เมื่อคนเราใช้งานข้อมูลดิจิทัลกันมากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือระบบออนไลน์ใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่ตามมาก็คือ การสำรองข้อมูล เพราะข้อมูลที่ต้องใช้งานใน 1 วันนั้นมีเยอะมาก ๆ และถ้าวันไหนอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เกิดพังจนข้อมูลหาย หรือนึกอยากเปลี่ยนเครื่องใหม่ขึ้นมา แล้วจะใช้งานข้อมูลเก่า ๆ ต่อไปยังไง จึงทำให้การสำรองข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ นั่นเอง
ฉะนั้น เนื้อหาทั้งหมดในบทความนี้ จึงเป็นวิธีการสำรองข้อมูลที่ควรรู้ และหมั่นสำรองข้อมูลอยู่สม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ข้อมูลหายหรือพังที่สายเกินแก้ และนี่เป็นวิธีการที่ง่ายกว่า การกู้ข้อมูล (Data Recovery) กลับคืนมามาก ๆ
สำหรับ วิธีการสำรองข้อมูล หากจำแนกง่าย ๆ ให้จำแนกตามช่องทางที่ใช้สำรองข้อมูล จะแบ่งได้ดังนี้
แต่ถ้าแบ่งตามรูปแบบการสำรองข้อมูลพื้นฐาน จะแบ่งได้ดังนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม : การสำรองข้อมูลแบบ Full Backup / Incremental Backup / Differential Backup คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?
วิธีการสำรองข้อมูลแบบ Offline ก็คือวิธีที่เราคุ้นเคยกันมานาน อย่างการใช้อุปกรณ์บันทึกข้อมูลอื่น ๆ เช่น ฮาร์ดดิสก์ (Harddisk), ฮาร์ดดิสก์แบบพกพา (External Harddisk), แฟลชไดรฟ์ (Flash Drive), การ์ดหน่วยความจำ (Memory Card) ฯลฯ เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ มือถือ เพื่อโอนถ่ายข้อมูลมาไว้ในอุปกรณ์เหล่านี้
นี่เป็นวิธีสำรองข้อมูลที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคย เพราะทุกคนน่าจะรู้จักแฟลชไดรฟ์หรือฮาร์ดดิสก์กันอยู่แล้ว เสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์ปุ๊บ ย้ายได้ปั๊บ เพียงแค่คัดลอก (Copy) และวาง (Paste) ไฟล์ แต่อุปกรณ์บางชนิด เช่น เมโมรี่การ์ด ฮาร์ดดิสก์ ต้องดูข้อมูลการอ่านเขียนข้อมูลร่วมด้วย ยิ่งอ่านเขียนได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะใช้เวลาโอนถ่ายน้อยยิ่งขึ้น
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Kingston_USB_flash_drive.jpg
ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/30478819@N08/27977626628
ส่วน วิธีการสำรองข้อมูลแบบ Online แน่นอนว่าต้องมีเรื่องอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการสำรองข้อมูลออนไลน์ มีทั้งการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ เช่น เซิร์ฟเวอร์สำรองข้อมูลเครือข่าย (Network Attached Server)
ข้อมูลเพิ่มเติม : Cloud Computing คืออะไร ? มีกี่ประเภท อะไรบ้าง ? และ มีข้อดีข้อเสีย อย่างไร ?
นอกจากนี้แล้ว ก็ยังรวมไปถึง ระบบออนไลน์อื่น ๆ เช่น System Backup ของคอมพิวเตอร์, พื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage) อย่างที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยก็เช่น บริการ Google Drive, บริการ OneDrive จาก Microsoft, บริการ Dropbox ฯลฯ แต่การสำรองข้อมูลออนไลน์ไม่ได้จำกัดเพียงเท่านั้น เพราะยังมีวิธีอื่น ๆ ที่เข้าข่ายเช่นกัน
นอกจากนี้ การสำรองข้อมูลออนไลน์ ยังเป็นวิธีที่นิยมใช้กับองค์กรที่มีคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไอทีหลายสิบ หลายร้อยเครื่อง ไปจนถึงข้อมูลสำคัญจำนวนมาก ซึ่งการสำรองข้อมูลระดับองค์กร ใช้ทั้งเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลเครือข่าย ไปจนถึงการสร้างระบบคลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) เพื่อเก็บข้อมูลภายในองค์กรนั้น ๆ โดยเฉพาะ ก็จะได้ในเรื่องของความปลอดภัยเข้ามาด้วย
และถ้าหากใครที่เคยย้ายข้อมูลจากมือถือเครื่องเก่าไปยังมือถือเครื่องใหม่ ถ้ามือถือทั้งสองเครื่องใช้ระบบปฏิบัติการเดียวกัน สามารถย้ายข้อมูลบทสนทนาใน แอปพลิเคชัน LINE ไปยังเครื่องใหม่ได้ ไม่มีปัญหาแชทหาย เพียงแต่ว่า ผู้ใช้จะต้องเชื่อมบัญชี LINE เข้ากับอีเมล เมื่อเปิดใช้งานมือถือเครื่องใหม่ปุ๊บ ให้ลงทะเบียนด้วยอีเมลเดิม ระบบ LINE ก็จะทำการกู้คืนบทสนทนา (Restore Conversation) ที่สำรองไว้มายังมือถือใหม่ได้โดยทันที
ขึ้นชื่อว่าการสำรองข้อมูล ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะทำ หากจะถามว่าวิธีการแบบไหนดีกว่ากัน นั่นก็ขึ้นอยู่กับจำนวนอุปกรณ์ ปริมาณ ความสำคัญของข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งทางที่ดีที่สุดก็คือ การสำรองข้อมูลทั้งแบบ Offline และ Online ควบคู่กันไป อย่างผู้ใช้ทั่วไป ส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊คสำหรับทำงาน มือถือ 1 เครื่องเป็นหลัก วิธีการสำรองข้อมูลที่เหมาะสมมีดังนี้
จะเห็นว่า ใช้ทั้งวิธี Offline และ Online ควบคู่กันไป เนื่องจากวิธีสำรองข้อมูลทั้งสองแบบมีข้อจำกัดที่ต่างกัน เมื่อสำรองข้อมูลไว้บนคลาวด์ ก็จะนำมาใช้งานหรือแชร์ต่อให้ผู้อื่นได้ง่าย แต่ถ้าสำรองข้อมูลแบบออฟไลน์ ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
ส่วนระบบสำรองข้อมูลในองค์กรนั้น ใช้ทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ พื้นที่คลาวด์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างระบบภายในองค์กรร่วมกัน เพื่อทำการย้ายข้อมูลจากอุปกรณ์ทั้งหมดไปยังอุปกรณ์บันทึกข้อมูล ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันอันตรายจากข้อมูลเสียหายได้เป็นอย่างดี
แม้ การสำรองข้อมูล จะเป็นสิ่งจำเป็นแค่ไหน แต่หลายคนก็ละเลยในการอัปเดตข้อมูลที่มีอยู่ หากวันไหนที่เจอเหตุการณ์ข้อมูลเสียหายแล้วไม่มีไฟล์สำรอง วันนั้นจะทราบเลยว่าข้อมูลที่เคยมีนั้น มีค่ามากแค่ไหน การสำรองข้อมูลจึงเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันปัญหาได้เป็นอย่างดี
นอกจากปัญหาภายในอุปกรณ์ ไวรัส มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) แล้ว เหตุการณ์อันตรายที่อาจเกิดกับข้อมูลสำคัญของคุณยังมีอีกมากมาย เช่น อุปกรณ์ทำงานสูญหาย ถูกไฟไหม้ น้ำท่วม ไม่สามารถซ่อมหรือกู้ข้อมูลได้, หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่แล้วข้อมูลเก่า ๆ ไม่ตามมาด้วย หากสำรองข้อมูลไว้ในอุปกรณ์บันทึก หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ร่วมด้วย ปัญหาเหล่านี้ก็จะทุเลาลงหรือหมดไป
อ่านเพิ่มเติม : วิธีการกู้ข้อมูลมีกี่วิธี ? อาการแบบไหนควรส่ง ศูนย์กู้ข้อมูล ? (What are the Data Recovery Techniques ?)
แล้วควรสำรองข้อมูลบ่อยแค่ไหน ? เอาเป็นว่า ถ้านึกขึ้นได้เมื่อไหร่ ก็ควรจะสำรองข้อมูลเมื่อนั้น หรืออย่างน้อย ๆ เดือนละ 1 ครั้งก็ยังดี อย่างน้อยก็อุ่นใจว่าข้อมูลจะไม่สูญหาย ยิ่งสำรองไว้หลาย ๆ ทาง ก็ยิ่งได้ความอุ่นใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด ยังไงการสำรองข้อมูลก็เป็นเรื่องสำคัญและควรหมั่นทำให้เคยชิน
|
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ |