คอมพิวเตอร์ในสมัยแรก จัดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ยากมาก ถ้าให้คะแนนความเป็นมิตรกับผู้ใช้ และความง่ายในการเรียนรู้ (Learning Curve) คงจะคว้าคะแนน 0/10 มาครองได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอน เพราะระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ในยุคแรกนั้น มันไม่มีกราฟิก, ไม่มี เมาส์ (Mouse) มีแค่ตัวอักษรบนหน้าจอล้วน ๆ ผู้ใช้จะต้องจดจำคำสั่ง แล้วพิมพ์ป้อนเข้าไป แน่นอนว่ามีคำสั่งพื้นฐานที่ผู้ใช้ต้องจดจำได้อยู่มากมาย ไหนจะคำสั่งเฉพาะทางสำหรับการทำงานอีก
ด้วยเหตุนี้เองเราจึงเรียก ส่วนประสานงานกับผู้ใช้ (User Interface - UI) แบบดั้งเดิมนี้ว่า "Command-Line Interface (CLI)" หรือ "ส่วนประสานงานกับผู้ใช้แบบพิมพ์คำสั่ง" นั่นเอง
ระบบปฏิบัติการ CP/M ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ยุค ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519)
ภาพจาก : https://www.cs.auckland.ac.nz/historydisplays/ThirdFloor/PCOperatingSystems/PCOperatingSystemsMain.php
การที่คอมพิวเตอร์ในยุคแรกมีแต่ตัวอักษร ไม่มีกราฟิกเลย ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ฮาร์ดแวร์ยังมีประสิทธิภาพต่ำ ทรัพยากรมีให้ใช้งานอย่างจำกัด แต่เมื่อ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ (Computer Hardware) มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจึงมีการริเริ่มพัฒนาให้รองรับระบบกราฟิก นำไปสู่การพัฒนา ส่วนประสานงานกับผู้ใช้แบบพิมพ์คำสั่ง (Graphical User Interface - GUI) ในที่สุด
ในวงการคอมพิวเตอร์ "Desktop Environment (DE)" เป็นคำอุปมาของ "Desktop Metaphor" (การอุปลักษณ์เดสก์ท็อป) โดย DE จะประกอบไปด้วยชุดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่เหนือระบบปฏิบัติการ โดยมีการใช้งาน GUI ร่วมกัน หรืออาจนิยามว่า "Graphic Shell" ก็ได้
โดยที่ DE เป็นคำอุปมาของ "Desktop Metaphor" มีเหตุผลมาจากแนวคิดในการพัฒนาที่ต้องการให้สิ่งต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นเสมือนโต๊ะทำงาน
ในอดีต Desktop Environment ที่เราพบเห็นได้ง่าย และบ่อยมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นใน เครื่อง PC ระบบปฏิบัติการ Windows ที่เราใช้งาน จะมี Desktop Environment ที่ทาง Microsoft เรียกว่า Windows Shell เป็น GUI ที่พวกเราใช้งานกันอยู่
แต่ถ้าเป็นในปัจจุบันนี้ ก็อาจจะเป็นสมาร์ทโฟน ทั้ง iOS และ Android ต่างก็มี Desktop Environment เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ นึกภาพว่าถ้าจะโทรออก ใช้ โปรแกรม LINE ผ่าน CLI ด้วยการพิมพ์คำสั่งเองทีละบรรทัดนั้น ชีวิตคงลำบากน่าดู
การมีอยู่ของ Desktop Environment ช่วยให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ง่าย และสะดวกกว่าเดิมมาก เราสามารถสั่งงานสิ่งต่าง ๆ บนหน้าจอโดยไม่ต้องพิมพ์คำสั่งด้วยตัวเองอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า DE จะครอบคลุมการทำงานของระบบปฏิบัติการได้เกือบทุกอย่าง แต่ก็มีคุณสมบัติอีกหลายอย่างของตัวระบบปฏิบัติการที่ยังคงต้องเรียกใช้งานผ่าน CLI อยู่ดี
ภาพจาก : https://www.behance.net/gallery/40202533/Desktop-metaphor-example-%28June-2016%29
วัตถุประสงค์ในการพัฒนา Desktop Environment ขึ้น ก็เพื่อนำเสนอแนวทางการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้มากขึ้น ด้วยการโต้ตอบ สั่งการคอมพิวเตอร์ที่คล้ายกับการทำงานบนโต๊ะทำงานจริง ๆ ผ่านปุ่ม และหน้าต่างของโปรแกรมต่าง ๆ
โดยทั่วไปแล้ว Desktop Environment จะมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง อย่างเช่น WIMP (ย่อมาจาก Windows, Icons, Menus, Pointer), แถบเครื่องมือ (Toolbars), โฟลเดอร์ (Folder), ภาพพื้นหลัง (Wallpapers), วิดเจ็ตบนหน้าจอ (Desktop Widgets) ฯลฯ นอกจากนี้ ในส่วน Graphical User Interface (GUI) ก็มักจะรองรับคุณสมบัติการทำงานแบบ "ลากแล้ววาง (Drag & Drop)" อีกด้วย เพื่อให้ประสบการณ์ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ใกล้เคียงกับนิยาม Desktop Metaphor มากยิ่งขึ้น
Xerox Alto ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) เป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่มี GUI
ภาพจาก : https://spectrum.ieee.org/xerox-alto
ซึ่งองค์ประกอบแต่ละตัวที่เรากล่าวถึงในย่อหน้าที่แล้วก็เป็นเหมือนซอฟต์แวร์ที่ทาง Desktop Environment ได้รวบรวมเอาไว้เพื่อใช้ทำงานร่วมกันบนตัวระบบปฏิบัติการในฐานะของ Graphical User Interface (GUI) นั่นเอง
ในระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft และ macOS จาก Apple ตัว Desktop Environment ถูกพัฒนาให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวระบบปฏิบัติการเลยไม่สามารถแยกออกจากกันได้
แต่ถ้าเป็น ระบบปฏิบัติการ Linux ตัว Desktop Environment จะเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่สามารถปรับเปลี่ยน ตั้งค่าใหม่ได้ง่าย ๆ หรือจะไม่ใช้เลยก็ยังได้ ซึ่งเราจะอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป
GNOME หนึ่งใน Desktop Environment ของ Linux ที่ได้รับความนิยม
ภาพจาก : https://beebom.com/best-linux-desktop-environments/
ระบบปฏิบัติการ Linux สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมี Desktop Environment ด้วยการใช้งานแค่ Linux Shell Environment เพียงอย่างเดียว แต่การใช้งานในลักษณะนั้น น่าจะมีแค่นักพัฒนาเท่านั้นที่มีความรู้ความเข้าใจ ถึงจะใช้งานได้
ซึ่งระบบปฏิบัติการ Linux ในอดีต ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่นักพัฒนาเท่านั้นที่ใช้ แต่เมื่อ Linux ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมากขึ้น อาจจะด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่าย เพราะ Linux เป็น เปิดเผยซอร์สโค้ด (Open-Source) ที่สามารถใช้งานได้ฟรี และใช้ทรัพยากรในการทำงานน้อยกว่า ระบบปฏิบัติการ Windows ทำให้หลายบริษัทที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายหันมาให้ความสนใจกับ Linux กันมากขึ้น
แต่ถ้าจะให้พนักงานทั่วไปที่ไม่ใช่นักพัฒนามาใช้งานแบบ Linux Shell Environment ก็คงจะเป็นเรื่องยาก ต่อให้ใช้งานเป็น แต่ในการใช้งานทั่วไป มันก็ลำบาก และยุ่งยากเกินไป เมื่อเทียบกับการใช้งานผ่าน GUI
ภาพจาก : https://chen115yaohua.wordpress.com/2017/01/10/how-to-survive-in-linux-shell-environment-without-gui/
หลังจากที่ Linux ตัวแรกถูกปล่อยออกมาในฐานะ เคอร์เนล (Kernel) ก็มีนักพัฒนาจำนวนมากสนใจ และเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการนี้ แน่นอนว่าการทำ GUI มาครอบ Linux ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยความพิเศษของ Linux คือมี Desktop Environment ให้เลือกใช้งานได้หลากหลาย แต่ละตัวก็มีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป และมีบางอย่างที่ส่งผลต่อการใช้งานด้วย
เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่า Desktop Environment เป็นเสื้อผ้า เราจะมีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไปตามเสื้อผ้าที่สวมใส่ สมมติว่าคุณใส่ยีนส์ กับรองเท้าหนังงูสุดหรู มันอาจทำให้คุณดูดี แต่ถ้าต้องไปปีนเขาด้วยชุดนี้ มันก็ไม่สะดวกสบาย
Desktop Environment อย่างเช่น "GNOME" ให้ความสำคัญกับ UI ที่ทันสมัย และมอบประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีแก่ผู้ใช้ ในขณะที่ "Xfce" ผู้พัฒนาให้ความสำคัญกับการประหยัดทรัพยากรเป็นหลัก หน้าตาไว้ทีหลัง
Desktop Environment ตัวแรกของโลกถูกพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Xerox โดยมันถูกใส่มาใน Xerox Alto ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสำหรับใช้ภายในสำนักงาน เปิดตัวในปีค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) อย่างไรก็ตาม มันไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากราคาที่สูงลิ่ว และการตลาดที่ล้มเหลว ผ่านไป 10 ปี Apple เปิดตัวเครื่อง Lisa คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มี Desktop Environment ออกมาบ้าง แต่ด้วยความที่ตัวเครื่องมีปัญหาหลายอย่าง และราคาที่ค่อนข้างสูง ทำให้มันก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
ภาพจาก : https://www.flickr.com/photos/151668100@N07/42015365590
ถึงแม้ว่า Xerox Alto และ Apple Lisa จะไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย แต่มันได้จุดกระแสแนวคิดการใช้งานคอมพิวเตอร์ในรูปแบบ "Desktop Metaphor" ให้แพร่หลายมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) Microsoft ได้เปิดตัว Interface Manager เป็น GUI ที่ปูทางไปสู่ระบบปฏิบัติการที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก Windows
ภาพจาก : https://virtuallyfun.com/2010/07/19/microsoft-interface-manager/
ในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) Microsoft เปิดตัว Windows 1.0 เพื่อแข่งขันกับ Apple โดยมาในช่วงหลัง Lisa ก่อน Macintosh แต่มันก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก ซึ่งตัว Windows 1.0 ก็ไม่จัดว่าเป็นระบบปฏิบัติการด้วยซ้ำไป มันเป็นเพียงส่วนเสริมของ ระบบปฏิบัติการ MS-DOS ที่เพิ่มองค์ประกอบเข้ามาหลายอย่างเช่น เครื่องคิดเลข, ปฏิทิน, Notepad, Paint, Reversi, Terminal และ Write โดยใน Windows 1.0 หน้าต่างยังไม่สามารถเรียงทับซ้อนกันได้ด้วยซ้ำ แต่ละหน้าต่างจะเรียงต่อกันแบบ Tiled (แผ่นกระเบื้อง)
ภาพจาก : https://www.xda-developers.com/40-years-ago-microsoft-debuted-windows/
แต่หลังจากนั้น Desktop Environment (DE) ก็เติบโต ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มี DE มากมายที่ประสบความสำเร็จ อย่าง Windows Shell ของระบบปฏิบัติการ Windows หรือ Aqua Environments ของ Apple รวมไปถึง X-based ที่เป็น DE สำหรับระบบปฏิบัติการประเภท Unix อย่าง Linux หรือ Berkeley Software Distribution (BSD)
ภาพจาก : https://512pixels.net/2014/04/aqua-past-future/
GNOME ย่อมาจาก GNU Network Object Model Environment เป็น Desktop Environment ที่พัฒนาแบบ Open-source เปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้ใช้ได้ฟรี รองรับระบบปฏิบัติการ Linux และที่เป็น Unix-like
นอกจากนี้แล้วยังมี Linux Distributions หลาย ๆ ค่าย อย่าง Debian, Fedora Linux, Ubuntu, Red Hat Enterprise Linux, SUSE Linux Enterprise เลือกใช้ GNOME เป็นค่าเริ่มต้นของ Desktop Environment รวมไปถึงในระบบปฏิบัติการ Unix อย่าง Oracle Solaris ก็เลือกใช้ GNOME เช่นกัน
จุดเด่นของ GNOME คือหน้าตาที่สวยงาม ดูทันสมัย และผ่านการขัดเกลามาอย่างดี ทำให้ใช้งานง่าย มีความเป็นมิตรแก่ผู้ใช้ แต่นั่นก็เป็นเหตุผลให้ DE ตัวนี้ ที่ใช้ทรัพยากรในการทำงานสูงกว่า DE อื่น ๆ อยู่บ้าง
วิดีโอจาก https://www.youtube.com/watch?v=r_QyRJf3rtQ
สำหรับ Xfce เป็น Desktop Environment ที่พยายามรักษาแนวคิดแบบดั้งเดิมของ UNIX เอาไว้ ทั้งการแยกองค์ประกอบ และการใช้ซ้ำเพื่อลดทรัพยากร ออกมาเป็น DE ที่มีคุณสมบัติครบครัน แต่ประหยัดทรัพยากร นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถเลือกดาวน์โหลดเฉพาะองค์ประกอบที่ต้องการใช้ตามความต้องการของตนเองได้
ข้อสังเกตของ Xfce คือหน้าตาอาจจะดูไม่ทันสมัยเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับตัวเลือกอื่น ๆ
ภาพจาก : https://betawiki.net/wiki/Xfce
KDE เป็นโครงการที่ Matthias Ettrich นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน (University of Tübingen) ริเริ่มขึ้นมาจากความหงุดหงิดในการใช้ Unix ที่มีหลายอย่างขัดใจ ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งานทั่วไป โดยเขามองว่าซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ที่มีให้เลือกมันใช้งานยากเกินไป มันเลยจุดประกายให้เขาพัฒนา Desktop Environment ที่สามารถเรียกใช้งานซอฟต์แวร์ได้ง่าย ๆ ขึ้นมา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ KDE
KDE เดิมที เป็นการเล่นคำกับคำว่า "Common Desktop Environment (CDE)" ซึ่งเป็น DE สำหรับระบบ Unix ที่ทาง HP, IBM และ Sun ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา โดยตัว K หมายถึง "Kool" (เล่นกับคำว่า Cool อีกที) แต่สุดท้ายก็มีการตัดสินใจว่า K ไม่ต้องมีความหมายอะไร สรุป KDE ก็เลยหมายถึง K Desktop Environment แต่ในปี ค.ศ. 2009 ก็ได้ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ เรียกว่า KDE ตรง ๆ ไปเลย
จุดเด่นของ KDE อยู่ที่มีตัวเลือกในการปรับแต่งได้ละเอียดมาก ผู้ใช้มีอิสระในการเลือกปรับค่าให้เหมาะสมกับการใช้งานของตนเอง ในเวอร์ชันเก่า ๆ KDE มีข้อเสียในเรื่องความสิ้นเปลืองทรัพยากร แต่ในเวอร์ชันปัจจุบันได้รับการอัปเดตให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงไม่แพ้ GNOME เลยล่ะ
ภาพจาก : https://kde.org/ia/announcements/plasma/5/5.27.0/
LXDE ย่อมาจาก Lightweight X11 Desktop Environment เป็น DE ที่ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้ทรัพยากรในการทำงานต่ำเป็นพิเศษ มันสามารถทำงานได้ในคอมพิวเตอร์สเปคต่ำอย่าง Raspberry Pi หรือคอมพิวเตอร์คุณปู่ที่คุณปลดระวางไปแล้ว
ภาพจาก : https://www.ubuntupit.com/best-lxde-themes-for-linux/
เป็น Desktop Environment ที่ออกแบบโดยให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ทันสมัย เรียบแต่โก้ โดย Budgie เป็นโครงการที่พัฒนาแบบ Open-source ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี ซึ่งโครงการนี้มีทีมผู้พัฒนา Linux Distributions อย่าง Fedora, Debian และ Arch Linux ในการช่วยกันทำ
Budgie เน้นการออกแบบให้มีความมินิมอลเรียบง่าย แต่ดูดี และมอบอิสระในการปรับแต่งแก่ผู้ใช้งานได้มากพอสมควร
ภาพจาก : https://buddiesofbudgie.org/
Desktop Environment ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการใช้งานคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows หรือ macOS ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยน DE ได้ ก็อาจจะไม่ต้องใส่ใจในจุดนี้มากนัก แต่ถ้าเป็นผู้ใช้งาน Linux ก็น่าจะสนุกกับการเลือกสรร DE ที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |