ในยุคไซเบอร์ที่การสื่อสารไร้พรมแดน เรามีเครือข่าย อินเทอร์เน็ต (Internet) ไว้ใช้งานเพื่อให้ติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งหากพูดถึงสิ่งที่ใช้ระบุตัวตนของเราในโลกของอินเทอร์เน็ต และทำให้เรารู้ได้ว่าใครเป็นใคร หลายคนก็คงจะรู้จักกับ หมายเลขที่อยู่ไอพี (Internet Protocol Address) กันดีอยู่แล้ว แต่นอกเหนือจากนี้แล้ว หลายคนอาจเคยได้ยินว่ามีหมายเลข MAC Address ประจำเครื่องเช่นกัน โดยบทความนี้เราก็จะมาทำความรู้จักกับ MAC Address กัน
MAC Address (Media Access Control Address) หรือ Physical Address คือรหัสประจำตัวของอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยตัวเลขฐาน 16 มี 6 Bytes และรหัส 12 ตัว เช่น "2C:54:91:88:C9:E3" ซึ่งรหัสเหล่านี้จะถูกติดตั้งมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์เน็ตเวิร์คการ์ด หรือ NIC (Network Interface Card) ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้เชื่อมต่อระบบเครือข่าย Ethernet (LAN), Wi-Fi และ บลูทูธ (Bluetooth) นั่นเอง และมันก็คือรหัสที่อุปกรณ์ภายในเครือข่ายใช้สื่อสารกันเพื่ออ้างอิงที่มาเหมือนกับ IP Address นั่นเอง
โดยเลข MAC Address ก็พบได้ในอุปกรณ์ที่ใช้งานระบบเหล่านั้น เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องปริ้นเตอร์อุปกรณ์เครือข่าย หรือพวกแท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค มือถือ ที่เราใช้ต่อเน็ตกับ Wi-Fi ก็มีเช่นกัน
สำหรับการดูค่า MAC Address ก็ง่ายแสนง่าย เพียงแค่เราเปิด การพิมพ์คำสั่ง (Command Prompt) ขึ้นมาโดยกด "ปุ่ม Windows + R" และพิมพ์ว่า "cmd" หรือจะเปิดจาก เมนูเริ่มต้น (Start Menu) เลยก็ได้
จากนั้นพิมพ์ลงไปว่า "ipconfig /all" และกด "ปุ่ม Enter" มองหาคำว่า Physical Address นั่นก็คือ MAC Address นั่นเอง ซึ่งในอุปกรณ์ของเราสามารถมีหลาย MAC Address ได้เพราะว่ามีการใช้งานได้หลายระบบ เช่น Ethernet (LAN), Wi-Fi และ Bluetooth ดังนั้นโดยทั่วไปก็อาจจะมี 3 MAC Address
ในมือถือและอุปกรณ์พกพา ก็จะง่ายหน่อย เพราะส่วนใหญ่จะอยู่ในเมนูการตั้งค่า โดยในภาพเป็นของ iPhone ถ้าเป็น Android ก็ลองหาเมนูที่ดูใกล้เคียงได้ ไม่ยากเกินความสามารถ
โดยเราต้องไปที่ "เมนูการตั้งค่า" → "เมนูเกี่ยวกับ" และเลื่อนลงมา เราก็จะเห็น "ที่อยู่ MAC Address" ทั้ง Wi-Fi และ Bluetooth ของอุปกรณ์แบบนี้ครับ
ภาพจาก https://aoostudio.com/system-infrastructure/osi-model-open-systems-interconnection-model-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
ในโมเดลรูปแบบการส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Open Systems Interconnection (OSI) หมายเลข MAC Address จะถูกใช้ในระดับของ Data Link layer (OSI layer 2) มีหน้าที่เพื่อใช้ยืนยันที่มาของอุปกรณ์ที่สื่อสารกันภายในเครือข่าย Ethernet (LAN), Wi-Fi รวมถึง Bluetooth ในขณะที่ IP Address นั้นถูกใช้ในระดับของ Network Layer (OSI Layer 3) มีไว้ยืนยันที่มาข้อมูลของอุปกรณ์ที่มาจากนอกเครือข่ายหรือภาษาที่เราเข้าใจก็คือการส่งข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลเพิ่มเติม : Protocol (โปรโตคอล) คืออะไร ? จำเป็นแค่ไหน ต่อการใช้งานเครือข่าย หรือเล่นอินเทอร์เน็ต ?
ซึ่งปกติแล้วอุปกรณ์อย่าง สวิตซ์เครือข่าย (Network Switch) หรือ เราเตอร์ (Router) จะสามารถกำหนดค่าของ หมายเลขที่อยู่ IP ขึ้นมาผูกกับ MAC Address ของอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ และใช้ หมายเลข IP นั้นในการสื่อสารหรือเป็นทางออกไปสู่โลกออนไลน์ เนื่องจาก MAC Address จะใช้ทำงานภายในเครือข่ายเดียวกันเท่านั้น สมมติถ้าเกิดเราใช้โน้ตบุ๊คเชื่อมต่อ Wi-Fi ในบ้านตัวเอง หมายเลข MAC Address ของโน้ตบุ๊คก็จะถูกใช้ส่งข้อมูลกับอุปกรณ์ภายในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานอยู่ในบ้านเท่านั้นแต่ถ้าเกิดมีการท่องเว็บไซต์เมื่อไหร่ นั่นคือการที่เราต้องส่งข้อมูลกับอุปกรณ์นอกเครือข่าย ตอนนั้นหมายเลขที่อยู่ IP ถึงจะถูกใช้งานเป็นเหมือนตัวแทนของ MAC Address
ถ้าอธิบายอีกรูปแบบหนึ่งที่คนมักเปรียบเทียบกันบ่อย ๆ ให้คอมพิวเตอร์คือมนุษย์ MAC Address ก็คือหมายเลขบัตรประชาชน ส่วน หมายเลข IPเหมือนเลขที่บ้าน ถ้ามีการย้ายจุดเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหมายเลข IP Address ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่หมายเลข MAC Address จะติดอยู่กับตัวอุปกรณ์ตลอดไป
ข้อมูลเพิ่มเติม : เช็คหมายเลขที่อยู่ไอพีของคุณ (Check your IP Address)
โดย MAC Address ก็จะถูกเซ็ตค่ามาให้ไม่ซ้ำกัน เวลาใช้งานก็จะได้ไม่เกิดกรณีที่มีหมายเลขชนกันบนเครือข่ายและทำให้ระบบไม่ทำงาน โดยผู้ที่ตั้งค่า MAC Address มาให้ก็คือผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ในขณะที่ หมายเลขที่อยู่ IP ถูกกำหนดโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแต่ละเจ้านั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วเลขที่อยู่ MAC Address ของอุปกรณ์ต่าง ๆ จะถูกกำหนดโดย 2 หน่วยงานหลักนั่นก็คือผู้กำกับมาตรฐานการสื่อสารบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือ Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) ที่สร้างมาตรฐาน IEEE802.11 ของการสื่อสารไร้สายนั่นเอง ส่วนอีกหน่วยงานก็คือ ผู้ผลิตตัวฮาร์ดแวร์ NIC ที่ติดตั้งบนอุปกรณ์
ภาพจาก https://www.globalknowledge.com/us-en/resources/resource-library/articles/does-a-mac-address-mean-apple-invented-it/#gref
ตัวอย่าง สมมติว่าคอมพิวเตอร์เครื่อง A มีเลข MAC Address เป็น 00:10:A4:88:C9:E3 ตัวเลข 3 ตำแหน่งด้านหน้าจะเรียกว่า Organizationally Unique Identifier (OUI) มีความหมายว่าตัวเลขเฉพาะของบริษัทที่ Institute of Electrical and Electronics Engineers (IEEE) จะเป็นผู้ออกให้กับบริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์โดยไม่ซ้ำกัน
ในขณะที่ ตัวเลข 3 ตำแหน่งหลัง ผู้ผลิตจะเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง เป็นหมายเลขซีเรียล (Serial Number) ของอุปกรณ์นั้น ๆ ดังนั้นหมายความว่า หากหมายเลข MAC Address ขึ้นต้นด้วย "00:10:A4:" ก็แสดงว่ามาจากบริษัทดังกล่าว ส่วนด้านหลังบริษัทก็จะออกเลขมาให้ไม่ซ้ำกันไป เช่น
MAC Address สามารถแบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภท คือ Unicast, Multicast และ Broadcast ตามรูปแบบของการส่งข้อมูลในโลกของ Network และอย่างที่กล่าวไว้ MAC Address จะใช้ส่งข้อมูลภายในเครือข่ายหรือ ระดับ Data Link Layer (OSI Layer 2) เท่านั้น ซึ่งอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดเส้นทางการส่งข้อมูลภายในเครือข่ายก็คืออุปกรณ์ที่เรียกว่า สวิตซ์เครือข่าย (Network Switch)
โดยรูปแบบการส่งข้อมูลของ เน็ตเวิร์กสวิตซ์ จะเรียกว่า Frame ในหนึ่ง Frame จะประกอบด้วย ที่อยู่ต้นทาง (Source) ที่อยู่ปลายทาง (Destination) และ ข้อมูล (Data) ที่ให้อุปกรณ์ใช้เพื่อสื่อสารกัน โดยบทบาทของ MAC Address ทั้ง 3 ประเภทก็จะเริ่มจากตรงนี้
ข้อมูลเพิ่มเติม : Modem, Router และ Network Switch คืออะไร ? และ แตกต่างกันอย่างไร ?
MAC Address รูปแบบ Unicast ถูกเรียกตามการส่งข้อมูลแบบ Unicast หมายถึงการส่งข้อมูลแบบ 1 Source 1 Destination ดังนั้นที่อยู่ MAC Address ที่ปรากฏใน Frame ก็จะเป็นที่อยู่เฉพาะตัวของอุปกรณ์ต้นทาง และ ปลายทาง
ภาพจาก https://www.geeksforgeeks.org/introduction-of-mac-address-in-computer-network/
MAC Address แบบ Multicast มักขึ้นต้นด้วย "01-00-5E" เสมอ ซึ่ง IEEE ได้จำแนกไว้ให้เป็นเลขมาตรฐานโปรโตคอล (Protocol) สำหรับการส่งข้อมูลแบบ Multicast ส่วนเลขอีก 3 Bytes หลังจะกำหนดโดยโปรแกรมเครือข่ายที่ใช้งานอยู่
ซึ่งการส่งข้อมูลแบบ Multicast จะใช้ในกรณีที่ต้องการให้คอมพิวเตอร์ส่งข้อมูลภายในเครือข่ายแบบเป็นกลุ่มได้หรือ 1 แหล่ง (Source) ออกไปยัง 1 กลุ่ม Destination เช่น คอมพิวเตอร์แม่ข่ายต้องการลงโปรแกรม Windows ในคอมพิวเตอร์ลูกข่ายที่กำหนดไว้หลาย ๆ เครื่อง ดังนั้นหมายเลข MAC Address ปลายทาง (Destination) ใน Frame จะไม่ใช่หมายเลขเฉพาะของอุปกรณ์ แต่เป็นที่อยู่ที่ตั้งค่าไว้โดยอุปกรณ์ หรือ โปรแกรมเครือข่ายเพื่อให้ส่งข้อมูลแบบ Multicast โดยในภาพตัวอย่างนี้คือ "เลข 01-00-5E-00-00-0A"
สำหรับกรณีถ้าต้องการส่งข้อมูลจาก 1 Source ไปยังอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อในเครือข่ายทั้งหมด เช่น ต้องการลงโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์ลูกข่ายพร้อมกันทั้งหมด เราสามารถใช้ MAC Address แบบ Broardcast หรือที่อยู่ "FF-FF-FF-FF-FF-FF" ตั้งไว้เป็น Destination
ภาพจาก https://techwithtech.com/mac-address-what-can-a-hacker-do/
หนึ่งคำถามที่หลายคนมักสงสัยคือการเปิดเผย MAC Address ให้คนอื่นรู้จะเป็นอันตรายหรือไม่ และ แฮกเกอร์สามารถโจมตีเราด้วย MAC Address ได้ไหม ?
ที่จริงแล้ว แฮกเกอร์ (Hacker) สามารถทำอะไรได้หลายอย่างต่อ MAC Address ของเราแต่ส่วนใหญคือการสร้างความรำคาญเท่านั้น เช่นการแฮกเข้ามาในเครือข่าย Wi-Fi ของคุณโดยการปลอม MAC Address ทำทีว่าเป็นอุปกรณ์ที่คุณใช้ ซึ่งเรียกว่าการ Spoof และผลก็คือจะทำให้คุณใช้อุปกรณ์ของคุณเองเข้าอินเทอร์เน็ตไม่ได้ เพราะว่าเลข MAC Address มันชนกันในเราเตอร์
อีกกรณีคือร้ายแรงสุดคือถ้า Hacker รู้หมายเลข MAC Address ในเราเตอร์ของเรา และค่อนข้างจะเก่งทีเดียว ก็สามารถปลอมแปลงเป็นเราเตอร์ของเราในเครือข่าย และติดตามการท่องเว็บไซต์ของเรา และ ล้วงข้อมูลเราไปได้
อย่างไรก็ตามมันคือเรื่องทางเทคนิค ไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้ ต้องมีความรู้ทางด้าน Network พอสมควร
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |