หลังจากที่คุณซื้อโทรทัศน์ (TV) เครื่องใหม่ราคาแพงมา หลังจากที่แกะกล่องเสียบปลั๊ก ต่อเครื่องเล่น Blu-ray แล้วใส่แผ่น หนัง ภาพยนตร์ ที่มี ความละเอียดระดับ 4K UHD ด้วยความหวังที่จะเสพภาพสวย ๆ จาก TV รุ่นใหม่สเปกไฮเอนด์ แต่ผลลัพธ์กลับปรากฏว่า ความเคลื่อนไหวของภาพดูแปลกประหลาด ปัญหาที่คุณพบเจอไม่ใช่เรื่องแปลก มันเป็นปัญหาที่หลายคนพบเจอ และผู้กำกับชื่อดังหลายคนก็เคยออกมาบ่นเรื่องนี้ ปัญหานี้ถูกเรียกว่า "Soap Opera Effect" มันคืออะไร ? มาทำความรู้จักกับปัญหานี้กัน
เมื่อพูดถึงอาการ Soap Opera Effect ผู้ใช้งานจอ TV หลายคนเชื่อว่ามันเป็นข้อผิดพลาด หรือ บัค (Bug) ของทีวี แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ข้อผิดพลาดนะ มันเป็นอาการที่เกิดจากเทคโนโลยี การแก้ไขวิดีโอ (Video Interpolation) ที่ผู้ผลิตใส่เข้ามาในทีวี ซึ่งก็มีอยู่หลายชื่อเรียก แล้วแต่ยี่ห้อของทีวีที่คุณใช้งานอยู่ เช่นบ้างก็เรียก Auto Motion Plus, Smooth Motion หรือ Enhanced Motion ฯลฯ แต่ในทางเทคนิคแล้ว มันใส่เข้ามาเพื่อใช้ "แก้ปัญหา" แต่บ่อยครั้งที่มันทำให้ "เกิดปัญหา" แทน ซึ่งปัญหาที่ว่านี้ก็คือ "Soap Opera Effect" นั่นเอง
ในสมัยก่อนที่หน้าจอทีวี (และคอมพิวเตอร์) ยังใช้ จอ CRT หรือ จอพลาสมา (Plasma Screen) ซึ่งเทคโนโลยี เหล่านี้ จะไม่มีปัญหาเรื่องภาพเคลื่อนไหวเบลอ (Motion Blurring) เหมือนกับเทคโนโลยีของ จอ LCD ที่เป็นเทคโนโลยีที่หน้าจอในปัจจุบันนี้นิยมใช้งานกัน
เวลาที่ จอ LCD แสดงผลภาพที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น พวกกีฬา หรือวิดีโอเกม พิกเซล (Pixel) บนหน้าจอจะรีเฟรชไม่ทันทำให้เราเห็นภาพบนหน้าจอมีอาการเบลอ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ผู้ผลิตจึงพยายามเพิ่มอัตรารีเฟรชเรท ของหน้าจอให้สูงขึ้น ซึ่งในวงการหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หากคุณเป็นเกมเมอร์หน้าจะรู้จักกับหน้าจอรีเฟรชเรทสูงกันอยู่แล้ว ซึ่งก็มีหลายความเร็วให้เลือกตั้งแต่ 100 Hz, 120 Hz, 144 Hz, 160 Hz, 180 Hz, 240 Hz, 360 Hz ฯลฯ แต่ในหน้าจอทีวีปัญหามันไม่ได้จบแค่การเพิ่มอัตรารีเฟรชเรท
ปัญหาที่จอคอมพิวเตอร์ไม่มี แต่ทีวีมี เป็นผลมาจากที่มาของสัญญาณภาพ ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ มันรับสัญญาณภาพมาจากการ์ดจอที่ระดับ เฟรมเรท (Frame Rate) 60 Hz หรือมากกว่านั้น แต่ทีวีมันรับสัญญาณภาพมาจากสถานีโทรทัศน์ หรือเครื่องเล่นต่าง ๆ ที่ไม่ได้ปล่อย Frame Rate มาสูงขนาดนั้น ซึ่งในอดีตมันไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะทีวีก็ไม่ได้ทำมาให้มีอัตรารีเฟรชเรทสูงอยู่แล้ว แต่ทีวีรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้ เริ่มทำอัตรารีเฟรชเรทมาสูงขึ้น เพื่อรองรับกับ พอร์ต HDMI 2.1 ที่รองรับสัญญาณได้สูงถึง 4K 120 fps (สูงสุดได้ถึง 10K 120 fps) เพื่อให้ใช้งานกับเครื่องเกมคอนโซลยุคใหม่ได้
ในขณะที่หน้าจอทีวีมีรีเฟรชเรทสูงถึง 120 Hz แล้ว แต่สัญญาณโทรทัศน์กลับไม่ได้เร็วขึ้นตามไปด้วย อย่างในประเทศไทยมีการเผยแพร่สัญญาณภาพที่ 25p (25 fps) และแปลงเป็น 50i (Interlace Scanning System) ซึ่งจะเท่ากับ 50 fps ด้านภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็ถ่ายทำที่ 24 fps เท่านั้น
ปัญหาคือ ทางผู้ผลิตมีความ "หวังดี" ต้องการทำให้ภาพมันดูลื่นไหลมากขึ้น จึงมีการใช้เทคนิค Video interpolation เพิ่มเฟรมเข้าไป ที่มีชื่อเรียก เช่น Auto Motion Plus, Smooth Motion หรือ Enhanced Motion ฯลฯ จากต้นฉบับที่เดิมทีเป็น 25 fps หรือ 50 fps ให้กลายเป็น 120 fps เพื่อให้ความเคลื่อนไหวของภาพมีความต่อเนื่องขึ้น
แต่ปัญหาคือ เฟรมที่ถูกเพิ่มขึ้นมานั้นเป็นเฟรมปลอมที่สร้างจากข้อมูลของเฟรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ว่ามันทำได้ไม่เนียน ส่งผลให้ภาพดูแปลกตา หรือต่อให้มันออกมาเนียน ความเคลื่อนไหวของตัวละครก็จะดูเหมือนขยับเร็วแบบแปลก ๆ เสียบรรยากาศความเป็นภาพยนตร์ไป เหมือนกับภาพเคลื่อนไหวจากละคร Soap Opera ที่เคยฮิตในสมัยก่อน เพราะ ละคร Soap Opera ถ่ายทำด้วยเทปราคาถูก ซึ่งสามารถถ่ายที่ 60 fps ในขณะที่ภาพยนตร์ถ่ายทำด้วยฟิล์มที่ 24 fps
ภาพในเฟรมที่ถูกเพิ่มขึ้นมาด้วยระบบมีความไม่สมบูรณ์เกิดขึ้น
ภาพจาก : https://youtu.be/B_dE6HPIAJM
มาลองดูตัวอย่างภาพยนตร์ที่ถูกดัดแปลง เปลี่ยนจาก 24 fps ให้เป็น 60 fps แทน ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปทันที 24 fps ก็เหมือนกับการรับชมภาพยนตร์ที่เราคุ้นเคย ส่วน 60 fps จากภาพยนตร์ ความรู้สึกของเราจะเหมือนชมคัตซีนจากวิดีโอเกม ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องที่ทางผู้กำกับภาพยนตร์หลายคนไม่ชอบเท่าไหร่นัก เรียกว่ารังเกียจเลยก็ว่าได้ เพราะมันทำให้บรรยากาศของภาพยนตร์มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
วิดีโอจาก https://youtu.be/9hVEaW0yHiw
เพื่อความยุติธรรม เทคนิค Video Interpolation ไม่ได้แย่ หากนำไปใช้เวลาที่รับชมรายการกีฬา หรือเล่นวิดีโอเกม เพราะขั้นตอนในการถ่ายทำ หรือเทคนิคที่ใช้ในการเรนเดอร์ภาพขึ้นมามันมีเฟรมเรทสูงมาแล้วตั้งแต่ต้น แต่พอนำมาใช้กับรายการทีวี, ละคร และภาพยนตร์ ที่ส่วนใหญ่ถ่ายทำที่ 24 fps ผลลัพธ์มันเลยแปลกไป ที่ผ่านมาเคยมี หนัง ภาพยนตร์ที่พยายามถ่ายด้วยเฟรมเรทสูง อย่าง หนัง The Hobbit ก็ถ่ายทำที่ 48 fps ซึ่งผู้ชมส่วนใหญ่ก็ให้ความเห็นว่าให้ความรู้สึกแปลก ๆ
อันที่จริงปัญหานี้แก้ง่ายมาก เพราะพวกคุณสมบัติ Auto Motion Plus, Smooth Motion หรือ Enhanced Motion ฯลฯ อะไรพวกนี้ ผู้ใช้งานสามารถสั่ง "ปิด" มันได้ง่าย ๆ ผ่านเมนูของทีวี
ภาพจาก : https://www.sony.com/articleimage/servlet/servlet.FileDownload?file=0155F00000792MzQAI
ก่อนหน้านี้ ผู้กำกับหลายคนได้ออกมาเรียกร้องทางผู้ผลิตทีวีให้ "เลิก" ตัวค่าเปิดใช้งานคุณสมบัติ Video Interpolation เป็นค่าเริ่มต้น เพราะผู้ใช้งานหลายคนไม่เข้าใจสาเหตุของปัญหา และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเข้าไปปิดคุณสมบัตินี้ที่ตรงไหน
ส่วนทางแก้ปัญหาในระยะยาว ทาง UHD Alliance กลุ่มผู้ผลิตภาพยนตร์ และผู้ผลิตโทรทัศน์ ได้ประกาศว่าจะทำโหมดใหม่ขึ้นมาเรียกว่า "Filmmaker Mode" ที่มีลูกเล่นในการปรับแต่งการแสดงผลภาพบนจอทีวีหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือการปรับค่าเฟรมเรทของจอทีวีให้ตรงกับเฟรมเรทที่ผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการ ด้วยการใส่ค่า Metadata เอาไว้ในไฟล์เลย ซึ่งทีวีสามารถเปิด "Filmmaker Mode" เองอัตโนมัติ หรือผู้ใช้อาจจะเลือกเปิดจากเมนูของแผ่นได้ หรือตัวรีโมตได้เลย
คุณผู้อ่านที่ใช้ทีวีเฟรมเรทสูงระดับ 120 fps ล่ะ เคยประสบปัญหา Soap Opera Effect กันบ้างหรือเปล่าครับ ?
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |