อย เราสามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้คำสั่ง หรือ เครื่องมือช่วยเหลือที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows ได้ โดยจะมีอยู่ 3 คำสั่ง ที่นิยมใช้งานกัน คือคำสั่ง CHKDSK, SFC และ DISM
แม้ความจริง เราจะสามารถใช้คำสั่ง CHKDSK, SFC และ DISM ทั้งหมดทุกคำสั่งได้ แต่มันก็เสียเวลาโดยใช่เหตุ ถ้าเรารู้ว่าแต่ละคำสั่ง เหมาะกับสถานการณ์แบบไหน แล้วเลือกใช้ให้ถูกต้อง ก็ประหยัดเวลาไปได้เยอะเลย ในบทความนี้เราก็จะมาอธิบายแต่ละคำสั่งให้คุณผู้อ่านเข้าใจมันมากขึ้นกัน
คำสั่ง CHKDSK (Check Disk) เป็นเครื่องมือช่วยเหลือตัวแรก ที่เราควรเรียกลองใช้งานก่อนเมื่อคอมพิวเตอร์ของเราเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น ค้างเมื่อเราสั่งปิดเครื่อง หรือทำงานช้าผิดปกติ
คำสั่ง CHKDSK จะสแกนข้อมูลทั้งหมดภายในหน่วยความจำเพื่อค้นหา และซ่อมแซมไฟล์ที่มีความเสียหาย ซึ่งจะรวมไปถึงไฟล์ระบบด้วย นอกจากนี้ มันยังตรวจหา ส่วนที่เสีย (Bad Sector(s)) ให้เรา โดยเมื่อพบก็จะพยายามแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ปกติ หรือหากแก้ไม่ได้ มันก็จะบอกให้ระบบไม่ใช้ Clusters ดังกล่าวในการเก็บข้อมูลอีกต่อไป
บางครั้ง Windows จะรัน คำสั่ง CHKDSK ได้เองโดยอัตโนมัติ ถ้ามันตรวจพบปัญหาในหน่วยความจำ ซึ่งอาจจะเกิดจากเหตุผลไม่ร้ายแรงอย่างการปิดเครื่องแบบไม่สมบูรณ์ หรือหากเลวร้าย ก็อาจจะเพราะไฟล์ระบบโดนมัลแวร์โจมตี (ในกรณีเลวร้ายการใช้คำสั่ง CHKDSK เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้นะครับ)
โดยปกติแล้ว เราควรเรียกใช้งานคำสั่ง หรือรัน CHKDSK อย่างน้อยสักเดือนละ 1 รอบ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพหน่วยความจำของเราเป็นประจำนะครับ เพราะมันช่วยตรวจหา Bad Sectors ที่เป็นอาการบ่งบอกว่าหน่วยความจำของเราเริ่มที่จะมีปัญหาแล้วได้ด้วย หากเจอไว จะได้เตรียมแผนรับมือ สำรองข้อมูล เปลี่ยนหน่วยความจำใหม่ได้ทันก่อนที่มันจะใช้งานไม่ได้
ขั้นตอนสแกนนี้อาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที หรืออาจจะนานเกือบชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาด และจำนวนข้อมูลในไดร์ฟ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว CHKDSK ก็จะรายงานผลการสแกนให้ผู้ใช้ทราบว่าไม่พบเจอข้อผิดพลาด (Erros) หรือถ้าเจอ มันก็จะแนะนำแนวทางการแก้ไขให้เราดำเนินการต่อ
การสั่งคำสั่ง CHKDSK ผ่าน Command Prompt มีข้อดีตรงที่เราสามารถควบคุมการทำงานของมันได้ละเอียดขึ้น การทำก็ไม่ยาก
อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้จะเป็นการทำงานแบบอ่านข้อมูลเพียงอย่างเดียวนะ (Read-only) มันจะไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลอะไรในไดร์ฟเลย หากต้องการให้มันแก้ไขปัญหาด้วย เราต้องใส่ Parameters เพิ่ม ดังนี้ (หากไม่ใช่ไดร์ฟ C: อย่าลืมเปลี่ยนชื่อไดร์ฟ)
หากคำสั่งไม่สามารถใช้งานได้ มีข้อความแจ้งเตือนว่า "The volume is in use by another process" ก็ไม่ต้องตกใจ ระบบจะสั่งให้ CHKDSK เริ่มทำงานเมื่อเราเริ่มระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ให้เองอัตโนมัติ
ในขณะที่คำสั่ง CHKDSK จะทำการค้นหา และแก้ไขข้อผิดพลาดของไฟล์ระบบในหน่วยความจำ คำสั่ง SFC (System File Checker) ออกแบบมาเจาะจงสำหรับสแกน และซ่อมแซมไฟล์ระบบของ Windows โดยเฉพาะ หากมันเจอว่าไฟล์เสียหาย หรือถูกแก้ไข SFC จะทำการแทนที่ไฟล์ดังกล่าวด้วยไฟล์ใหม่ที่ถูกต้องให้อัตโนมัติ
ถ้า Windows มีอาการแครช, เจอข้อความแจ้งเตือนประมาณว่าไฟล์ DLL หายไป หรือเจอหน้าจอสีฟ้าแห่งความตาย (Blue Screen of Death) ทางเลือกที่ดีที่สุดที่เราควรทำ คือ ใช้คำสั่ง SFC นี่แหละครับ
จากนั้น SFC จะทำการสแกนไฟล์ในระบบ หากสแกนเจอปัญหา มันจะแทนที่ไฟล์เดิมที่เสียหาย หรือหายไป โดยอ้างอิงข้อมูลของไฟล์จาก Resident component store (ข้อมูลนี้จะอยู่ใน โฟลเดอร์ WinSxS) ให้อัตโนมัติ
อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการให้ SFC สแกนอย่างเดียว แต่ไม่ต้องซ่อมไฟล์ก็สามารถทำได้นะ โดยใช้คำสั่ง
หากใช้คำสั่งนี้ หลังสแกนเสร็จ เราจะพบข้อความได้ 3 แบบ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ
DISM (Deployment Image Servicing and Management) เป็นคำสั่ง หรือเครื่องมือ ที่เอาไว้ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่ทรงพลังที่สุด ในบรรดาเครื่องมือทั้งที่เรากล่าวถึงในบทความนี้ มันเป็นท่าไม้ตายสุดท้ายที่จะช่วยเหลือเราได้ หากคำสั่ง SFC ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้
ในขณะที่คำสั่ง CHKDSK จะสแกนฮาร์ดดิสก์ และคำสั่ง SFC แกนไฟล์ระบบ แต่ DISM จะตรวจสอบ และซ่อมแซมไฟล์ที่อยู่ใน Resident Component Store โดนดาวน์โหลดข้อมูลใหม่มาจาก Windows Component Store เพื่อให้คำสั่ง SFC สามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากคำสั่งนี้ใช้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย ก่อนใช้คำสั่งนี้ เราควรสำรองข้อมูลเอาไว้ก่อน เผื่อเกิดเหตุขัดข้องอินเทอร์เน็ตดันล่มในจังหวะสำคัญ จะได้แก้ปัญหาง่ายๆ
เพื่อประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงที่ไม่จำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นในขั้นตอนซ่อมแซมไฟล์ เราสามารถสั่งตรวจสอบโดยที่ยังไม่ต้องให้มันดำเนินการเปลี่ยนแปลงก่อนได้ ด้วยคำสั่ง
การสแกนด้วยคำสั่งนี้จะใช้เวลาแค่เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น หากตรวจสอบไม่พบปัญหา เราสามารถใช้คำสั่งสแกนที่ละเอียดขึ้นเพื่อยืนยันว่าข้อมูลใน Component Store ยังสมบูรณ์อยู่ และปรับปรุงได้ โดยใช้คำสั่งดังต่อไปนี้
หลังสแกนเสร็จสิ้น หาก DISM รายงานว่าพบปัญหาในระบบไฟล์ (ภาพด้านบนคือไม่พบความผิดปกติ) เราก็จะใช้อีกคำสั่งเพื่อให้ DISM เชื่อมต่อไปยัง Windows Update เพื่อดาวน์โหลดไฟล์ใหม่มาซ่อมแซม นั่นคือ
โดยคำสั่งนี้อาจจะใช้เวลาในการทำงานได้นานถึง 10 นาที หากกดแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็อดทนรอสักหน่อยนะ
หลังจาก DISM สแกน และซ่อมแซมไฟล์ให้เราเสร็จแล้ว ให้เราทำการ Restart คอมพิวเตอร์หนึ่งรอบ และใช้คำสั่ง SFC อีกครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ในตอนนี้เชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะเข้าใจแล้ววว่าคำสั่ง หรือ เครื่องมือ CHKDSK, SFC และ DISM มีความสามารถแตกต่างกันอย่างไร ก็หวังว่ามันจะช่วยให้คุณแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ของคุณได้นะ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 2
15 มีนาคม 2566 00:15:43
|
||
GUEST |
mix
เป็นประโยชน์มาก ๆ ขอบคุณสำหรับบทความครับ
|
|
ความคิดเห็นที่ 1
28 เมษายน 2564 18:57:15
|
||
GUEST |
วุธ
ขอบคุณครับ
|
|