ชื่อเสียงของ ชุดโปรแกรม Adobe นั้นน่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูหลาย ๆ คนเป็นอย่างดี และถ้าหาก โปรแกรม Adobe Photoshop นั้นเป็นโปรแกรมตัดต่อภาพนิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแล้ว โปรแกรมตัดต่อวิดีโอยอดนิยมประจำค่าย Adobe ก็คงหนีไม่พ้น โปรแกรม Adobe Premiere Pro อย่างแน่นอน แต่นอกเหนือไปจาก Adobe Premiere Pro แล้ว ทาง Adobe ก็ยังมีโปรแกรมตัดต่อวิดีโออีกตัวหนึ่งที่ได้คะแนนความนิยมสูงพอ ๆ กัน อย่าง โปรแกรม Adobe Premiere Rush อีกด้วย
โดยคนในวงการครีเอทีฟ (Creative) ที่คุ้นเคยกับโปรแกรมต่าง ๆ ของ Adobe เป็นอย่างดีก็น่าจะรู้จัก และเคยใช้งานโปรแกรมเหล่านี้กันมาบ้างอย่างแน่นอน แต่สำหรับใครที่เป็นมือใหม่ และยังไม่แน่ใจว่าควรจะเลือกใช้งานโปรแกรมไหนในการตัดต่อวิดีโอแบบใดแล้วนั้น เราก็ได้นำเอาความเหมือนและความต่างของ โปรแกรม Adobe Premiere Pro และ โปรแกรม Adobe Premiere Rush มาเทียบกันเพื่อประกอบการพิจารณา เลือกใช้งานได้ตามใจชอบ
โปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นเป็นโปรแกรมตัดต่อวิดีโอชื่อดังประจำค่าย Adobe ที่มีชื่อเสียงในวงการมาอย่างยาวนาน และผู้ใช้ส่วนมากก็มักมองว่าโปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นเป็นโปรแกรมตัดต่อวิดีโอสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการตัดต่อและแก้ไขวิดีโอต่าง ๆ เนื่องจากคลิปโฆษณา, หนัง หรือรายการโทรทัศน์ที่เราพบเห็นกันส่วนใหญ่แล้วก็มักจะใช้งาน โปรแกรม Adobe Premiere Pro เป็นโปรแกรมตัวช่วยในการตัดต่อวิดีโอและเสียง และภายในตัวโปรแกรมนี้มีความสามารถในการตัดต่อวิดีโออย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นการใส่ Transition หรือเพิ่ม Effect ต่าง ๆ ภายในวิดีโอก็สามารถทำได้อย่างลื่นไหล
ข้อมูลเพิ่มเติม : รายละเอียดโปรแกรม Adobe Premiere Pro
โดยตัวโปรแกรม Adobe Premiere Pro จะเน้นความสำคัญไปที่ Timeline ของตัววิดีโอเป็นหลัก ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะจัดการหรือแก้ไขวิดีโอ, คลิปเสียง, รูปกราฟิก หรือตัวอักษรต่าง ๆ บนวิดีโอได้บน Layer ที่จัดเรียงไว้ และสามารถเปิด - ปิด Layer ต่าง ๆ ได้คล้ายการใช้งาน Photoshop รวมไปถึงการลากวางส่วนต่าง ๆ ของ Layer ได้ตามต้องการ
ฟีเจอร์สุดเลื่องชื่อประจำโปรแกรมที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแก้ไขและตัดต่อคลิปหรือรูปกราฟิกบนคลิปบนไทม์ไลน์ได้อย่างอิสระ เช่น หากต้องการให้โลโก้ปรากฏขึ้นที่มุมขวาบนของคลิปในช่วงต้นและ Fade หายไปหลังจากนั้นก็สามารถกำหนดช่วงเวลาการปรากฏของรูปโลโก้บนไทม์ไลน์คลิปได้ตามต้องการ หรือการตัดต่อเพิ่ม Sound Effect ประกอบคลิปในช่วงต่าง ๆ เป็นต้น
ภาพจาก: https://www.designbuckle.com/adobe-premiere-pro-vs-adobe-premiere-rush/
ผู้ใช้สามารถปรับแต่งและกำหนดโทนสีของวิดีโอได้ทั้งการใช้งาน Presets ภายในโปรแกรมและการกำหนดค่า RGB ด้วยตนเอง รวมทั้งสามารถเพิ่ม Mid-tones หรือ Highlight บนคลิปได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวโปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นจะสามารถตัดต่อวิดีโอได้อย่างครบเครื่อง แต่ตัวโปรแกรมก็จำกัดเพียงแค่การใช้งานบน Desktop (macOS และ Windows) เท่านั้น ไม่ได้มีแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแต่อย่างใด อีกทั้งหน้าตาโปรแกรมก็ดูไม่ค่อยจะเป็นมิตรสำหรับผู้ใช้มือใหม่มากนัก แต่การใช้งานโปรแกรมก็ไม่ได้เข้าใจยากจนเกินไป หากใช้งานบ่อย ๆ ก็น่าจะคล่องไปเองได้ไม่ยาก
ในขณะที่ โปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นเป็นโปรแกรมที่อยู่คู่กับ Adobe มานานแล้วนั้น โปรแกรม Adobe Premiere Rush ก็เป็นโปรแกรมน้องใหม่ของค่ายที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้สาย Social Creative สามารถตัดต่อวิดีโอเพื่ออัปโหลดบนโซเชียลยอดนิยมอย่าง YouTube, Facebook, Instagram หรือแพลตฟอร์มดังต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
โดยตัวโปรแกรมนี้ค่อนข้างที่จะ “เป็นมิตร” กับผู้ใช้งานขั้นเริ่มต้นและมีความสะดวกสบายในการใช้งานค่อนข้างมาก เพราะหน้าตาของโปรแกรมนั้นจะดูค่อนข้างเข้าใจง่ายและมีชุดฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการใช้งานอยู่บริเวณแถบด้านข้างหรือแถบเมนูด้านบนที่สามารถเรียกใช้ได้อย่างง่ายดาย
ข้อมูลเพิ่มเติม : รายละเอียดโปรแกรม Adobe Premiere Rush
สำหรับความสามารถของ โปรแกรม Adobe Premiere Rush นั้นก็คล้ายกับโปรแกรมตัดต่อวิดีโอทั่วไปที่ผู้ใช้สามารถที่จะตัดต่อและแก้ไข, ปรับขนาด, สี, หมุนภาพได้ตามต้องการ รวมทั้งสามารถปรับแต่งเพิ่ม - ลดเสียงภายในวิดีโอหรือแทรกไฟล์เสียง Effect ต่าง ๆ ภายในโปรแกรมได้ แต่ตัวโปรแกรมจะไม่มีความหลากหลายและหวือหวาเมื่อเทียบกับ โปรแกรม Adobe Premiere Pro
ในขณะที่ โปรแกรม Adobe Premiere Pro สามารถใช้งานได้เฉพาะบน Desktop เท่านั้น โปรแกรม Adobe Premiere Rush นั้นมีทั้งเวอร์ชันที่รองรับการทำงานบน Desktop และแอปพลิเคชันบนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS จึงทำให้สามารถตัดต่อวิดีโอได้อย่างรวดเร็วและฉับไวในทุกที่ ทุกเวลา
ภาพจาก: https://www.shutterstock.com/blog/premiere-pro-vs-premiere-rush
สำหรับ หน้าตาของผู้ใช้งาน (User Interface) ของโปรแกรมทั้ง 2 ตัวนี้ก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย เพราะในขณะที่ โปรแกรม Adobe Premiere Rush นั้นมีหน้า Interface ที่ดูค่อนข้างคลีนและเข้าใจง่าย มีการแสดงผลคลิปบริเวณกลางจอทำให้โฟกัสได้อย่างง่ายดายและมีแถบเครื่องมือบริเวณด้านข้างและด้านล่างของตัวคลิป ไม่ว่าจะเป็นการตัด (Trim), ปรับสี, การปรับแต่งเสียง หรือฟีเจอร์อื่น ๆ เองก็สามารถเรียกใช้ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ภาพจาก: https://www.designbuckle.com/adobe-premiere-pro-vs-adobe-premiere-rush/
ส่วน โปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นจะมีหน้าตา (Interface) ที่ค่อนข้างซับซ้อนและดูเข้าใจยากสำหรับมือใหม่อยู่ไม่น้อย เพราะมันไม่ได้โฟกัสเฉพาะคลิปที่เปิดใช้งานอยู่ในปัจจุบัน แต่ยังมีหน้าต่างย่อยสำหรับคลิปที่เราเอาฟุตเทจไปแทรกในคลิปหลักและมีการแบ่ง Layer ภายในคลิปอย่างละเอียด ทั้ง Layer ของภาพกราฟิก, ตัวอักษร หรือไฟล์เสียงต่าง ๆ ที่เราสามารถจัดการแก้ไขและปรับแต่งได้อย่างอิสระ
แน่นอนว่าในเรื่องของความยืดหยุ่นในการใช้งานและฟีเจอร์ที่มากกว่านั้นก็ทำให้ โปรแกรม Adobe Premiere Pro กลายเป็นโปรแกรมตัดต่อวิดีอที่หนึ่งในใจสำหรับเหล่า Creative ที่ต้องการงานละเอียด เพราะฟีเจอร์ภายในโปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นมีให้เลือกใช้งานอย่างหลากหลายและสามารถปรับแต่งเพิ่มเติมได้ในทุกจุด โดยนอกจากแถบฟีเจอร์บริเวณด้านข้างและด้านล่างของกรอบวิดีโอแล้ว มันก็ยังมีฟีเจอร์ซ่อนอยู่ในเมนูด้านบนให้เลือกใช้กันแบบจุใจ (สามารถเลือกตั้งค่าการแสดงผลฟีเจอร์ที่ใช้งานบ่อยบนแถบด้านข้างได้ตามต้องการ)
ภาพจาก: https://www.designbuckle.com/adobe-premiere-pro-vs-adobe-premiere-rush/
ส่วน Adobe Premiere Rush ที่มีฟีเจอร์ภายให้เลือกใช้งานน้อยกว่านั้นก็เป็นรองในด้านของความละเอียดในการตัดต่อ แต่ก็แลกมาด้วยความรวดเร็วและฉับไวของการตัดต่อและ Render คลิปออกมา เพราะ Adobe Premiere Pro ก็ค่อนข้างขึ้นชื่อเรื่องการ Render ช้าอยู่ไม่น้อย ดังนั้นสำหรับคนที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้งานลูกเล่นในคลิปมากมายแล้ว Adobe Premiere Rush ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว
ในโปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นผู้ใช้จะสามารถออกแบบข้อความได้อย่างหลากหลาย และรองรับการใช้งานฟอนต์ต่าง ๆ ภายในเครื่องได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนสี, เพิ่ม Drop Shadow, เติม Stoke หรือใส่ Animation ในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระและหลากหลายมากกว่า
ภาพจาก: https://www.designbuckle.com/adobe-premiere-pro-vs-adobe-premiere-rush/
โปรแกรม Adobe Premiere Rush สามารถเติมข้อความภายในคลิปได้อย่างมีข้อจำกัด โดยจะสามารถใช้ได้เฉพาะ Preset Text ที่ตัวโปรแกรมกำหนดมาเท่านั้น
ถ้าใครให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะดวกในการใช้งานก็น่าจะต้องยกให้ โปรแกรม Adobe Premiere Rush เหนือกว่า โปรแกรม Adobe Premiere Pro เพราะนอกจากจะสามารถใช้งานโปรแกรมบน Desktop (ทั้งระบบปฏิบัติการ macOS และ Windows) ได้แล้ว
นอกจากนี้แล้ว มันยังมีแอปพลิเคชันสำหรับการตัดต่อคลิปบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่าง ๆ ทั้งในระบบ Android และ iOS รวมไปถึงมันยังรองรับการใช้งาน ชุดโปรแกรม Adobe Creative Cloud ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถบันทึกไฟล์บน ระบบประมวลผลบนคลาวด์ (Cloud Computing) เพื่อนำงานเอาไปทำต่อบนอุปกรณ์อื่น ๆ ได้อย่างสะดวก
ในขณะที่ โปรแกรม Adobe Premiere Pro ที่มีฟีเจอร์ครบครันกว่านั้นสามารถใช้งานได้เฉพาะบน Desktop (ทั้ง macOS และ Windows) เท่านั้น และถึงแม้จะรองรับการใช้งาน ชุดโปรแกรม Adobe Creative Cloud เช่นกันแต่ก็ไม่มีแอปพลิเคชันรองรับบนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต จึงทำให้การตัดต่อวิดีโอนั้นต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊คที่มีน้ำหนักมากและพกยายากกว่าแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนไม่น้อยเลยทีเดียว
ทางด้านของราคาและความคุ้มค่าในการใช้งานก็น่าจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน เพราะผู้ใช้แต่ละคนก็มีจุดประสงค์การใช้งานที่ต่างกันออกไป เพราะสำหรับมือใหม่ในวงการตัดต่อวิดีโอแล้วนั้นก็น่าจะชื่นชอบ โปรแกรม Adobe Premier Rush มากกว่าโปรแกรมที่ดูเข้าใจยากอย่าง โปรแกรม Adobe Premiere Pro อย่างแน่นอน แต่ถ้าหากดูในเรื่องของการใช้งานในระยะยาวแล้วก็ถือว่า โปรแกรม Adobe Premiere Pro นั้นค่อนข้างคุ้มค่ากว่าเพราะมีฟีเจอร์ภายในที่หลากหลายกว่าและสามารถตัดต่อวิดีโอได้ละเอียดมากกว่า
โปรแกรม Adobe Premiere Rush จะมีราคาเดียวที่เดือนละ 380 บาท และไม่มีส่วนลดเพิ่มหากซื้อเป็นรายปี
ภาพจาก : https://www.adobe.com/th_en/creativecloud/plans.html
โปรแกรม Adobe Premiere Pro จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่เดือนละประมาณ 761 บาท (ชำระล่วงหน้ารายปีที่ปีละ 9,142 บาท) หรือแพ็คเกจรายปี (ชำระรายเดือน) ที่เดือนละ 800 บาท ส่วนแพ็คเกจแบบเดือนต่อเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 1,200 บาท
ภาพจาก : https://www.adobe.com/th_en/creativecloud/plans.html
Adobe Premiere Pro | Adobe Premiere Rush | |
ใช้งานง่าย | ✔ | |
ฟีเจอร์ภายในหลากหลาย | ✔ | |
ระบบปฏิบัติการณ์ที่รองรับ |
|
|
การเติมข้อความภายในคลิป | ✔ | |
ราคา | เริ่มต้นที่เดือนละ 761 บาท | ราคาเดียวที่เดือนละ 380 บาท |
การใช้งานในระยะยาว | ✔ |
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |