ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Multipoint Bluetooth คืออะไร ? พร้อมรู้จักประวัติ ? หลักการการทำงาน และข้อจำกัดของมัน

Multipoint Bluetooth คืออะไร ? พร้อมรู้จักประวัติ ? หลักการการทำงาน และข้อจำกัดของมัน

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 5,534
เขียนโดย :
0 Multipoint+Bluetooth+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4+%3F+%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Multipoint Bluetooth คืออะไร ?

เทคโนโลยี บลูทูธ (Bluetooth) เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายรูปแบบหนึ่งที่มีใช้กันมานานแล้ว มันเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ 1998 (พ.ศ. 2541) กล่าวได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันมานานกว่า 20 ปีแล้ว ในปัจจุบันนี้ก็ยังคงนิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลาย มีการปรับปรุงพัฒนา Bluetooth เวอร์ชันใหม่ให้มีความสามารถที่ดียิ่งกว่าเก่า โดยบลูทูธ 5.3 (Bluetooth 5.3) ซึ่งเป็นเวอร์ชันล่าสุดได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคม ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)

บทความเกี่ยวกับ Bluetooth อื่นๆ

แต่หัวข้อที่เราจะมาอธิบายในบทความนี้ จะเป็นคุณสมบัติการทำงานตัวหนึ่งของ Bluetooth ที่มีชื่อว่า "Multipoint Bluetooth" ที่เป็นคุณสมบัติที่มีประโยชน์เป็นอย่างมากต่อหูฟังแบบ Bluetooth

หากคุณเคยอยากให้หูฟัง Bluetooth ที่คุณใช้งานอยู่ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์หลายอย่างได้พร้อมกัน ตัวอย่างเช่น ในตอนที่คุณใช้หูฟังรับชม Netflix บน iPad อยู่ แล้วมีคนโทรเข้ามาใน iPhone คุณก็สามารถสลับไปคุยผ่านหูฟังได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาสลับการเชื่อมต่อ Bluetooth ไปยัง iPhone 

อันที่จริง เทคโนโลยีของตัว Bluetooth สามารถทำได้ แถมยังทำได้มานานแล้วด้วย โดยเรียกว่าคุณสมบัติ "Multipoint Bluetooth" แต่คุณผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่า "มันมีมานานแล้วเหรอ ทำไมถึงหูฟังที่ใช้งานอยู่ถึงไม่เห็นจะมีลูกเล่นนี้เลย ?" เรามาหาคำตอบในบทความนี้กัน

เนื้อหาภายในบทความ

ความเป็นมาของ Multipoint Bluetooth โดยสังเขป
(The origin of Multipoint Bluetooth)

Bluetooth เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนา และควบคุมดูแลโดยกลุ่ม Bluetooth Special Interest Group (SIG) มีบริษัทกว่า 35,000 แห่งเข้าร่วมเป็นสมาชิก

  • Bluetooth เริ่มต้นพัฒนาในปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537)
  • Bluetooth เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ 1998 (พ.ศ. 2541)
  • อุปกรณ์ Bluetooth ตัวแรกของโลกคือ โทรศัพท์มือถือ Ericsson T36 เปิดตัวในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542)

Ericsson T36
Ericsson T36
ภาพจาก https://www.gsmarena.com/ericsson_t36-pictures-190.php

  • IBM เปิดตัว ThinkPad A30 โน้ตบุ๊กรุ่นแรกของโลกที่มี Bluetooth ในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544)
  • ในปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เปิดตัวบลูทูธ 2.0 (Bluetooth 2.0) และ Enhanced Data Rate (EDR) ที่ช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้น
  • ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) เปิดตัวบลูทูธ 3.0 (Bluetooth 2.0) และ High Speed transfer ที่ช่วยให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงขึ้น โดยอนุญาตให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันผ่าน Bluetooth รีบส่งไฟล์ผ่าน Wi-Fi ได้
  • ในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) เปิดตัวบลูทูธ 4.0 (Bluetooth 4.0) และ Bluetooth Low Energy (BLE) คุณสมบัติ Multipoint Bluetooth ได้ถูกเปิดตัวในเวอร์ชันนี้
  • ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) เปิดตัวบลูทูธ 5.0 (Bluetooth 5.0) พัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูง, ระยะสื่อสารไกล และใช้พลังงานต่ำ

เราจะเห็นได้ว่า คุณสมบัติ Multipoint Bluetooth ได้ถูกใส่เข้ามาตั้งแต่ บลูทูธ 4.0 (Bluetooth 4.0) ซึ่งก็เป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่หูฟังที่มีคุณสมบัติ Multipoint Bluetooth มีน้อยมาก หลายคนไม่รู้ว่ามีหูฟัง Bluetooth ที่สามารถเชื่อมต่อหลายอุปกรณ์พร้อมกันได้ด้วยซ้ำไป

เหตุผลก็มาจาก ผู้ผลิตมองว่าคุณสมบัติ Multipoint Bluetooth เหมาะกับการใช้งานระดับคนทำงานที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการติดต่อสื่อสาร อุปกรณ์ที่รองรับคุณสมบัติ Multipoint Bluetooth จึงเป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมาใช้เฉพาะทางในแวดวงธุรกิจเท่านั้น 

ประโยชน์ของ Multipoint Bluetooth
(Multipoint Bluetooth Benefits)

Bluetooth ช่วยให้การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นไปอย่างสะดวกสบาย หูฟังก็ไม่ต้องมีสายให้เกะกะ หรือโดนเกี่ยวขาดจากอุบัติเหตุ แต่มันก็มีความไม่สะดวกอยู่อย่างน้อยก็หนึ่งข้อ นั่นคือการจับคู่ (Paring) ระหว่างอุปกรณ์ครั้งแรก

การเชื่อมต่อ Bluetooth อุปกรณ์ทั้งคู่จะต้องเปิดสัญญาณ Bluetooth เอาไว้ ในโหมดเชื่อมต่อ จากนั้นก็รอมันค้นหาอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อได้ ขั้นที่ว่ามานี้แม้จะไม่ได้ยุ่งยากอะไร แต่ก็อาจต้องใช้เวลาประมาณ 20-30 วินาที บางครั้งก็มีปัญหามองไม่เห็นอุปกรณ์ ต้องเปิดปิดสัญญาณ Bluetooth ใหม่ จนกว่าทั้งคู่จะมองเห็นกัน โชคดีที่หลังจากที่มันทำความรู้จัก เชื่อมต่อหากันได้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นมันจะจำกันได้ เชื่อมต่อหากันให้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาจับคู่ใหม่

ทีนี้ สมมติว่าเรามีคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ถ้าไม่มีเทคโนโลยี Multipoint Bluetooth เวลาที่เราต้องการเปลี่ยนการเชื่อมต่อจากคอมพิวเตอร์ ไปยังสมาร์ทโฟน เราก็ต้องตัดการเชื่อมต่อจากคอมพิวเตอร์ เข้าโหมดจับคู่ (Paring) แล้วกดเชื่อมต่อที่สมาร์ทโฟน มันเป็นอะไรที่เสียเวลา และน่ารำคาญ

เทคโนโลยี Multipoint Bluetooth สามารถจับคู่อุปกรณ์ได้พร้อมกัน ในตอนที่คุณใช้หูฟังกับคอมพิวเตอร์อยู่ ทันทีที่มีคนโทรศัพท์เข้ามา คุณก็สามารถสลับการเชื่อมต่อไปยังสมาร์ทโฟนแล้วสนทนาได้ทันที แล้วเมื่อวางสาย การเชื่อมต่อก็สามารถโอนกลับมายังคอมพิวเตอร์ โดยที่ทั้งหมดนี้ ผู้ใช้ไม่ต้องจับคู่อุปกรณ์ใหม่เลย

แรกเริ่มเดิมที Multipoint Bluetooth พัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนทำงานที่ต้องใช้โทรศัพท์หลายเครื่อง เพราะมันช่วยให้ระหว่างที่คุณกำลังสนทนาอยู่ ไม่พลาดการแจ้งเตือนจากโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่ง

Multipoint Bluetooth ทำงานอย่างไร ?
(How does Multipoint Bluetooth work ?)

อุปกรณ์ที่รองรับ Multipoint Bluetooth จะหมายถึงอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้พร้อมกันอย่างน้อย 2 ตัว (เช่น โน้ตบุ๊ก+สมาร์ทโฟน) ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ ตัวอุปกรณ์จะต้องรองรับบลูทูธโปรไฟล์ (Bluetooth profile) "Advanced Audio Distribution Profile (A2DP)" สำหรับการสตรีมข้อมูลเสียง  และ "Headset (HSP) หรือ Hands-Free (HFP)" สำหรับการสนทนา

หูฟังที่รองรับ Multipoint Bluetooth มีหลายรูปแบบ มันอาจจะรองรับการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟน หรืออาจจะเป็นการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน 2 เครื่องพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับบลูทูธโปรไฟล์ (Bluetooth profile) ที่ทางผู้ผลิตใส่เอาไว้

การเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ตัวอุปกรณ์จะสร้างเครือข่ายเฉพาะกิจ (Ad Hoc Network) ขนาดเล็กขึ้นมา โดยสามารถสร้างได้หลายเครือข่ายพร้อมกัน นั่นทำให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน เช่น เมาส์ไร้สาย, คีย์บอร์ดไร้สาย, เกมคอนโทรลเลอร์ ฯลฯ 

แต่สำหรับอุปกรณ์บลูทูธที่เกี่ยวกับเสียง มันจะแบ่งการเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นในเครือข่ายออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • Audio Device เช่น หูฟัง หรือลำโพง
  • Playback Device เช่น สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์

Bluetooth multipoint ทำงานโดยมันจะปรับเปลี่ยนรูปแบบของการเชื่อมต่อที่เรากล่าวไปข้างต้นเล็กน้อย เพื่ออนุญาตให้ อุปกรณ์บลูทูธที่เป็น Playback Device หลายตัวสามารถ เชื่อมต่อไปยัง Audio Device เดียวกันได้ และสามารถเลือกว่าจะเล่นเสียงจากอุปกรณ์ตัวไหน

ตัวอย่างการทำงานง่าย ๆ เมื่อหูฟังเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เอาไว้แล้ว เมื่อเรากดปุ่มหยุด (Pause)/เล่นต่อ (Resume) วิดีโอบนคอมพิวเตอร์ก็จะหยุดหรือเล่นต่อ แต่ถ้าสมาร์ทโฟนมีสายเข้า แล้วเรากดปุ่มตามเดิมวิดีโอก็จะหยุด แล้วสลับไปเลือกเล่นเสียงจากสมาร์ทโฟน เพื่อตอบรับการสนทนาได้อย่างรวดเร็ว

ข้อจำกัดของ Multipoint Bluetooth
(Multipoint Bluetooth Limitations)

  • การเชื่อมต่อแบบ Multipoint Bluetooth ในระบบจะมีอุปกรณ์ด้านเสียง (Audio Device) อย่างหูฟัง หรือลำโพงได้แค่เพียงตัวเดียว
  • จำนวนอุปกรณ์ Playback Device ที่สามารถเชื่อมต่อได้ ขณะนี้จำกัดสูงสุดที่ 3 เครื่อง เรียกว่า "Triple Connectivity"
  • ไม่สามารถเล่นเสียงจากอุปกรณ์ Playback Device 2 ตัว พร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน นั่นหมายความว่า ในขณะที่คุณกำลังฟังเพลงจาก YouTube เพลงของคุณอาจจะหยุดเล่นไปชั่วขณะ เพื่อแทรกเสียงแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนเข้ามา (แต่ตามสเปก Bluetooth 5.0 สามารถทำได้แล้ว)
  • Multipoint Bluetooth ไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์ในการทำงาน แต่เป็นฮาร์ดแวร์ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตหูฟัง Bluetooth สูงขึ้น หรือราคาแพงขึ้นด้วย

เหตุผลสองข้อสุดท้ายนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้หูฟังส่วนใหญ่ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นคนทั่วไป ไม่นิยมใส่ Multipoint Bluetooth เข้ามา เพราะมันทำให้การฟังเพลง หรือชมวิดีโอสามารถถูกรบกวนจากการแจ้งเตือนที่ส่งมาจากอุปกรณ์อื่นที่เชื่อมต่ออยู่ได้ อีกทั้ง Multipoint Bluetooth  ไม่ใช่ลูกเล่นจำเป็นที่คนส่วนใหญ่ต้องการใช้งาน การเพิ่มต้นทุนการผลิตก็จะยิ่งทำให้หูฟังขายยากขึ้นไปอีก

รูปแบบของ Multipoint Bluetooth
(Types of Multipoint Bluetooth)

รูปแบบการเชื่อมต่อของ Multipoint Bluetooth มีอยู่หลายรูปแบบ ประกอบไปด้วย

Simple Multipoint

เป็น Multipoint Bluetooth แบบพื้นฐานที่พบเจอได้ในอุปกรณ์ระดับลูกค้าทั่วไป มันสามารถเชื่อมต่อได้หลายอุปกรณ์ในเวลาเดียวกัน แต่ว่าจะรับสายได้ทีละสายเท่านั้น โดยจะตัดสายเดิมทิ้ง เมื่อเรากดรับสายใหม่บนอุปกรณ์ตัวอื่น

Advanced Multipoint 

สำหรับ Multipoint Bluetooth รูปแบบนี้ สามารถที่จะพบเจอได้ในอุปกรณ์ระดับลูกค้าธุรกิจ การทำงานก็คล้ายกับ Simple multipoint เลย เพียงแต่ว่า เมื่อมีการสลับสาย แทนที่จะตัดสายทิ้ง เราสามารถเลือกที่จะให้สายเดิม "รอสาย" เอาไว้ได้

Triple Connectivity

ตามชื่อของมันเลย ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากถึง 3 ตัว แทนที่จะได้แค่ 2 ตัว

อย่างไรก็ตาม มันมีการเชื่อมต่อแบบอื่น ที่ผู้ผลิตคิดค้นขึ้นมาเองด้วย เช่น Apple หรือ Samsung ก็จะมีระบบควบคุมการสลับสับเปลี่ยนการเชื่อมต่อที่ทำงานได้อย่างชาญฉลาด เพียงแต่อาจจะมีข้อจำกัดคือ ทำงานได้เฉพาะระหว่างอุปกรณ์ของตัวเองเท่านั้น


จากนี้ไป ถ้าจะซื้อหูฟังบลูทูธมาใช้งาน ถ้าสนใจที่จะนำมาใช้งานกับหลายอุปกรณ์ในเวลาเดียวกัน ก็อย่าลืมพิจารณารุ่นที่รองรับ Multipoint Bluetooth ด้วยล่ะ


ที่มา : www.soundguys.com , www.howtogeek.com , en.wikipedia.org , www.androidauthority.com

0 Multipoint+Bluetooth+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4+%3F+%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น