ในอดีต สมัยก่อนที่ Microsoft จะเปิดตัว ระบบปฏิบัติการ Windows 10 ผู้ใช้งานจะต้องใส่ หมายเลขผลิตภัณฑ์ (Product Key หรือ License Key) เพื่อทำการเปิดใช้งาน (Activate) สิทธิ์ในการใช้งาน ซึ่งถ้าหากเราฝืนใช้งานไปแบบไม่ Activate หลังจากเลยเวลาที่กำหนดแล้ว ตัวระบบปฏิบัติการ Windows ก็จะเปลี่ยนเข้าสู่โหมดการทำงานที่ลดประสิทธิภาพลง (Reduced Functional Mode) ที่ทำให้การใช้งานเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยมันมีแจ้งเตือนให้เราทำการ Activate โผล่มาก่อกวนเป็นระยะ, คุณสมบัติหลายอย่างก็ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ และไม่สามารถอัปเดตอะไรได้เลยนั่นเอง
แต่ในระบบปฏิบัติการ Windows 10 และ Windows 11 นั้นต่างออกไป ทาง Microsoft ใจกว้างมากกว่าเก่า ผู้ใช้สามารถใช้งานมันได้ตามปกติแทบทุกอย่าง ไม่ต่างจากเวอร์ชันที่ Activate แล้ว ทำให้มีผู้ใช้งานหลายคนที่ไม่อยากเสียเงิน และไม่อยากใช้ของเถื่อน เลือกที่จะใช้งาน Windows 10/11 ต่อไปโดยที่ไม่ Activate
คำถามที่น่าสนใจคือ การใช้งาน Windows แบบไม่ Activate จะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ ? ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายถึงข้อจำกัดของสายฟรีแบบนี้ให้เข้าใจกัน
การเปิดใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows หรือ "Windows Activation" นั้น เป็นการลงทะเบียนเพื่อยืนยันสถานะความเป็นเจ้าของสิทธิ์ผู้ใช้งาน ที่ได้รับอนุญาตในการใช้ระบบปฏิบัติการ Windows เมื่อเราชำระเงินซื้อมันมา เราจะได้รับรหัส License key มาด้วย อาจจะเป็นกระดาษแนบมาในกล่อง หรือทางอีเมล โดยมันจะเป็นชุดตัวอักษรจำนวน 25 ตัว อย่าง
"XXXXX-XXXXX-XXXXX-XXXXX-XXXXX"
แต่ในคอมพิวเตอร์บางรุ่นอาจจะมีระบบฮาร์ดแวร์ยืนยันลิขสิทธิ์ฝังอยู่ในตัวเลย ทำให้เมื่อผู้ใช้ติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ในภายหลัง ก็ไม่จำเป็นต้อง Activate Windows ใหม่ เพราะมันตรวจสอบจากฮาร์ดแวร์แล้วรู้ได้ทันทีว่าอุปกรณ์เครื่องนี้ได้รับการอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในกรณีที่ผู้ใช้งานติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows ในคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่ไม่มีระบบปฏิบัติการ Windows ติดตั้งอยู่ ในขั้นตอนติดตั้งจะมีตัวเลือกให้ผู้ใช้ข้ามการ Activate ได้ ด้วยการคลิกที่ "ปุ่ม I don't have a product key" เพื่อที่ใส่ Product Key ในภายหลังได้ แต่ถ้าติดตั้งแบบอัปเกรดจากระบบปฏิบัติ Windows เวอร์ชันก่อน License key ก็จะถูกถ่ายโอนมา Activate ให้อัตโนมัติ
ภาพจาก : https://www.thewindowsclub.com/how-to-install-windows-11-without-entering-a-product-key
แม้ "ปุ่ม I don't have a product key" จะช่วยให้เราข้ามขั้นตอนการ Activate ไปได้ และเข้าใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ได้ตามปกติ แต่มันก็จะเสมือนเป็นระบบปฏิบัติการแบบ Freeware ที่ไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์นะ โดยถ้าเราไม่ Activate Windows ก็จะเกิดผลลัพธ์หลายอย่าง ดังต่อไปนี้
หลังจากที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ไปโดยที่ไม่ Activate ครบ 30 วัน ที่บริเวณมุมขวาล่างของหน้าจอ Desktop ก็จะปรากฏลายน้ำแจ้งเตือนให้เราไป Activate Windows นอกจากจะเกะกะสายตาแล้ว หากเราต้องไปทำงานกับลูกค้า ลายน้ำนี้ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ไม่ดีแก่บริษัทด้วย
ภาพจาก : https://devsjournal.com/how-to-remove-activate-windows-watermark.html
ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็จะมีปรับแต่งตัวระบบปฏิบัติการให้บ่งบอกความเป็นตัวตน ไม่ว่าจะเป็นการปรับภาพพื้นหลัง, หน้าจอ Lockscreen, สีของเมนู ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม การปรับแต่ง Personalization จะทำได้ต่อเมื่อ เรา Activate Windows แล้วเท่านั้น หากยังไม่ได้ Activate เราจะปรับธีมโดยรวมของ Windows ได้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/what-happens-if-you-dont-activate-windows/
หน้าการตั้งค่า (Settings) จัดว่าเป็นสถานที่ ที่รวมการตั้งค่าการทำงานของ ระบบปฏิบัติการ Windows เอาไว้ ซึ่งทุกครั้งที่คุณเปิดมันขึ้นมา มันจะมีข้อความเตือนว่า "Windows ยังไม่ได้รับการเปิดใช้งาน (Windows isn't activated)" เราสามารถคลิกที่ "ปุ่ม Activate Now" เพื่อใส่ Product Key หรือ ซื้อลิขสิทธิ์ Windows จากร้านค้าออนไลน์
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/what-happens-if-you-dont-activate-windows/
ถ้าปัญหาที่ผ่านมาไม่ทำให้คุณรู้สึกใช้งานลำบากมากนัก นี่น่าจะเป็นเรื่องน่ารำคาญที่สุด เพราะระบบปฏิบัติการ Windows จะส่งแบนเนอร์ขนาดใหญ่โผล่มากลางหน้าจอ บอกว่าช่วงเวลาทดลองใช้งานหมดลงแล้ว จง Activate ซะทีสิ
แม้เราจะสามารถคลิกปิดแบนเนอร์ดังกล่าวได้ แต่มันจะกลับมาเป็นระยะ เพื่อขัดจังหวะไม่ว่าในขณะนั้นคุณกำลังทำอะไรบนหน้าจออยู่ก็ตาม
ในขณะนี้ (ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)) ทาง Microsoft ยังอนุญาตให้คอมพิวเตอร์ที่ยังไม่ได้ Activate Windows สามารถอัปเดต แพทช์ระบบ และแพทช์รักษาความปลอดภัย ได้อยู่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรยืนยันได้เลยว่า ในอนาคตทาง Microsoft จะยังใจดีแบบนี้หรือไม่ ทาง Microsoft สามารถเลือกที่จะปิดกั้นไม่ให้เครื่องที่ยังไม่ Activate สามารถอัปเดตได้
ข้อมูลเพิ่มเติม : Patch, Hotfix, Critical Update, Feature Update, Service Pack ฯลฯ คำศัพท์เกี่ยวกับ Windows Update เหล่านี้คืออะไร ?
ซึ่งการไม่ได้รับการอัปเดตจะทำให้ระบบปฏิบัติการ Windows มีช่องโหว่ให้ แฮกเกอร์ (Hacker) สามารถส่ง มัลแวร์ (Malware) ต่างๆ เข้ามาโจมตีได้อย่างง่ายดาย
ภาพจาก : https://answers.microsoft.com/en-us/windows/forum/all/fix-your-device-is-missing-important-security-and/050a4d37-5fd0-4cca-994e-05bd2f23701a
หากกล่าวถึงกฏในการใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows แล้ว ทาง Microsoft ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า เฉพาะผู้ที่มีลิขสิทธิ์เท่านั้นที่มีสิทธิ์ใช้งานได้ แต่อย่างที่เห็นกันว่า แม้จะติดตั้งและไม่ได้ Activate Windows เราก็ยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่ก็เหมือนเป็นการใช้งาน Windows เวอร์ชัน Freemium ที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง
อันที่จริง การผ่อนปรนกฏให้อ่อนลงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ Microsoft อย่างการอัปเกรด Windows เวอร์ชันเก่าให้เป็น Windows เวอร์ชันใหม่ ที่ทาง Microsoft ได้ประกาศว่าจะมีช่วงเวลาที่สามารถทำได้อยู่ ซึ่งตอนนี้ก็หมดเวลาโปรโมชันมานานแล้ว แต่ในตอนนี้ ผู้ใช้งานเก่าก็ยังสามารถใช้ License key ของระบบปฏิบัติการ Windows เวอร์ชันเก่า ในการอัปเกรดเป็น Windows 11 ได้อยู่ดี
ซึ่งเหตุผลที่บริษัท Microsoft ตัดสินใจผ่อนปรนให้ผู้ใช้งานขนาดนี้ มีการสันนิษฐานว่าเป็นการเพิ่มฐานผู้ใช้งาน และโอกาสในการสร้างรายได้ เพราะแม้ผู้ใช้จะยังไม่ได้ Activate Windows แต่ผู้ใช้ก็ยังสามารถใช้มันในการซื้อบริการอื่น ๆ ของ Microsoft ได้อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันใน Windows Store, สมัครสมาชิก Office 365 และใช้บริการ Game Pass ได้
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |