ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

6 ความล้มเหลวน่าจดจำ ที่ Microsoft เคยพลั้งพลาด

6 ความล้มเหลวน่าจดจำ ที่ Microsoft เคยพลั้งพลาด

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 1,919
เขียนโดย :
0 6+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B3+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88+Microsoft+%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

6 ความล้มเหลวน่าจดจำ ที่ Microsoft เคยพลาด

ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ครองตำแหน่งบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดมาอย่างยาวนาน (ถึงจะเพิ่งถูก NVIDIA แซงได้สำเร็จไปชั่วคราวเมื่อไม่นานมานี้) โดยเริ่มสร้างประวัติศาสตร์เจ้าพ่อบริษัทซอฟต์แวร์มาตั้งแต่ 4 เมษายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518)

บทความเกี่ยวกับ Microsoft อื่นๆ

แน่นอนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงตอนที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้อยู่ Microsoft ก็ผ่านการเดินทางมากว่า 49 ปีแล้ว มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากมายที่ Microsoft ได้พัฒนาออกมา ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกผลิตภัณฑ์จะประสบความสำเร็จ ดังภาษิตไทย "สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง" บางโครงการเจ๊งจนทำให้ Microsoft สูญเงินไปหลายล้านดอลลาร์ แต่พี่เค้ารวย ไม่สะเทือนขนหน้าแข้งอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ เรามาย้อนรอยประวัติศาสตร์ความล้มเหลวของผลิตภัณฑ์ที่ Microsoft เคยทำพลาดกันสักหน่อยดีกว่า ว่ามีตัวไหนน่าสนใจบ้าง ?

เนื้อหาภายในบทความ

  1. Windows 8 ระบบปฏิบัติการที่เปลี่ยน UI จนผู้ใช้งง
    (Windows 8 OS that changes the UI to the point of confusing users)
  2. Internet Explorer เว็บเบราว์เซอร์ ที่หยุดพัฒนา
    (Discontinuation of development of Internet Explorer)
  3. Windows Phone ระบบปฏิบัติการ ที่ไม่มีผู้พัฒนาให้ความสนใจ
    (Windows Phone OS has developer is interested in)
  4. Mixer แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมที่ท้าชนเจ้าตลาด
    (Mixer, a live streaming platform that challenges market leaders)
  5. Clippy ผู้ช่วยไร้ประโยชน์ แถมน่ารำคาญ
    (Clippy is a useless and annoying assistant)
  6. Zune เครื่องเล่นเพลงที่ออกมาสู้ iPod แต่สายเกิน
    (Zune, a music player that competes with the iPod, but is too late)

1. Windows 8 ระบบปฏิบัติการที่เปลี่ยน UI จนผู้ใช้งง (Windows 8 OS that changes the UI to the point of confusing users)

Microsoft เปิดตัวระบบปฏิบัติการ Windows 8 โดยมาพร้อมกับการออกแบบ ส่วนประสานงานกับผู้ใช้ (User Interface - UI) แบบใหม่ มีการเปลี่ยนหน้าตาของ "เมนู Start" เป็นโฉมใหม่ ที่พอคลิกเปิด จะแสดงผลแบบเต็มหน้าจอ และมี "Live Tiles" ให้ผู้ใช้งานเลือก "แตะ" เพื่อเปิดใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องการได้ทันที

เหตุผลที่ Microsoft เลือกการออกแบบในแนวทางนี้ ก็มาจากความนิยมของแท็บเล็ตที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก ตลาดโน้ตบุ๊กในเวลานั้น ก็เลยพยายามแข่งขันด้วยการเปิดตัวโน้ตบุ๊คแบบไฮบริด ใส่หน้าจอแบบสัมผัสเข้ามา สามารถพับหน้าจอเพื่อเปลี่ยนร่างจากโน้ตบุ๊คเป็นแท็บเล็ตได้ ทำให้ Windows 8 มี UI ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานกับหน้าจอสัมผัสเป็นหลัก

แต่การเปลี่ยนแปลง UI ในครั้งนี้ ทำให้ผู้ใช้งานที่เคยชินกับ UI ของระบบปฏิบัติการ Windows แบบดั้งเดิมมาเป็นเวลากว่าหลายสิบปีไม่ปลื้มอย่างแรง จนมันถูกประณามว่าเป็นหนึ่งใน Windows เวอร์ชันที่แย่ที่สุดที่เคยมีมา จนทาง Microsoft ต้องแก้ไขด้วยการนำ UI แบบเดิมกลับมาในระบบปฏิบัติการ Windows 8.1

หลังจากได้รับประสบการณ์อันเลวร้ายใน Windows ก็ดูเหมือนว่า Microsoft จะเข้าใจแล้วว่า ควรเข้าใจความคิดของผู้บริโภค อย่าเปลี่ยนแปลง หรือตัดคุณสมบัติที่ผู้ใช้งานรักออกไป โดยคิดแทนว่ามีของใหม่ที่ดีกว่ามานำเสนอ ซึ่งเมื่อเราดูจากระบบปฏิบัติการ Windows 10 ที่นำเอาจุดดีของ Windows 7 และ Windows 8 มารวมกัน หรือใน Windows 11 ก็จะเห็นได้ชัดว่า แม้จะมีการปรับ UI หลายส่วน แต่กลิ่นอายของ Windows 10 ก็ยังคงถูกเก็บเอาไว้อยู่

2. Internet Explorer เว็บเบราว์เซอร์ ที่หยุดพัฒนา (Discontinuation of development of Internet Explorer)

สำหรับ โปรแกรม Internet Explorer (IE) เป็น เว็บเบราว์เซอร์ที่พัฒนาโดย Microsoft เปิดตัวมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) ด้วยความที่มันเป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ทำให้มันมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากตามไปด้วยโดยปริยาย

ในช่วงแรกทีมพัฒนาของ IE มีไฟแรง ขยันอัปเดตสร้างสรรค์คุณสมบัติการทำงานใหม่ ๆ เพิ่มลูกเล่นใหม่เข้าไปอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อ IE ประสบความสำเร็จขึ้นแท่นเว็บเบราว์เซอร์อันดับหนึ่งในท้องตลาดต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปีอย่างไร้คู่แข่ง มันส่งผลให้ Microsoft เกิดความได้ใจ ตอนหลัง IE แทบจะไม่มีการอัปเดตใส่นวัตกรรมใหม่เข้ามาเลย รวมถึงปัญหาด้านความปลอดภัย และความเร็วในการทำงานก็ค่อย ๆปรากฏขึ้นมา

ด้วยทัศนคติอันเกียจคร้านเช่นนั้น Microsoft ได้เปิดช่องว่างให้คู่แข่งฉวยโอกาสเข้ามาแย่งส่วนแบ่งเว็บเบราว์เซอร์ ทั้ง Chrome จาก Google และ Firefox จาก Mozilla ซึ่งในปัจจุบันนี้ คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว Chrome ยืนหนึ่งมายาว ๆ ส่วน IE ก็มีหน้าที่แค่เอาไว้ใช้ดาวน์โหลด Chrome เท่านั้น

ถึงแม้ว่า Microsoft จะไม่เคยนำความยิ่งใหญ่กลับมาสู่ Internet Explorer ได้สำเร็จอีกครั้ง แต่มันก็เป็นรากฐานในการพัฒนา Microsoft Edge เว็บเบราว์เซอร์ตัวใหม่ที่ได้รับการออกแบบใหม่หมด รองรับมาตรฐานใหม่, ความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง 

อย่างไรก็ตาม แม้ Microsoft Edge จะถือว่าทำได้ดี แต่ดูเหมือนมันก็ยังไม่ดีพอที่จะเปลี่ยนใจผู้ใช้ Chrome ให้กลับมาลองได้ ในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) Microsoft ก็เลยปรับปรุงครั้งใหญ่อีกครั้ง นำ Chromium engine มาใช้พัฒนาเว็บเบราว์เซอร์ Edge เพื่อให้ผู้ใช้งาน Chrome อยู่ สามารถย้ายมาใช้งานได้ง่ายขึ้น แถมยังสามารถติดตั้งส่วนขยาย (Extension) จาก Chrome ลงบน Edge ได้อีกด้วย

6 ความล้มเหลวน่าจดจำ ที่ Microsoft เคยพลั้งพลาด
ภาพจาก : https://datainnovation.org/2022/06/visualizing-the-market-share-of-web-browsers/

3. Windows Phone ระบบปฏิบัติการ ที่ไม่มีผู้พัฒนาให้ความสนใจ (Windows Phone OS has developer is interested in)

Microsoft ได้เข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนด้วยการเปิดตัว Windows Phone ในปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) ที่มีการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจาก iOS และ Android โดยเป็น UI แบบ Tile-based เป็นกล่องที่มีตัวอักษร นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นเจ๋ง ๆ อีกมากมายที่มาก่อนกาล อย่างเช่น สามารถต่อหน้าจอเพื่อเปลี่ยนการทำงานจากสมาร์ทโฟนเป็นคอมพิวเตอร์, แอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อซื้อทีเดียวใช้ได้ทั้งใน PC และสมาร์ทโฟน 

อย่างไรก็ตาม Windows Phone กลับไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ก็มาจากการที่มันไม่มีแอปพลิเคชันมารองรับมากพอ เนื่องจากนักพัฒนาให้ความสนใจน้อยมาก ในขณะที่ iOS และ Android มีแอปพลิเคชันให้ดาวน์โหลดมาเล่นมากมาย ผู้ใช้ Windows Phone ได้แต่มองตาปริบ ๆ

แม้ภายหลัง Microsoft จะออก เครื่องมือ SDK ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถเขียนโค้ดพัฒนาแอปเพียงครั้งเดียว แต่สามารถนำแอปไปทำงานได้ทั้งบน Windows Phone, iOS และ Android ออกมา แต่มันก็ช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะอย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า UI ของ Windows Phone มันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้นักพัฒนาต้องออกแบบใหม่หมดอยู่ดี แถม Microsoft ยังขยันอัปเดต API หลังบ้าน พออัปเดตเวอร์ชัน ก็ต้องแก้ไขแอปใหม่เกือบหมด

ทำให้การพัฒนาแอปพลิเคชันลง Windows Phone สิ้นเปลืองทั้งเวลา และทรัพยากร ในขณะที่ผู้ใช้ Windows Phone ก็มีจำนวนน้อยนิด ถ้ามองในมุมเจ้าของธุรกิจ ก็คงไม่มีใครอยากเสียเวลา และเงินทำแอปพลิเคชันลง Windows Phone ใช่ไหม ?

ถึงจะขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ Microsoft ก็ยังพยายามดิ้นรนด้วยการเข้าซื้อธุรกิจสมาร์ทโฟนมาจาก Nokia เพราะจากประสบการณ์ Microsoft ได้เรียนรู้แล้วว่าสมาร์ทโฟนที่ดีนั้นฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์จะต้องทำงานร่วมกันได้ดี และมีผู้ผลิต OEM ช่วยสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างสายเกินไป ในที่สุด Microsoft ก็ยุติการพัฒนา Windows Phone ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2559) แล้วหันมาพัฒนาบริการ และแอปพลิเคชันที่ทำงานแบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-platform) แทน อย่าง Office และ OneDrive มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันเหล่านี้ให้ใช้งานได้ทั้งบน iOS และ Android ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม

6 ความล้มเหลวน่าจดจำ ที่ Microsoft เคยพลั้งพลาด
ภาพจาก : https://blogs.windows.com/windowsexperience/2014/08/05/windows-phone-folders-a-new-way-to-organize-your-start-screen/

4. Mixer แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมที่ท้าชนเจ้าตลาด (Mixer, a live streaming platform that challenges market leaders)

ในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559 Microsoft ได้เข้าซื้อกิจการ Beam แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีม แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Mixer โดยหวังว่าจะสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าตลาดอย่าง Twitch และ YouTube Gaming มาได้บ้าง โดย Mixer มีจุดแข็งที่นำเสนอค่า Latency ในการสตรีมที่ต่ำกว่าคู่แข่ง และรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้หลากหลายกว่า แถมยังใส่มาในเครื่องเกม Xbox One เพื่อให้ผู้เล่นสามารถสตรีมเกมถ่ายทอดสดได้อย่างง่ายดาย

แต่ Mixer ก็ประสบปัญหาในการหาผู้ใช้ เพราะเจ้าตลาดอยู่มานาน มีแฟนคลับในแพลตฟอร์มเดิมเยอะอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากจะมาเริ่มต้นบนแพลตฟอร์มใหม่

แม้ทาง Microsoft จะพยายามดึงดูดผู้ชมด้วยการทุ่มเงินจ้างเกมเมอร์ที่มีชื่อเสียงให้ย้ายมาสตรีมบน Mixer อย่าง Shroud และ Ninja แต่มันก็ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าได้ไม่เพียงพอ จนในที่สุด Mixer ก็ต้องปิดตัวลงในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) เปิดได้แค่ 4 ปีเท่านั้นก็ต้องพับเสื่อกลับบ้านไป

หลังจากปิดตัว Mixer ไป ทาง Microsoft เลือกที่จะหันไปจับมือเป็นพันธมิตรกับ Facebook Gaming แทน เพื่อสนับสนุนให้สตรีมเมอร์ย้ายมายังแพลตฟอร์มนี้แทน และไม่เคยหวนกลับไปลงทุนในแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมอีกเลย

6 ความล้มเหลวน่าจดจำ ที่ Microsoft เคยพลั้งพลาด
ภาพจาก : https://mixer-interactive-streaming.en.softonic.com/web-apps?ex=RAMP-2046.0

5. Clippy ผู้ช่วยไร้ประโยชน์ แถมน่ารำคาญ (Clippy is a useless and annoying assistant)

Clippy หรือ Clippit เป็นผู้ช่วยเสมือนที่ถูกเปิดตัวมาพร้อมกับ Office 97 โดยคาดหวังว่ามันจะสามารถช่วยเหลือผู้ใช้งานในขณะที่ใช้งานอยู่ได้ แต่ผลปรากฏว่ามันไม่เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ได้ดีพอ มักนำเสนอทางเลือกที่ผู้ใช้ไม่ต้องการ และปรากฏตัวขึ้นแบบไม่ได้รับเชิญ ส่งผลให้ผู้ช่วยตัวนี้ทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่รู้สึกหงุดหงิด ไม่ก็รำคาญ กระแสตอบรับที่เลวร้าย ส่งผลให้ Microsoft ลบคุณสมบัตินี้ออกไปใน Office 2007

6 ความล้มเหลวน่าจดจำ ที่ Microsoft เคยพลั้งพลาด
ภาพจาก : https://www.reddit.com/r/nostalgia/comments/sa3ypb/clippy_clippit_microsoft_office_97/

แม้จะมีบทเรียนจากความล้มเหลวของ Clippy มาแล้ว แต่ Microsoft ดูเหมือนจะยังไม่หนำใจ พยายามแก้มือใหม่อีกครั้งด้วยโปรเจค Cortana แม้จะทำการบ้านมาแล้ว ลดการรบกวนผู้ใช้งาน แต่ผู้ใช้ก็ไม่นิยมใช้มันอยู่ดี เนื่องจากคุณสมบัติการใช้งานที่ด้อยกว่าคู่แข่ง และพยายามทำเหมือนเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ (แต่เข้าใจผิด) สุดท้าย Cortana ก็ถือเป็นโครงการที่ล้มเหลวอยู่ดี

เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ล่าสุด Microsoft ได้เปิดตัว Copilot คราวนี้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ ทำให้มันฉลาดขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ Copilot จะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวก็ต้องดูกันต่อไปอีกสักระยะ

6. Zune เครื่องเล่นเพลงที่ออกมาสู้ iPod แต่สายเกิน (Zune, a music player that competes with the iPod, but is too late)

Apple เปิดตัวเครื่องเล่นเพลง iPod ออกมาในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่า iPod ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนเหมือนเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของ วัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) การมาของ iPod ทำให้มีหลายบริษัทผลิตเครื่องเล่นเพลงออกมาขายมากมาย ท่ามกลางสมรภูมินั้นเอง Microsoft ก็เลือกที่จะกระโจนลงมาในทะเลแดงแห่งนี้ ด้วยการเปิดตัว Zune เครื่องเล่นเพลงที่มาพร้อมกับฮาร์ดแวร์สุดล้ำสมัย อย่าง การ Sync ข้อมูลแบบไร้สาย แต่ดูเหมือนมันจะมาช้าเกินไป ยอดขายของ Zune ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก

Zune เข้าตลาดสายเกินไป มันเป็นช่วงเวลาที่ iPod ได้ติดลมบนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงระบบนิเวศที่สู้ทาง Apple ไม่ได้ เพราะจุดแข็งของ iPod คือ iTunes ร้านค้าเพลงดิจิทัลที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้มาก ๆ

เรียนรู้จากความผิดพลาด เราจะสังเกตเห็นว่า Microsoft ในปัจจุบัน เวลามีการพัฒนาฮาร์ดแวร์จะมีความเอาใจใส่ อย่าง Surface เราจะมองเห็นความประณีตในการออกแบบ และระบบนิเวศที่ดีมากขึ้น มีจุดขายเฉพาะตัวเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง


จะเห็นได้ว่าทุกความล้มเหลวก็ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่เสมอไป เราสามารถเรียนรู้บางสิ่งจากมัน เพื่อนำมาพัฒนาสิ่งใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ ? Microsoft อาจจะมีอะไรที่ผิดพลาดเกิดขึ้นอีก แต่ตราบใดที่บริษัทยังไม่หยุดที่จะพัฒนา มันก็เดินหน้าต่อได้เสมอ ....


ที่มา : www.howtogeek.com

0 6+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B3+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88+Microsoft+%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น