ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

ซื้อมือถือให้ลูกหลาน ตอนอายุเท่าไหร่ดี ? ข้อดี-ข้อเสีย ของเด็กเล่นมือถือ และคำแนะนำในการใช้งานในเด็ก

ซื้อมือถือให้ลูกหลาน ตอนอายุเท่าไหร่ดี ? ข้อดี-ข้อเสีย ของเด็กเล่นมือถือ และคำแนะนำในการใช้งานในเด็ก
ภาพจาก : freepik.com (pch.vector)
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 21,272
เขียนโดย :
0 %E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B5+%3F+%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ซื้อมือถือให้ลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี ?

เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดที่ยาวนาน ทำให้ส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ วัยเรียนที่ต้องอยู่บ้าน และเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ตามกันมา ซึ่งกลายเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อความเชื่อในการเลี้ยงดูเด็กที่ว่า "เด็ก ๆ ไม่ควรอยู่กับหน้าจออุปกรณ์ไอทีเป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการ พฤติกรรมและอื่น ๆ ไปตลอดชีวิต"

บทความเกี่ยวกับ เด็ก อื่นๆ

ผู้ปกครองที่กำลังกังวลว่า จะให้ลูกใช้มือถือ แท็บเล็ตของตัวเองดีไหม ควรซื้อมือถือให้ลูกหลานตอนช่วงอายุเท่าไหร่ดี จะซื้อให้ตอนเป็นนักศึกษาหรือเป็นผู้ใหญ่ก็กลัวเสียโอกาสทางการศึกษาและอื่น ๆ ทางไทยแวร์มีคำแนะนำดี ๆ มาฝากกัน

เนื้อหาภายในบทความ

สำรวจสถิติการใช้งานมือถือในกลุ่มเด็ก ๆ

จากการสำรวจสถิติการใช้งานมือถือของ Commin Sense Media องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) เด็กอายุ 12 ปี มีมือถือเป็นของตัวเอง 69% เพิ่มขึ้นจาก 41% ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ในขณะที่เด็กอายุ 10 ปี มีมือถือเป็นของตัวเอง 36% เพิ่มขึ้นจาก 19% ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558)

ส่วนทางฝั่งสหราชอาณาจักร ผลการศึกษาล่าสุดที่จัดทำโดย Childwise ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยกลุ่มเด็กและเยาวชน ระบุว่า เด็กอายุ 11 ปี มากถึง 90% มีมือถือ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ไอทีอื่น ๆ เป็นของตัวเอง และ 90% นี้จะกลายเป็น 100% เมื่อเด็ก ๆ ก้าวเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษา

จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เด็ก ๆ จะได้เป็นเจ้าของมือถือเครื่องแรกในช่วงอายุ 9-14 ปี แต่ก็มีเด็กที่อายุก่อนหรือหลังจากช่วงวัยนี้เริ่มใช้มือถือเครื่องแรกแล้วเช่นกัน สังเกตได้จากกลุ่มเด็กอายุ 9-14 ปีที่ใช้มือถือ คิดเป็น 65.4% ของกลุ่มผู้ถูกสำรวจทั้งหมดเลยทีเดียว รองลงมาเป็นเด็ก 7-8 ขวบ, วัยรุ่นอายุ 15-16 ปี และเด็ก ๆ ตั้งแต่ 0-6 ขวบ

สำรวจสถิติการใช้งานมือถือในกลุ่มเด็ก ๆ
ภาพจาก : https://www.makeuseof.com/what-age-should-you-buy-your-child-a-smartphone/

ส่วนสถิติการใช้งานมือถือของเด็กไทย กองสถิติเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ได้ความว่า สถิติการใช้งานโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และคอมพิวเตอร์ (รวมทั้งคอมพิวเตอร์ PC ตั้งโต๊ะ แล็ปท็อป และแท็บเล็ต) ของกลุ่มอายุ 6-14 ขวบ เปอร์เซ็นต์การใช้งานอินเทอร์เน็ต ต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์การใช้งานโทรศัพท์มือถือเล็กน้อย และอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่าการใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างเห็นได้ชัด

สำรวจสถิติการใช้งานมือถือในกลุ่มเด็ก ๆ

สำรวจสถิติการใช้งานมือถือในกลุ่มเด็ก ๆ
ภาพจาก : https://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านICT/เทคโนโลยีในครัวเรือน/2563/Pocketbook63.pdf

และเมื่อแยกข้อมูลการใช้งานมือถือที่แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  1. ผู้ใช้งานมือถือแบบสมาร์ทโฟน
  2. ผู้ใช้งานมือถือแบบฟีเจอร์โฟน
  3. ผู้ใช้งานมือถือแบบสมาร์ทโฟนและฟีเจอร์โฟนควบคู่กัน

จะเห็นว่า อัตราการใช้งานสมาร์ทโฟนสูงกว่าการใช้งานแบบอื่น ๆ ในทุกช่วงอายุ ยิ่งในกลุ่มอายุ 6-14 ขวบ มีผู้ใช้สมาร์ทโฟนมากถึง 96.8% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าเด็กและเยาวชนไทยเข้าถึงมือถือและอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ถูกสำรวจในกลุ่มอายุ 6-14 ขวบ

นอกจากนี้ ทางกองสถิติเศรษฐกิจได้ให้รายละเอียดเพิ่มว่า สำหรับสถานที่ใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า ส่วนใหญ่ใช้ที่บ้าน/ที่พักอาศัย 95.6% รองลงมาคือ ใช้ตามสถานที่ต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ 89.6% และใช้ที่ทำงาน 33.1%

ส่วนกิจกรรมที่ใช้ส่วนใหญ่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น Facebook, Twitter, LINE, WhatsApp เป็นต้น 92.0%

รองลงมาคือ ใช้โทรศัพท์ผ่าน Internet (VoIP) เช่น โทรผ่าน LINE, Facebook, Facetime, WhatsApp เป็นต้น 90.9% และใช้ในการดาวน์โหลดหรือสตรีมมิงรูปภาพ/หนัง/วิดีโอ/เพลง/เกม เล่นเกม ดูหนัง 74.3%

ในขณะที่ความถี่ในการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่า มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้ทุกวัน 89.3% รองลงมาใช้อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง 10.1%

ส่วนอุปกรณ์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใช้โทรศัพท์มือถือแบบอัจฉริยะ หรือที่เราเรียกกันว่า "สมาร์ทโฟน (Smartphone)" ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตค่อนข้างสูงคือ 99.2% รองลงมาใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 27.2% และใช้คอมพิวเตอร์พกพา 12.5%

ทำไมเด็ก ๆ ถึงต้องการมือถือ ?

นอกจากความจำเป็นในการเรียนออนไลน์แล้ว ยังมีอีกหลายเหตุผลที่เด็ก ๆ ทั้งหลายต้องการมือถือ แม้ผู้ปกครองบางคนจะไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ลองชั่งน้ำหนักเหตุผลเหล่านี้ดูก่อนว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะซื้อมือถือให้ลูกหลาน

  • ใช้ในการส่งการบ้าน ติดต่อสื่อสารกับคุณครู
  • ใช้ในการค้นหาข้อมูลนอกตำรา เพื่อประกอบการเรียน
  • ใช้ติดต่อกับผู้ปกครองและเพื่อน ๆ
  • ใช้เป็นสื่อการสอนหรือของเล่น
  • ใช้ในด้านความบันเทิง เช่น ดูยูทูป เล่นเกม

แม้ผู้ปกครองบางคนจะซื้อมือถือให้ลูกใช้แล้ว แต่ก็ยังมีความกังวลบางอย่าง เช่น เด็ก ๆ จะไม่ระมัดระวังจนทำมือถือหาย หรือจะถูกรังแก ลักขโมยหรือไม่ ทางที่ดี หากลูกหลานต้องพกมือถือไปโรงเรียนด้วย ผู้ปกครองควรกำชับให้ดีว่าเก็บมือถืออย่างไร อาจกำหนดจุดปลอดภัยในกระเป๋านักเรียน และกำชับว่าอย่าบอกใครเด็ดขาด

ผลดี ผลเสียของการใช้มือถือในเด็ก

แน่นอนว่าการให้เด็ก ๆ ใช้งานมือถือและอุปกรณ์ไอที ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่จะใช้งานแล้วเกิดข้อดีหรือข้อเสีย นั่นขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ การวางกฎเกณฑ์ของผู้ปกครองร่วมด้วย ฉะนั้น การใช้งานมือถือในกลุ่มเด็กเล็ก จึงต้องพึ่งพาการดูแลของผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญ

ข้อดี

  •  ได้รู้จักสิ่งต่าง ๆ ผ่านสื่อ เช่น ความรู้ใหม่ ๆ เทรนด์ใหม่ในหมู่เด็ก ๆ
  • ได้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่ควรกักตัวอยู่บ้าน
  • เป็นอุปกรณ์สำคัญในการเรียนออนไลน์ สืบค้นข้อมูล ทำการบ้าน
  • ช่วยผ่อนคลายความเครียดผ่านสื่อบันเทิงต่าง ๆ

ข้อสังเกต

  • หากใช้งานนานเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสายตาและ/หรือพัฒนาการของเด็ก เช่น สมาธิสั้นเทียม พูดช้า พัฒนาการช้าลง
  • เด็กอาจมีความอดทน หรือรออะไรได้น้อยลง เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนใหญ่และอินเทอร์เน็ตทำงานรวดเร็ว เด็ก ๆ อาจเคยชินกับสภาวะที่ไม่ต้องรอนาน ๆ
  • อาจจดจำ เลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หากไม่มีวิจารณญาณในการเลือกเชื่อ วิเคราะห์ข้อมูลที่มากพอ หรือไม่มีผู้ปกครองคอยแนะนำ

 

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูกหลาน

เมื่อผู้ปกครองตัดสินใจว่าจะซื้อมือถือให้ลูกหลานใช้งาน แต่เลือกไม่ถูกว่าจะเลือกมือถือรุ่นไหน แล้วต้องทำอะไรต่อหลังจากซื้อมือถืออีกไหม มาดูขั้นตอน สิ่งที่ควรทำเมื่อซื้อมือถือให้ลูกหลานวัยเด็กกัน

1. กำหนดงบประมาณในการซื้อมือถือและอินเทอร์เน็ต

เพราะลูกหลานยังหาเงินซื้อมือถือเองไม่ได้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองไปโดยปริยาย ซึ่งการใช้งานหลัก ๆ ก็หนีไม่พ้นการเรียนออนไลน์ผ่านระบบวิดีโอ (Video Conference) หรือไม่ก็ ดูยูทูป เล่นเกม แชทกับเพื่อนและคุณครู ฉะนั้น มือถือที่ควรซื้อ ควรจะมีราคาที่ไม่แพงมาก เช่น มือถือราคาไม่เกิน 5,000-8,000 บาท

หรือถ้าจะเล็งเป็นมือถือมือสองสภาพดีก็ได้ มือถือควรมีหน่วยความจำเพียงพอกับการใช้งานทั่วไป หากบ้านไหนที่ลูกหลานไม่ค่อยออกจากบ้าน อาจซื้อมือถือเพื่อมาเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่บ้านก่อนก็ได้ จะได้ประหยัดค่าแพ็กเกจมือถืออีกทางหนึ่ง

กำหนดงบประมาณในการซื้อมือถือและอินเทอร์เน็ต

แต่ถ้าลูกหลานไม่ได้เรียนออนไลน์ที่บ้าน หรือติดสอยห้อยตามผู้ปกครองมาที่ทำงานด้วย ก็ควรที่จะซื้อซิมการ์ดใส่มือถือไว้ และอย่าลืมเลือกแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตให้พอเหมาะพอดี จะเลือกเป็นแพ็กเกจรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็ได้ ซึ่งเครือข่ายมือถือทุกค่ายมีโปรโมชันราคาประหยัดให้เลือกอยู่แล้ว

2. เช็คสื่อโซเชียลที่ลูกหลานของคุณเข้าถึง

เพราะเด็ก ๆ บางคนอาจไม่ได้แค่ดูยูทูปเพียงอย่างเดียว แต่ยังเล่น LINE หรือ เล่น Facebook ไปจนถึงการพูดคุยกับเพื่อน ๆ ในเกมออนไลน์ ข้อนี้ไม่ได้แปลว่าให้ผู้ปกครองไปแอบเช็คมือถือลูกหลาน เพราะถ้าลูกหลานจับได้ อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ ทางที่ดีควรเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามลูกหลานว่ากำลังทำอะไร คุยกับใคร เป็นครั้งคราว หรือผู้ปกครองบางคนอาจสมัครบัญชี YouTube หรือ Facebook ให้น้อง ๆ ไปเลย ดูคลิปหรือตั้งสเตตัสอะไร สามารถเช็คได้จากประวัติการใช้งาน แต่ถ้าเจออะไรผิดสังเกตก็อย่าเพิ่งดุด่าว่ากล่าว พยายามซักถามด้วยความสุภาพและความเข้าใจ

3. ตั้งค่าใช้งาน Kids Mode

ในมือถือส่วนใหญ่ มักจะมี โหมดสำหรับเด็กใช้งาน (Kids Mode) ที่จะสามารถเปลี่ยนได้ทั้งธีมสี หน้าจอผู้ใช้งาน (User Interface) ให้น่ารัก ใช้งานง่าย และ Kids Mode เหล่านี้มักจะมีเกม แอปพลิเคชันสำหรับเด็กมาให้โดยเฉพาะ หรือแม้แต่บางแพลตฟอร์ม เช่น YouTube หรือแม้แต่ Netflix ก็มีหมวดเนื้อหา Kids แยกโดยเฉพาะ หากลูกหลานของคุณยังอยู่ในวัยอนุบาลถึงประถมศึกษาตอนต้น (4-10 ขวบ) หมั่นใช้งาน Kids Mode ให้บ่อยจนน้อง ๆ เคยชินก็ได้

ตั้งค่าใช้งาน Kids Mode
ภาพจาก : https://www.samsung.com/global/galaxy/apps/kids-mode/

4. ตั้งค่าระบบรักษาความปลอดภัยให้ดี

เชื่อว่าบางครอบครัวน่าจะเคยเจอเหตุการณ์ลูกหลานเล่นเกม ซื้อไอเท็ม หรือกดมั่ว ๆ จนกลายเป็นการจ่ายเงินออนไลน์ให้เกมนั้น ๆ เป็นจำนวนมาก ถ้าไม่อยากพลาดหรือตกเป็นข่าว ขอแนะนำว่า ให้ตั้งรหัสผ่านก่อนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะแอปฟรีหรือเสียเงินก็ตาม และอย่าให้เด็ก ๆ รู้เด็ดขาด ถ้าเด็ก ๆ ต้องการซื้อเกมหรือไอเท็มในแอป ต้องผ่านการอนุญาตจากผู้ปกครองก่อนเท่านั้น

ซึ่งอุปกรณ์ iOS ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad และ iPod Touch แอปเปิลมีวิธีสร้างความปลอดภัยมากมาย ทั้งวิธีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว, การตั้งค่ารหัสผ่านก่อนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน, การป้องกันเนื้อหาจากเว็บไซต์บางเว็บ ฯลฯ เรียกได้ว่าป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ เข้าถึงเนื้อหาหรือการกระทำที่อันตรายได้เยอะจริง ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีใช้งาน Parental Control (การควบคุมโดยผู้ปกครอง) บน iPad และควบคุมด้วย iPhone

ทางฝั่ง Android ก็มีวิธีสร้างความปลอดภัยเยอะไม่แพ้กัน จะตั้งค่าบัญชีครอบครัวสำหรับควบคุมบัญชีของเด็ก ๆ ก็ได้ ตั้งรหัสผ่านก่อนซื้อแอปพลิเคชันก็มี หรือหมวดหมู่แอปพลิเคชัน เกมสำหรับเด็กก็มีให้เลือกสรร เรียกได้ว่าเล่นแล้วได้ทั้งทักษะใหม่ ๆ และความเพลิดเพลินไปพร้อมกัน

ตั้งค่าระบบรักษาความปลอดภัยให้ดี
ภาพจาก : https://play.google.com/store/apps/category/FAMILY?hl=en_US&gl=US

5. สอนให้เด็ก ๆ ขอความช่วยเหลือจากมือถือเป็น

แม้ว่าทักษะการดำรงชีวิตของเด็ก ๆ อาจยังไม่มากพอ แต่เมื่อเด็ก ๆ เจอเหตุการณ์อันตรายใด ๆ จะต้องสามารถติดต่อผู้ปกครองได้รวดเร็วที่สุด เช่น ตั้งค่าเบอร์โทรด่วน, สร้างไอคอน LINE เข้าสู่หน้าต่างแชทของผู้ปกครองทันที หรือจะเปิดฟีเจอร์ SOS ของมือถือก็ได้เช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีเปิดใช้งาน Emergency SOS โทรออกฉุกเฉิน บนมือถือ iPhone และมือถือ Android

6. สอนให้เด็ก ๆ รู้จักมารยาทบนโลกออนไลน์

การดำเนินชีวิตในสังคมต้องมีมารยาทฉันใด การให้เด็ก ๆ สื่อสารบนโลกออนไลน์ก็ต้องมีมารยาทฉันนั้น บางครั้งเด็ก ๆ อาจซึมซับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากสื่อต่าง ๆ กลุ่มเพื่อน หรือแม้แต่รายการออนไลน์บางรายการ ผู้ปกครองก็ต้องคอยอบรมว่าพฤติกรรมแบบนี้ควรทำ ไม่ควรทำ หรือเลือกทำเฉพาะกับใครบ้าง แต่ผู้ปกครองไม่ต้องเครียด เพราะการขัดเกลามารยาทจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจ ก็จะมีมารยาท ประพฤติงามโดยอัตโนมัติ

จริง ๆ แล้ว ควรซื้อมือถือให้ลูกตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?

จะเห็นได้ว่า การให้เด็ก ๆ ใช้มือถือ แม้จะมีประโยชน์ในหลายด้าน แต่ก็มีเรื่องที่ต้องกังวลไม่น้อยเลย ในความเป็นจริง เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ได้ใช้งานมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบหรือน้อยกว่านั้น หากน้อง ๆ ยังต้องเรียนออนไลน์ในขณะนี้ ผู้ปกครองก็สามารถซื้อมือถือหรือคอมพิวเตอร์ประจำตัวน้อง ๆ ได้เลย พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้งานให้เหมาะสม

เพราะช่วงอายุ 9-14 ขวบ ยังอยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง จึงควรมีกฎในการใช้งานมือถืออย่างเคร่งครัด เช่น เล่นมือถือได้จนกว่าเข็มยาวนาฬิกาจะถึงเลขอะไร, จำกัดเวลาให้ดูยูทูป เล่นเกม ภายในเวลากี่นาที (ไม่ควรเกิน 1-2 ชั่วโมง) หากไม่หยุดเล่นตามเวลาที่กำหนด จะโดนลงโทษอะไรบ้าง เช่น หักเวลาในการเล่นรอบต่อไป เป็นต้น หรือเวลาที่ลูก ๆ กำลังผ่อนคลาย ผู้ปกครองอาจเข้าไปชวนคุย ชวนเล่นแบบไม่จับผิด เพื่อดึงความสนใจจากหน้าจอมายังผู้คน

จริง ๆ แล้ว ควรซื้อมือถือให้ลูกตั้งแต่อายุเท่าไหร่ ?
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Pexels-photo-2181423.jpg

ส่วนการเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองควรให้น้อง ๆ ได้อยู่กับหน้าจอแบบเต็มที่ แต่ถ้าน้อง ๆ เกิดเบื่อการเรียนขึ้นมา ก็ควรมีแผนสำรองไว้ เช่น ปรึกษาผู้ปกครองท่านอื่น ตามงานกับคุณครู ช่วยกันทำการบ้านเพื่อส่งงานให้ทันเวลา หรือบางโรงเรียนที่ไม่อยากให้นักเรียนติดจอ ก็ใช้วิธีจัดการเรียนการสอนผ่านผู้ปกครองแทน ให้ใบงานเป็นการบ้าน และแนะนำผู้ปกครองว่าควรแนะนำลูกหลานอย่างไร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครองควรตัดสินว่าเมื่อใดที่ลูกหลานต้องการมือถือ เพราะบางคนก็มีมือถือของตัวเองเพราะเหตุจำเป็นด้านการเรียน แต่นั่นก็ต้องดูปฏิกิริยาตอบสนองของเด็ก ๆ ด้วยว่า อยากได้มือถือมากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าผู้ปกครองจำกัดเวลาการใช้งาน เด็ก ๆ จะยอมรับได้หรือต่อต้าน ? เชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนล้วนมีคำตอบและกฎเกณฑ์ที่มีต่อลูกหลานในใจอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่


ที่มา : www.makeuseof.com , th.theasianparent.com , therealschool.in , www.statista.com , www.nso.go.th

0 %E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B5+%3F+%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%B5-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2+%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B7%E0%B8%AD+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น