ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

VHD กับ VHDX คืออะไร ? และแตกต่างกันอย่างไร ?

VHD กับ VHDX คืออะไร ? และแตกต่างกันอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 1,224
เขียนโดย :
0 VHD+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+VHDX+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

VHD กับ VHDX แตกต่างกันอย่างไร ?

สำหรับไฟล์ VHD และ VDHX เป็นรูปแบบไฟล์ ดิสก์อิมเมจ (Disk Image) ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในระบบ Virtual Machine (VM) มันทำหน้าที่ในการจำลองการทำงานของ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) โดยปกติแล้วก็จะใช้งานร่วมกับแพลตฟอร์ม Hyper-V ของ Microsoft

บทความเกี่ยวกับ Harddisk อื่นๆ

ทั้งคู่มีชื่อคล้ายกัน และทำหน้าที่เดียวกัน แต่มันมีข้อแตกต่างบางอย่างที่ผู้ใช้ควรรู้นะ จะได้เลือกใช้งานให้เหมาะสมกับพฤติกรรมในการใช้งานของตนเอง

เนื้อหาภายในบทความ

VHD คืออะไร ? (What is VHD ?)

เรามาเริ่มต้นกันที่ VHD ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เก่าแก่กว่ากันก่อน

VHD ย่อมาจาก "Virtual Hard Drive" มันเป็นไฟล์ชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ตามชื่อของมันเลยคือ จำลองการทำงานของ Hard Disk Drive (HDD) มันเป็นไฟล์ดิสก์อิมเมจที่มีหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งหมดของ Virtual Machine นั่นหมายความว่า มันจะทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบจำลองเสมือน (Virtualization environments) เป็นหลัก

ถ้างง ลองนึกภาพตามง่าย ๆ คอมพิวเตอร์ของเราจะต้องมี HDD (หรือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD) ไว้สำหรับใช้ในการเก็บข้อมูล ซึ่งในการจำลองระบบปฏิบัติการผ่าน VM ตัวระบบก็ต้องจำลอง HDD ขึ้นมาด้วย ซึ่ง VHD ก็คือไฟล์ที่ทำหน้าที่เป็น HDD นั่นเอง

ไฟล์ VHD ใช้ในการเก็บข้อมูลระบบปฏิบัติการ, แอปพลิเคชัน, ซอฟต์แวร์ และข้อมูล ทำให้มันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในการทำงานของเทคโนโลยี VM โดยผู้ใช้สามารถ Mount/Unmount ไฟล์ VHD เข้าไปในตัวระบบได้

สำหรับความเป็นมาของไฟล์ VHD มันเป็นรูปแบบไฟล์ที่บริษัท Connectix พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) โดยมี บุคคลที่สาม (3rd-Party) เริ่มนำไปใช้งานตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) แต่บริษัทที่ใช้งานเป็นหลักคือ Microsoft ที่นำมาใช้ใน Visual PC และ Hyper-V รวมไปถึง 3rd-Party อย่าง Virtualbox และ VMware ก็รองรับ VHD ด้วยเช่นกัน

VHDX คืออะไร ? (What is VHDX ?)

รู้จัก VHD กันไปแล้ว ก็มาถึง VHDX กันบ้าง เอาจริง ๆ แล้วมันก็แค่ไฟล์ VHD เวอร์ชันใหม่เท่านั้นเอง โดยทาง Microsoft ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา และปรับปรุงข้อจำกัดของ VHD ทำให้การนำไปใช้งานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยชื่อ VHDX นั้นย่อมาจาก "Virtual Hard Disk v2"

Microsoft นำ VHDX มาใช้กับ Hyper-V อย่างไรก็ตาม VHDX ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก VM ของ 3rd-Party เท่าไหร่นัก อย่าง Virtualbox และ VMware จะแนะนำให้ผู้ใช้งานทำการแปลงไฟล์ VHDX ให้เป็น VHD ก่อนจะนำมาใช้งานกับ VM ของพวกเขาได้

VHDX ถูกนำมาใช้งานเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) โดยมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 8 และ Windows Server 2012 และมันได้กลายเป็นไฟล์หลักที่ VM ของ Microsoft เลือกใช้งานมาโดยตลอด

VHD กับ VHDX คืออะไร ? และแตกต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก https://helgeklein.com/blog/compacting-hyper-v-vhdx-files-of-ubuntu-linux-vms/

VHD และ VHDX แตกต่างกันอย่างไร ? (What is the difference between VHD and VHDX ?)

อย่างที่เราได้อธิบายไปในหัวข้อที่แล้ว ว่า VHDX เป็นเหมือน VHD เวอร์ชันปรับปรุง ดังนั้น มันจึงมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน

โดยสิ่งแรกที่สังเกตได้ง่ายคือ ขนาดของตัวไดร์ฟ โดย VHD จะมีความจุได้สูงสุด 2 TB แต่ VHDX สามารถรองรับได้ถึง 64 TB ถึงแม้คุณอาจจะรู้สึกว่าไม่ต้องการใช้งานความจุสูงถึงขนาดนั้น แต่ในระดับองค์กร มันมีโอกาสที่คุณต้องการไดร์ฟใหญ่กว่า 2 TB ทำให้ VHDX สามารถตอบโจทย์ในจุดนี้ได้

นอกจากนี้ VHDX ยังมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่า, มีระบบป้องกันไฟล์เสียหาย, รองรับขนาดของบล็อก (Block Size) ที่ใหญ่กว่า, มีความยืดหยุ่นสูง และยังมี ระบบเก็บไฟล์ Log เพื่อเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับไฟล์

เนื่องจาก VHDX เป็นการปรับปรุงมาจาก VHD ทำให้เมื่อเทียบกันแล้ว มันดีกว่าทุกประการ อย่างไรก็ตาม หากจะพูดถึงข้อเสีย ก็คงจะเป็นการที่ VHDX รองรับการใช้งานแค่บน Hyper-V เท่านั้น ซอฟต์แวร์ VM ของ 3rd-Party ส่วนใหญ่ยังรองรับแค่ VHD เพียงอย่างเดียว

ตารางเปรียบเทียบระหว่าง VHD และ VHDX (VHD and VHDX Comparison Table)

มาตรฐาน      

VHD

VHDX

สนับสนุนโดย

Windows, Citrix และ Oracle   

Windows

ระบบปฏิบัติการที่รองรับ  

Windows Server 2008, 2008R2, 2012R2 และ 2012

Windows Server 2012 หรือใหม่กว่า

ความจุ

สูงสุด 2 TB

สูงสุด 64 TB

ขนาด Logical Sector

512 bytes

4 KB

การป้องกันข้อมูล

ขั้นพื้นฐาน

แข็งแกร่ง และมีระบบป้องกันความเสียหาย  ด้วยการใช้ Metadata

การปรับขนาด

ไม่รองรับ

รองรับ

Data Alignment และ Trimming

มักมีปัญหาในการ Alignment และไม่รองรับ Trimming

รองรับทั้งการ Alignment และ Trimming

การใช้งาน

พัฒนา หรือทดสอบซอฟต์แวร์บนระบบปฏิบัติการต่าง ๆ, ใช้กับ Hyper-V เหมาะสำหรับงานที่ต้องการ Backward Compatibility

ใช้ในระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ และต้องการประสิทธิภาพ ความเสถียรภาพ 


ทั้ง VHD และ VHDX ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานของระบบจำลอง (Virtual environments) ซึ่ง VHX มีข้อดีตรงที่อยู่มานาน จึงสามารถใช้งานได้ในวงกว้าง มี VM ที่รองรับเยอะ ในขณะที่ VHDX เป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่า แต่ก็แลกมาด้วยการสนับสนุนที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มันมีเครื่องมือสำหรับแปลงไฟล์ VHD เป็น VHDX และแปลง VHDX เป็น VHD ให้ใช้งานได้อยู่ ดังนั้น การตัดสินใจเลือกจึงสามารถเลือกใช้ได้ค่อนข้างอิสระอย่างไม่ต้องกังวลมากนัก


ที่มา : www.makeuseof.com , en.wikipedia.org , www.vinchin.com

0 VHD+%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+VHDX+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น