สำหรับผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เมื่อต้องการติดตั้งแอปพลิเคชัน ส่วนใหญ่ก็จะคิดถึง Google Play เป็นหลัก หรือถ้ามีความเซียนหน่อย ก็อาจจะเลือกติดตั้งผ่าน วิธี Sideloading อย่างไรก็ตาม หากเราไม่อยากดาวน์โหลดจากบริการของ Google อันที่จริงมันก็มีอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจนะ
ระบบปฏิบัติการ Android นั้นเป็นระบบปฏิบัติการที่พัฒนาแบบ เปิดเผยซอร์สโค้ด (Open-Source) มันจึงมีอิสระในการใช้งานค่อนข้างสูง แต่ส่วนใหญ่แล้ว แอปพลิเคชัน (Application) ที่อยู่บนร้านค้าของ Google Play ก็จะพึ่งพา Google Mobile Service (GMS) ในการทำงาน ปัญหานี้เห็นได้ชัดกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับ Huawei หลังจากที่ถูกทาง Google แบนไม่ให้ใช้งาน GMS ไป แอปพลิเคชันหลายตัวก็ไม่สามารถใช้งานได้
สำหรับคนที่ไม่อยากใช้แอปพลิเคชันที่มีความเกี่ยวดองกับ Google อันที่จริง ก็มีร้านค้าแอปพลิเคชันแบบเปิดเผยซอร์สโค้ด สำหรับ ระบบปฏิบัติการ Android ให้เลือกใช้งานอยู่นะ นั่นก็คือ F-Droid นั่นเอง
ในบทความนี้ เราจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ F-Droid กันให้มากขึ้น มาดูกันเลย ...
F-Droid เป็นโครงการไม่แสวงหาผลกำไร ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) โดยมีอาสาสมัครร่วมแรงร่วมใจช่วยกันบูรณาการแอปพลิเคชันเข้าไปยัง F-Droid แม้จะมีแอปพลิเคชันอยู่จำนวนไม่น้อยในนั้น แต่หากว่ากันตามจริงแล้ว เราไม่สามารถเรียก F-Droid ว่าเป็นร้านค้าแอปพลิเคชันเหมือนกับ Google Play เพราะว่าในระบบไม่มีการจำหน่ายแอปพลิเคชันเลยแม้แต่ตัวเดียว
เพราะจริงๆ แล้ว F-Droid เป็นเหมือนคลังแอปพลิเคชัน (Application Repository) เสียมากกว่า ภายใน F-Droid จะมีการแบ่งแอปพลิเคชันออกไปตามหมวดหมู่ต่าง ๆ และมีแม้แต่ ซอร์สโค้ดของตัวแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี โดยที่ไม่ต้องสมัครบัญชีด้วยซ้ำไป
ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในรูปแบบของ ไฟล์ APK ได้จากเว็บไซต์ F-Droid ได้โดยตรง หรือจะดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชัน F-Droid บนสมาร์ทโฟนก็ได้ โดยมันสามารถใช้ในการติดตั้งแอปพลิเคชัน และอัปเดตได้เหมือนกับ Google Play เลย
ข้อมูลเพิ่มเติม : ไฟล์ APK คืออะไร ? เราใช้ไฟล์ APK บน Android ทำอะไร ? และจะสร้างมันได้อย่างไร ?
แอป F-Droid บนระบบปฏิบัติการ Android
F-Droid ไม่ได้มีบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลัง มันขาดการโฆษณา หลายคนไม่รู้จักกับ F-Droid ด้วยซ้ำ จำนวนแอปพลิเคชันในระบบก็น้อยกว่า Google Play มาก แต่มันก็มีเหตุผลดี ๆ ที่ทำให้ F-Droid น่าใช้งานอยู่เหมือนกันนะ
ระบบปฏิบัติการ Android ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานฟรี และเป็นแบบเปิดเผยซอร์สโค้ด แต่ใน Google Play นั้นเต็มไปด้วยแอปพลิเคชันลิขสิทธิ์ F-Droid จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ที่ใช้งานได้ฟรี และคงความเป็น Open-Source ของระบบปฏิบัติการ Android เอาไว้
การใช้ F-Droid เราสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องสมัครบัญชีผู้ใช้งานแต่อย่างใด ทางผู้ดูแล F-Droid เองก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ดาวน์โหลด และหากว่าตัวแอปพลิเคชันดังกล่าวมีคุณสมบัติในการเก็บข้อมูลผู้ใช้ มันก็จะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทราบตั้งแต่ก่อนติดตั้งแอปพลิเคชัน
ทุกแอปพลิเคชันที่มีบน F-Droid จะมีการเปิดเผยซอร์สโค้ดให้ดู หรือดาวน์โหลดด้วย เราสามารถตรวจสอบความโปร่งใสของตัวแอปพลิเคชันได้ ว่าไม่มีการสอดไส้ของแถมที่ไม่ต้องการได้ทันที
แอปพลิเคชันทั้งหมดบน F-Droid สามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่มีแม้แต่โฆษณา หรือ การจ่ายเงินภายในแอปพลิเคชัน (In-app Purchase)
ในการใช้งาน F-Droid ผู้ใช้จำเป็นจะต้องตั้งค่าตัวระบบปฏิบัติการ Android ให้อนุญาตติดตั้งไฟล์แอปพลิเคชัน *.APK จาก บุคคลที่สาม (3rd-Party) หรือที่เรียกว่าการ Sideloading ในตอนที่เปิดใช้งานคุณสมบัติดังกล่าว คุณจะพบกับการแจ้งเตือนว่ามันเป็นการกระทำที่อันตราย เพราะการติดตั้งแอปพลิเคชันจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ร้านค้าอย่างเป็นทางการของ Google มีสิทธิ์ที่จะโดนสอดไส้มัลแวร์เข้ามาในแอปพลิเคชัน แต่มันจะไม่มีอันตรายเลย หากเราติดตั้งไฟล์ *.APK จากแหล่งดาวน์โหลดที่เชื่อถือได้ ซึ่ง F-Droid นั้นมีความปลอดภัยสูงกว่า Google Play ด้วยซ้ำ
เหตุผลก็เพราะว่า ในการใช้งาน Google Play ผู้ใช้จำเป็นต้องมีบัญชีของ Google และอุปกรณ์ก็ต้องมี Google Play Services นั่นหมายความว่า ข้อมูลส่วนตัวบางส่วนจะถูกส่งไปให้ Google ซึ่ง Google สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในด้านการตลาดต่าง ๆ
ในขณะที่ F-Droid นั้นไม่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้เลย ทุกแอปพลิเคชันมาจากการพัฒนาของกลุ่มอาสาสมัครที่ช่วยกันพัฒนา และแจกจ่าย มีการเปิดเผยซอร์สโค้ด เพื่อความโปร่งใส
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าการใช้ F-Droid จะไม่มีความเสี่ยงเลย เนื่องจากแอปพลิเคชันในแพลตฟอร์มนี้มักจะได้รับการอัปเดตค่อนข้างช้า ถ้าแอปพลิเคชันมีทั้งบน F-Droid และ Google Play เวอร์ชันบน F-Droid มักจะได้รับการอัปเดตทีหลังเป็นส่วนใหญ่ หากมีการค้นพบช่องโหว่ด้านความปลอดภัย ก็หมายความว่า คุณจะต้องอยู่กับช่องโหว่ดังกล่าวนานกว่าผู้ใช้งาน Google Play
แอปพลิเคชันบน F-Droid ส่วนใหญ่จะเป็นแอปพลิเคชันแบบอรรถประโยชน์มากกว่าที่จะเป็นแอปพลิเคชันด้านความบันเทิง มันจะมีพวกแอปพลิเคชันด้านการทำงาน เช่น การจดบันทึก, จัดการไฟล์, แก้ไขรูปภาพ, ทำบัญชี ฯลฯ
และเนื่องจากผู้ที่ใช้งาน F-Droid ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย มันจึงมีแอปพลิเคชันประเภทจัดการรหัสผ่าน, ส่งข้อความแบบเข้ารหัส, เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN), ปกป้องข้อมูล อะไรทำนองนี้ให้ใช้งานค่อนข้างเยอะ
ต้องยอมรับว่าแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ที่มีใน Google Play จะไม่มีบน F-Droid รวมไปถึงแอปพลิเคชันที่คุณอาจจะใช้งานเป็นประจำทุกวันก็ไม่มีเช่นกัน
โดยมันไม่มี Facebook, Instagram, Discord, Spotify, Netflix หรือเกมต่าง ๆ อย่างที่บอกไปว่าทุกแอปพลิเคชันบน F-Droid จะแจกฟรีทั้งหมด และไม่ได้หวังผลกำไร ในขณะที่แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ที่เราใช้งาน มีเจ้าของเป็นนักธุรกิจที่ต้องการกำไร ดังนั้น แอปพลิเคชันเหล่านั้นจึงไม่มีให้ใช้งานบน F-Droid แม้แต่แอปพลิเคชันฟรีที่เป็นของ Google อย่าง Google Maps หรือ YouTube ก็ไม่มีเช่นกัน
อีกทั้ง แอปพลิเคชันบน F-Droid มีข้อกำหนดว่าจะต้องแจกจ่ายเผยซอร์สโค้ดด้วย ทำให้แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ที่มีบน Google Play ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่มีทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองอยู่ ทางผู้พัฒนาก็ไม่อยากที่จะเปิดเผยซอร์สโค้ด สู่สาธารณะ
สรุปว่า F-Droid เป็นตัวเลือกในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ดี มีแอปพลิเคชันฟรีหลายตัวที่น่าใช้งานอยู่ แต่ถ้าจะใช้งานแทน Google Play เลยก็คงไม่สามารถแทนที่ได้ แต่การใช้งานควบคู่กัน ก็เป็นตัวเลือกที่ดี คุณอาจจะพบกับแอปพลิเคชันที่ต้องการใช้งานบน F-Droid สักตัวสองตัว โดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อแอปพลิเคชันก็เป็นได้
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |