คนที่เคยรับมือกับการจากไปของคนที่รัก และต้องเป็นธุระจัดการทรัพย์สินมรดกของผู้ล่วงลับย่อมรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่หนักหน่วงแล้ว ยังต้องดำเนินการด้านเอกสาร จัดการเรื่องธุรกรรมต่าง ๆ ไปด้วยพร้อม ๆ กัน
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนมากมาย เราต่างมีตัวตนบนโลกออนไลน์ทั้งในมิติการงานและชีวิตส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้การจัดการธุรกรรมของผู้ล่วงลับยิ่งซับซ้อนมากกว่าในอดีต
โดยทาง Facebook ได้มีการประมาณการว่ามีบัญชีผู้ใช้มากถึง 30 ล้านบัญชีที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งตัวเลขมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน โซเชียลมีเดียและผู้ให้บริการต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ก็ตระหนักถึงประเด็นการจัดการบัญชีที่เจ้าของล่วงลับไปแล้วและไม่อยากให้แพลตฟอร์มของตัวเองมีบัญชีผู้เสียชีวิตตกค้างอยู่ หลายแห่งมีนโยบายจัดการบัญชีที่เลิกใช้งานให้ชัดเจน แต่บางแห่งก็ลึกลับซับซ้อนเพราะข้อมูลเหล่านี้มักจะอยู่ในข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งาน (Terms of Use Agreement)
เราจะเตรียมตัวจัดการทรัพย์สินและข้อมูลอย่างไร บทความนี้จะพาเราไปสำรวจสิ่งที่เราควรทำในฐานะเจ้าของตัวตนออนไลน์และสิ่งที่เราทำได้ในฐานะ ผู้รับมรดกโปรไฟล์ดิจิทัลจากผู้ล่วงลับ นะครับ
การล่วงลับหายไปจากโลกนี้ไม่ได้แปลว่าเราหายไปจากโลกออนไลน์ ตัวตนบนนั้นยังทำตัวเหมือนยังมีชีวิตอยู่และมันก็จะอยู่แบบนั้นไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีใครทำอะไร
แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียบางแห่งมีทางเลือกให้เจ้าของบัญชีเตรียมตัวจัดการโปรไฟล์ตัวเองได้ เช่น Facebook เราสามารถเลือก "ผู้จัดการโปรไฟล์" ซึ่งบุคคลนั้นจะสามารถเลือกเปลี่ยนสถานะโปรไฟล์ของเราเป็น "โปรไฟล์แบบเป็นอนุสรณ์" หรือ Memorialization ได้ หรือถ้าอยากให้ผู้จัดการมีสิทธิเพียง "ลบโปรไฟล์" ของเราก็สามารถทำได้เช่นกัน ดูขั้นตอนได้จากบทความด้านล่างนี้เลย
อ่านเพิ่มเติม : วิธีตั้งค่า Facebook ของผู้ล่วงลับ หรือ ผู้เสียชีวิต ที่ไม่มีวันกลับมาได้อีกแล้ว
ในขณะที่ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ก็อนุญาติให้ลบโปรไฟล์ได้ เช่น Twitter, Instagram, LinkedIn, Snapchat โดยส่งหลักฐานการเสียชีวิตไปตามช่องทางที่จัดไว้
และ Apple เองก็เพิ่มตัวเลือก Legacy Contact ให้กับ iOS 15.2, iPadOS 15.2 และ macOS 12.1 โดยเจ้าของสามารถเพิ่มชื่อคนที่จะรับมรดกบัญชี Apple ID ไว้และแชร์ Access key ให้กับผู้รับ เมื่อเจ้าของบัญชีเสียชีวิตผู้รับมรดกสามารถส่งเรื่องทาง digital-legacy.apple.com พร้อมแนบหลักฐาน หลังได้รับอนุมัติก็จะเข้าถึงรูปภาพ ข้อความ ไฟล์และแอปฯ ต่าง ๆ ของผู้เสียชีวิตได้โดยข้อมูลจะมีอายุเพียง 3 ปี หรือถ้าผู้รับมรดกต้องการลบข้อมูลทันทีก็ทำได้เช่นกัน
แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่รวมถึงบริการแบบสมัครสมาชิกต่าง ๆ ของ iTunes หรือสินค้าดิจิทัล เพราะสินค้าเหล่านี้ใน Terms of Use Agreement ของแพลตฟอร์มจะมีข้อกำหนดว่าผู้ซื้อไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือภาพยนตร์ ต่างกับทรัพย์สินทั่วไปที่ส่งต่อเป็นมรดกได้นั่นเอง กรณีนี้คล้ายกับ Netflix ที่อนุญาตให้เข้าถึงและระงับการเป็นสมาชิกเท่านั้น
ภาพจาก digital-legacy.apple.com
แน่นอนว่าชีวิตการงานเราผูกพันกับแพลตฟอร์มให้บริการทางธุรกิจและอีเมลมากมายหลายแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็มีนโยบายเกี่ยวกับการรับมือกรณีผู้ใช้เสียชีวิตต่างกันไป
ตัวอย่างเช่น Google ใช้นโยบายเชิงรุก อนุญาตให้เจ้าของโปรไฟล์ตั้งผู้รับมรดกข้อมูลได้ด้วย Inactive Account Manager ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่า
นอกจากนี้ Google จะอีเมลมาหาเราเป็นระยะว่าจะอัพเดทรายละเอียดการตั้งค่า Inactive Account Manager หรือไม่ สำหรับขั้นตอนการจัดการสามารถดูได้จากบทความด้วยล่างนี้
อ่านเพิ่มเติม : เขียนพินัยกรรมแอคเคาท์ Google ด้วย Inactive Account Manager
ส่วนบริการต่าง ๆ เช่น Outlook.com หรือ OneDrive ของ Microsoft นั้น หากผู้ใช้เสียชีวิต ทางบริษัทอธิบายว่ากรณีที่ญาติมีบัญชีและพาสเวิร์ดก็เข้าระบบมาปิดบัญชีได้เลย และถ้าไม่มีใครมีข้อมูลบัญชีและพาสเวิร์ดของผู้เสียชีวิตเลยก็ให้ยกเลิกบริการต่าง ๆ ของ Microsoft ผ่านช่องทางธุรกรรมปกติ เช่น ยกเลิกบัตรเครดิต แจ้งธนาคาร ในส่วนการเข้าถึงบัญชีนั้นจะถูกล็อกภายใน 1 ปีหลังจากไม่มีการใช้งาน ข้อมูลต่าง ๆ ในระบบก็จะถูกลบไปโดยอัตโนมัติ ถ้าญาติผู้เสียชีวิตต้องการเข้าถึงบัญชีจริง ๆ ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ต้องมีหมายศาล และหลักฐานใบมรณะบัตร รวมถึงเอกสารอื่นที่อาจแตกต่างตามกฎหมายแต่ละประเทศ
ตลอดช่วงชีวิตเราทุกคนต่างทิ้งร่องรอยตัวตนและข้อมูลไว้ตามแพลตฟอร์มและอุปกรณ์ดิจิทัลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage) แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ บัญชีธนาคารแบบไม่มีสมุดฝาก บริการแบบ Subscription ที่ผูกกับบัตรเครดิต และบัญชีของแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน หลายคนตั้ง การยืนยันตัวตน 2 ขั้นตอน (Two-factor Authentication หรือ 2FA) ไว้ ก็เพิ่มความลำบากในการเข้าถึงบัญชี (แต่ควรตั้งไว้นะครับ) นอกจากตัวตนออนไลน์แล้ว เรายังมีรหัสผ่านคอมพิวเตอร์ PIN สำหรับแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หรือข้อความเสียง (Voicemail), รหัส ATM และบัตรเครดิต, เลขบัญชีประกันชีวิต หรือแม้แต่ รหัส Wi-Fi เป็นต้น
ข้อมูลมากมายขนาดนี้แค่คิดจะจัดรายการหลายคนก็คงอยากยอมแพ้แล้ว แต่อย่าลืมว่ามีแค่เราเท่านั้นที่เป็นเจ้าของและเป็นคนเดียวที่รู้ข้อมูลทั้งหมดและสามารถเตรียมรายละเอียดเพื่อช่วยให้ผู้อยู่ข้างหลังจัดการได้ง่าย
หน้าที่ของเจ้าของบัญชีคือทำรายการทรัพย์สินเหล่านี้ให้เรียบร้อย เลือกทายาทผู้รับมรดกดิจิทัลของเราและแจ้งให้พวกเขารับรู้ รวมถึงบอกรายละเอียดวิธีการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น โดยขั้นตอนนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเปิดเผยชื่อบัญชีและรหัสผ่านมากมายให้กับผู้รับมรดก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความไม่เชื่อใจหรอกครับ แต่มันอยู่ที่ “วิธีการ” ส่งต่อข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเหล่านี้ต่างหาก จะเลือกส่งให้ทางอีเมลหรือทางแชตก็อันตรายเกินไป จะจดเอาไว้แล้วซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่งก็อาจจะมีคนลืมที่ซ่อน จะเช่าเซฟธนาคารก็ดูจะยุ่งยากถ้าหากเราเปลี่ยนรหัสผ่านก็ต้องคอยไปแก้ข้อมูล
ในปัจจุบัน โปรแกรมเปิดเว็บ หรือเว็บเบราว์เซอร์ ส่วนใหญ่มีตัวบริหารจัดการรหัสผ่าน (Password Manager) อยู่แล้ว ช่วยจำอีเมลและรหัสผ่านเข้าบริการเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น Google Password Manager ช่วยจัดการข้อมูลเหล่านี้ทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และ เว็บเบราว์เซอร์ Chrome ก็ช่วยตั้งรหัสผ่านให้ที่ปลอดภัย โดยเจ้าของบัญชีจำรหัสผ่านหลักที่เดียวคือบัญชีของ Google ที่สามารถตั้ง Inactive Account Manager ได้ ผู้จัดการบัญชีของเราก็สามารถเข้าถึงรหัสทุกแพลตฟอร์มได้ทันทีหลังจากเขาได้รับอีเมลจาก Google นั่นเอง
ถ้าเรามี PIN รหัสอื่น ๆ รวมถึงขั้นตอนการจัดการข้อมูลเหล่านี้ก็สามารถเตรียมไว้ใน Drafts ของ Gmail หรือเก็บไว้บน Google Docs ได้ หากอยากฝากรูปภาพไว้เป็นที่ระลึกให้ทายาทก็ใส่ใน Drive ไว้ได้เช่นกัน ผู้รับมรดกดิจิทัลจะเข้าอีเมลรวมถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อเราไม่อยู่แล้ว
โดยข้อจำกัดของ Inactive Account Manager ก็คือเราต้องรอให้ถึงช่วงเวลาที่เจ้าของบัญชีกำหนดไว้ถึงจะเข้า ต่างกับบริการ Password Manager โดยเฉพาะ เช่น LastPass.com เพราะนอกจากความสามารถในการบริหารจัดการรหัสผ่านบัญชีต่าง ๆ ของเราแล้วยังมีตัวเลือก Emergency Access ที่เจ้าของบัญชีสามารถระบุผู้มีสิทธิเข้าถึงบัญชีเราได้ ความสามารถนี้ต่างกับ Inactive Account Manager ของ Google ตรงที่ฝ่ายผู้รับมรดกบัญชีของผู้เสียชีวิตสามารถขอดำเนินการเข้าถึงบัญชีได้ด้วย หรือจะขอถอนตัวจากการเป็นผู้จัดการมรกดก็ยังได้
นอกจากปัญหาที่รุงรังเราจะทิ้งไว้ให้กับผู้อยู่เบื้องหลัง ยังมีความเสี่ยงมากมายตามมา ถ้าเราไม่ทำอะไรกับโปรไฟล์โซเชียลมีเดียของผู้เสียชีวิตเลย ปล่อยทิ้งเอาไว้อาจถูกผู้ไม่หวังดีแฮกเอาไปใช้เป็นสแกมเมอร์ เช่น เคยมีรายงานว่าโปรไฟล์ของผู้เสียชีวิตอยู่ ๆ ก็กลับมาใช้งาน และแท็กเพื่อน ๆ หลายสิบคนในโพสต์โฆษณาสินค้า หรือคุณแม่ที่เพิ่งเสียลูกชายไปแล้วยังไม่ได้ทำการขอเปลี่ยนสถานะโปรไฟล์แบบเป็นอนุสรณ์ ปรากฏว่าโปรไฟล์ลูกชายโดนแฮกเอาไปเปลี่ยนเป็นชื่อคนอื่น ซึ่งแฮกเกอร์ก็คงอยากเอาโปรไฟล์จริง ๆ แบบนี้ไปใช้งานต่อนั่นละ
ซึ่งความยุ่งยากคือเจ้าของใหม่ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นใครก็ไม่ได้ทำผิดมาตรฐานชุมชนของ Facebook ก็เลยไม่สามารถลบโปรไฟล์ได้ แทนที่คุณแม่จะได้กลับมารำลึกเรื่องราวของลูกชายจากโปรไฟล์ของเขา กลับต้องมาจัดการกับปัญหาโปรไฟล์โดนขโมย กลายเป็นความสูญเสียทั้งตัวตนและเรื่องราวของลูกตนเองไปในเวลาเดียวกัน
ดังนั้นถ้าไม่อยากให้โปรไฟล์และข้อมูลของเราถูกขโมยหรือกลายเป็นภาระให้คนข้างหลัง ลองจัดรายการข้อมูลที่จำเป็นตามที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วเลือกดูบริการ Password Manager ที่เราสะดวกดูนะครับ
|
ผู้เขียน DATA STORYTELLING IN MARKETING ใช้ดาต้าเล่าเรื่องแบบมืออาชีพ | ครูมหาวิทยาลัยใกล้ๆ กรุงเทพที่สนใจเทคโนโลยี การศึกษา และสิ่งที่เป็นไปได้เมื่อเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน |