เรื่อง ความยากในการเล่นเกม (Game Difficulty) ถือเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ในการเล่นเกมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง และแน่นอนว่า ความยากที่ผู้พัฒนาออกแบบมาเพียงแค่ระดับเดียว มันจะไม่สามารถตอบโจทย์ผู้เล่นทั้งหมดของเกมได้อย่างแน่นอน ความยากในระดับเดียวกัน บางคนอาจจะบอกยากไป บางคนอาจจะถามว่า ยากกว่านี้มีอีกมั้ย ซึ่งนอกจากความสามารถและประสบการณ์ในการเล่นเกมแล้ว ยังมีเรื่องของความชื่นชอบและความถนัดในเกมประเภทนั้น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องสำคัญอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้พัฒนา ในการออกแบบระดับความยากที่ลงตัวสำหรับเกมที่ถูกทำขึ้นมา และเป็นความท้าทายของคนทำเกมด้วยว่า จะสามารถทำให้มันสมดุลได้มากน้อยแค่ไหน แล้วระดับความยากของเกมสำหรับคนเล่นคืออะไรกันล่ะ ? มันมีหลักการทำงานยังไง ทำไมถึงต้องมีระดับความยากภายในเกมด้วย ไปอ่านกันต่อเลย
ระดับความยากของเกม (Game Difficulty) เปรียบเสมือนตัวชี้วัดความท้าทายของตัวเกมที่มีให้กับผู้เล่นตามระดับทักษะการเล่นอย่างเหมาะสม แต่ถ้าจะให้เจาะลึกลงไปกว่านั้น ก็อาจหมายถึงวิธีที่เกมใช้สื่อสารกับผู้เล่นว่า มันต้องการให้คุณทำอะไร ด้วยวิธีการแบบไหน ตามระดับทักษะการเล่นของคุณ
สำหรับบรรดาเกมเมอร์แล้ว ระดับความยาก สามารถปรากฎในรูปของค่าความยากที่ถูกตั้งไว้แล้วก่อนหน้า เช่น การมีระดับความยากให้ปรับตั้งค่าภายในเกม เป็นต้น
คำถามถัดมาที่หลายคนอาจเคยสงสัยมาก่อนก็คือ ในเมื่อภายในเกมมีระดับความยาก แล้วผู้พัฒนาจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องปรับอะไรให้เป็นแบบไหนสำหรับความยากแต่ละขั้น เพื่อให้มันแฟร์สำหรับผู้เล่นกันนะ ?
สำหรับตัวผู้พัฒนาเอง สามารถปรับแต่งตัวเลขพารามิเตอร์ภายในเกมเพื่อเพิ่มหรือลดความท้าทายได้ เช่น เลือดของศัตรู, ดาเมจของศัตรู, ความถี่ในการออกของศัตรู, ดาเมจที่ผู้เล่นทำได้, ความถี่ในการเจอของ, เพิ่ม / ลดกลไกต่าง ๆ ภายในเกม, หรือเพิ่ม / ลดจำนวนหน้าต่างการตอบสนอง เป็นต้น
เครดิตภาพ : https://thelastofus.fandom.com/wiki/Difficulty
และเพื่อให้ผู้เล่นสามารถเลือกระดับความท้าทายที่เหมาะสมกับทักษะการเล่นของตัวเอง ทำให้บรรดาผู้พัฒนา มักจะมีตัวเลือกความยากมาให้เลือกกันเองเลย ทว่า ไม่ใช่ทุกรายหรือทุกเกมที่จะมีให้เลือกเสมอไป เพราะระดับความยากภายในเกม ยังมีรูปแบบที่แตกต่างออกไปอีกสองแบบ นั่นก็คือ แบบที่เป็นตัวเลือกมาให้ และแบบไดนามิก
รูปแบบ การปรับความยากแบบตายตัว เป็นรูปแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะสามารถปรับตั้งค่าแต่ละออปชันเพื่อให้ผู้เล่นไปเลือกเล่นกันเอาเองได้ โดยระดับความยากหลัก ๆ ก็จะมี ง่าย, ปานกลาง, และยาก รวมทั้งอาจมีโหมดอื่น ๆ ให้คุณเลือกได้ก่อนเริ่มเกมด้วย
เครดิตภาพ : https://whats-in-a-game.com/controlling-flow-for-different-levels-of-player-skill/
ถึงแม้ว่าโดยทั่วไป ตัวเกมมักจะมีความยากมากขึ้นเมื่อคุณผ่านด่านของเกมเข้าไปลึกขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้พัฒนาได้ทำการคำนวณไว้แล้วว่า เมื่อคุณมาถึงจุดจุดหนึ่งของเกมได้ นั่นหมายความว่าคุณต้องได้รับการฝึกทักษะจากส่วนอื่น ๆ ของเกมมาแล้วพอสมควร ตัวเลือกความยากที่มีให้เลือกกันตอนแรก เป็นเพียงแค่ตัวเลือกให้คุณเลือกว่า จะเริ่มเล่นจากง่าย ๆ ก่อน หรือจะเริ่มเล่นแบบยากตั้งแต่ต้นจนจบก็เท่านั้น
ระดับของความยาก มักจะเกี่ยวข้องกับเลือดของศัตรู, ความดุร้าย, จำนวนไอเทมและกระสุน, การแทนที่ศัตรูประเภทหนึ่ง ด้วยศัตรูอีกประเภทหนึ่ง และอาจมีบางเกมที่ใช้วิธีการกำหนดกลไกอื่น ๆ เพิ่มความยากในการเล่นเข้ามาด้วย เช่น ถ้าคุณเลือกโหมด Hardcore ใน Resident Evil 2 มันก็จะปิดการเซฟอัตโนมัติให้ และใส่ตลับหมึกเข้ามาให้เก็บแทน นั่นหมายความว่า คุณก็จะมีจำนวนเซฟที่จำกัดอีกด้วย
เครดิตภาพ : https://guides.gamepressure.com/resident-evil-2/guide.asp?ID=48233
ในบางเกม เช่นเกมตระกูล Dark Souls จะมีการปรับระดับความยากในรูปแบบอื่นแทน โดยตัวคุณจะไม่สามารถปรับระดับความยากในการเล่นเกมได้เลยเมื่อแรกเริ่มเล่น แต่ถ้าหากสามารถพิชิตเกมนี้ได้สำเร็จ การเล่นรอบใหม่จะมีเครื่องหมาย + โผล่มาต่อท้ายคำว่า New Game แทน ซึ่งยิ่งมีเครื่องหมายบวกมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าคุณสามารถเล่นจบไปได้จำนวนมากขึ้นเท่านั้น และจะทำให้เลือดและดาเมจของศัตรูเพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กับการดรอปโซลที่เพิ่มมากขึ้น
ทางเลือกที่สองที่บรรดาผู้พัฒนาจะเลือกใช้ในการสร้างความท้าทายให้กับผู้เล่นได้อย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือ การใช้เทคนิคปรับความยากแบบไดนามิก
การปรับความยากในรูปแบบนี้หมายถึง การที่ตัวเกมจะมีตัวพารามิเตอร์ชี้วัดความยากอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าคุณสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ภายในเกมได้ดีมากน้อยแค่ไหน เพื่อช่วยให้ผู้เล่นสามารถมีส่วนร่วมกับเกมได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าง่ายเกินไปจนรู้สึกเหมือนไม่เติมเต็มความต้องการในการเล่น และไม่ให้ยากจนเกินไปจนทำให้รู้สึกตึงเครียด
เครดิตภาพ : https://store.steampowered.com/app/282514/Alien_Isolation__Safe_Haven/
ตัวอย่างเกมที่ดีที่ใช้การปรับความยากแบบนี้ก็คือ Alien Isolation ที่ใช้ AI แบบไม่ได้สคริปต์ไว้จำนวนมากสำหรับเหล่าเอเลี่ยนที่ออกตามล่าคุณตลอดทั้งเกม ซึ่งถึงแม้ว่าตัวเกมจะมีระดับความยากให้เลือกก็จริง แต่ AI เอเลี่ยนนั้นฉลาดไม่เบา เพราะตัวเกม ได้กำหนดขอบเขตมาเพื่อคอยมอนิเตอร์ผู้เล่นว่า ผู้เล่นมีความ "กลัว" ถึงจุดไหน และปรับ AI ของเอเลี่ยนให้อ้างอิงตามระดับความกลัวไปด้วย หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ ตัวเกมจะปลดล็อกพฤติกรรมที่แตกต่างกันภายในเกมโดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการเล่นของผู้เล่น
เครดิตภาพ : https://www.gamesradar.com/is-alien-isolation-2-coming-this-tweet-suggests-yes/
ซึ่งการปรับระดับความยากแบบไดนามิกนี้ ทำให้เกม Alien Isolation สามารถคงระดับความเข้มข้นที่ทำให้คุณสามารถเล่นได้อย่างสนุกและติดพันกับเกมไปได้โดยไม่รู้สึกว่าน่ากลัวเกินไป, สบายเกินไป, หรือเดาทางได้ง่ายเกินไป
ความยากของเกม จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในส่วนที่แยบยลมากที่สุดส่วนหนึ่งในการออกแบบเกมให้สามารถไปต่อได้ถูกทางที่ควรจะเป็น เพราะมันต้องการทั้งความสมดุล, ระบบเกมเพลย์ที่ลื่นไหล, และเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดก็คือ ต้องมีความแฟร์กับผู้เล่นให้มากที่สุด ไม่ว่ามันจะมีความท้าทายขนาดไหนก็ตาม วิดีโอเกมที่ดี จะต้องท้าทายคุณโดยอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมกับระดับความยากของมัน อาจจะทำให้ยากที่จะโค่นลง แต่ก็ไม่ยากที่จะเล่นต่อไปได้ :)
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |