ในสถานการณ์ที่ต้องพึ่งพาระบบออนไลน์เป็นหลัก แน่นอนว่าระบบการทำงานก็ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น New Normal ไปโดยปริยาย อย่างเช่นการทำงานเอกสารกับกระดาษ ปากกา ก็เปลี่ยนมาเป็นการทำงานบนคอมพิวเตอร์และ ลายเซ็นอิเล็คทรอนิกส์ (E-Signature) แต่ในขณะนี้ เชื่อว่าหลายคนยังสงสัยว่า E-Signature คืออะไร ? ใช้งานอย่างไร ? สะดวกเหมือนการเซ็นเอกสารปกติไหม ? มาอ่านต่อกันเลย ...
E-Signature จริง ๆ แล้วตัวเต็ม ๆ ของมันก็คือ คำว่า "Electronic Signature" แปลเป็นไทยได้ว่า ลายมือชื่ออิเล็คทรอนิกส์ คือ สายเส้นที่บ่งบอกถึงข้อมูล เอกลักษณ์ ตัวตนของเจ้าของลายเซ็นนั้น ๆ ในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ แต่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 (พ.ศ. 2001) ได้ให้นิยามของลายเซ็นดิจิทัลว่า
อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น
หลายคนอาจจะเข้าใจ หรือเกิดความสับสนว่า ลายเซ็น E-Signature กับลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) นั้นเป็นลายเซ็นแบบเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้ว ลายเซ็นทั้งสองแบบนี่มีความแตกต่างกัน ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยและรูปแบบของลายเซ็น ซึ่งลายเซ็นดิจิทัลจะถูกใช้ในเอกสารที่จำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยของข้อมูล หรือเอกสารที่ต้องยืนยันความถูกต้อง ป้องกันการปลอมแปลง มีลักษณะเฉพาะบางอย่างเพื่อยืนยันตัวตนเจ้าของลายเซ็น เช่น ลายนิ้วมือที่ฝังลงในเอกสาร และต้องเป็นลายเซ็นที่มีใบรับรองจากองค์กรที่ได้รับอนุญาตให้ออกใบรับรองลายเซ็นดิจิทัล
ในขณะที่ E-Signature สามารถเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบอื่น ๆ ได้นอกจากลายเซ็น เช่น วาจา โลโก้หรือภาพวาดที่ถูกออกแบบ หรือแม้แต่ลายเซ็นบนกระดาษที่ถูกแสกนเข้าไปในคอมพิวเตอร์ มีจุดประสงค์หลัก คือ ใช้ในการลงนามในสัญญา ข้อตกลงระหว่างบุคคล องค์กรที่ต้องใช้ลายเซ็นเป็นเครื่องยืนยัน แม้ลายเซ็น E-Signature จะตรวจสอบได้ว่าเจ้าของลายเซ็นนั้นคือใคร แต่ก็ทำได้ยากกว่าลายเซ็นดิจิทัล เนื่องจาก E-Signature เป็นลายเซ็นที่ไม่มีใบรับรองจากองค์กรที่ออกใบรับรองดิจิทัลให้นั่นเอง
ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) | ลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) |
|
|
ความเป็นมาของ E-Signature นั้น มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 (พ.ศ. 2519) เริ่มต้นจาก Whitfield Diffie และ Martin Hellman ที่เป็นผู้คิดค้นแนวคิดเกี่ยวกับ E-Signature เป็นครั้งแรก โดยใช้อัลกอริธึม RSA และพัฒนาจนกลายเป็นซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Lotus Notes 1.0 สำหรับใช้งานร่วมกับ E-Signature ในปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531)
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) เป็นปีแห่งการอัปเดตคุณสมบัติของไฟล์ PDF ให้สามารถฝังลายเซ็น E-Signature ลงในไฟล์ได้ ต่อมา มีการออกพระราชบัญญัติลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์และการค้าแห่งชาติ (Electronic Signatures in Global and National Commerce Act หรือ ESOGN) ในปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) เพื่อเป็นกฎหมายกลางจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงลายเซ็น E-Signature เพื่อทำการค้าระหว่างรัฐและประเทศอื่น ๆ รวมถึงมาตรการ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่ E-Signature มีผลทางกฎหมายของเอกสาร สัญญาอิเล็กทรอนิกส์
ภาพจาก : https://www.signix.com/blog/bid/108804/infographic-the-history-of-digital-signature-technology
ในสถานการณ์ที่ต้องติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้การทำงานบนเอกสารและไฟล์ถูกใช้งานบนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ มากกว่า E-Signature จึงเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก รวมถึงโปรแกรมที่รองรับก็จะมีฟีเจอร์จัดการเอกสาร ทำหน้าที่แทนพนักงานได้มากมาย ทั้งการรับ-ส่งเอกสาร, การติดตามความคืบหน้าในกรณีที่ส่งเอกสารให้ผู้ตอบรับเซ็นเป็นจำนวนมาก ไปจนถึงการเซ็นเอกสารออนไลน์เพื่อจ่ายเงินก็ทำได้
ส่วนการใช้ลายเซ็นนั้นก็เปลี่ยนจากการใช้ปากกา มาเป็น E-Signature แทน แต่ยังมีข้อติดขัดที่ การเซ็นลายเซ็นแบบนี้จะต้องใช้ร่วมกับปากกาที่เขียนบนหน้าจอ และหน้าจอของอุปกรณ์นั้น ๆ ก็จะต้องรองรับการเขียนเช่นกัน หากใครไม่ใช้เมาส์ปากกา หรือปากการ่วมกับแท็บเล็ต ก็จะต้องใช้เมาส์หรือนิ้วมือเพื่อเซ็นลายเซ็นกันไป
นอกเหนือจากการเซ็นด้วยปากกาบนหน้าจอ อีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ใช้งาน E-Signature อย่างสะดวกก็คือ การสร้างไฟล์ลายเซ็นขึ้นมา แล้วนำไปใช้งานบนเอกสารนั้น ๆ แต่นี่ก็เป็นวิธีที่มีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย เพราะถ้าใครมีไฟล์ลายเซ็นของพนักงานคนอื่น ๆ หรือผู้บริหารในมือ ก็สามารถนำไปปลอมแปลงเอกสารได้ ฉะนั้น การใช้งาน E-Signature ร่วมกับเอกสารออนไลน์ จึงต้องมีมาตรการปกป้องความปลอดภัยของเอกสาร
ส่วนประเภทของ E-Signature ในไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society หรือ MDES) ได้ระบุถึงประเภทของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป เป็นลายเซ็น E-Signature ที่ประกอบด้วยอักขระ ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่จำกัดว่าเป็นลายเส้นเท่านั้น เช่น การพิมพ์ลงชื่อไว้ข้างท้ายอีเมล, ไฟล์ลายเซ็นบนกระดาษที่ถูกแสกนเข้าไปในคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การคลิกปุ่มตอบรับ ตกลงในข้อมูลใด ๆ ไปจนถึงการใช้งานระบบอัตโนมัติที่มีการระบุว่าผู้ตอบ ผู้ลงข้อมูลนั้นคือใคร ก็คือว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน
ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ เป็นลายเซ็น E-Signature ที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้มาตรา 26 พระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 นอกจากนี้ ทาง ETDA ยังยกตัวอย่าง E-Signature ประเภทที่ 2 ว่า เป็นลายเซ็นที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure: PKI) เริ่มจากผู้ใช้บริการ ทำคำขอใช้บริการใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยื่นขอผ่านทางเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียน
หลังจากนั้น เรื่องจะถูกส่งต่อไปยังองค์กรผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority) เพื่อรับรองตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้บริการ และทำการบันทึกข้อมูลไปยัง ที่บันทึกข้อมูล (Repository) เพื่อสามารถสืบค้นตัวตนได้ในภายหลัง
ส่วนลายเซ็น E-Signature ประเภทที่ 3 นั้น มีลักษณะคล้ายกับประเภทที่ 2 แต่มีความแตกต่างกันตรงที่การใช้งาน จะต้องอาศัยใบรับรองที่ได้มาจากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ร่วมด้วย ตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ทั้งปฏิบัติตามแนวนโยบายและแนวปฏิบัติที่ผู้ให้บริการออกใบรับรองได้แสดงไว้ และจัดให้มีวิธีการเข้าถึงโดยสมควร ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถค้นหา ตรวจสอบเกี่ยวกับการระบุตัวตนของเจ้าของลายเซ็นนั้น ๆ ได้
การใช้งานลายเซ็น E-Signature ในไทยนั้นอาจไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวนัก เนื่องจากบุคลากรส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการลงลายมือชื่อออนไลน์ ประกอบกับอุปกรณ์เสริมอย่างปากกา Stylus ไม่นิยมใช้ในไทยอย่างแพร่หลาย หากจำเป็นต้องสร้างลายเซ็น E-Signature ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะเป็นการใช้นิ้วมือตวัดบนหน้าจอ หรือใช้เมาส์ทั่วไปเขียนลายเซ็นมากกว่า
ส่วนมาตรฐานการใช้งาน E-Signature ในไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พัฒนาการใช้งานธุรกรรมออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ว่าด้วย "ข้อเสนอแนะมาตรฐานฯ ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ ขมธอ. 23-2563" (Electronic Signature Guideline) ที่กล่าวถึงประเภทของ E-Signature ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และองค์ประกอบของ E-Signature ดังต่อไปนี้
ตารางแสดงประเภทและองค์ประกอบของ E-Signature
ภาพจาก : https://standard.etda.or.th/?p=11755
จากตารางด้านบนจะเห็นได้ว่า การพิสูจน์ตัวตนในลายเซ็น E-Signature และลายเซ็นดิจิทัลของไทยนั้น มีการนำวิธีการพิสูจน์ตัวตน (IAL) และยืนยันตัวตน (AAL) เข้ามาใช้งานร่วมด้วย เนื่องจากทาง ETDA ระบุนิยามของลายเซ็นประเภทที่ 2 ว่า "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้" และลายเซ็นประเภทที่ 3 ไว้ว่า "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งใช้ใบรับรองที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง" ซึ่งลายเซ็นทั้งสองแบบนี้จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ IAL และ AAL แล้วเกณฑ์ทั้ง 2 แบบนี้ คืออะไร และมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
IAL คือ ระดับความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวตน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ซึ่ง IAL ระดับที่ 1 แบ่งออกเป็น 3 ระดับย่อย ๆ แต่เป็นการใช้บัตรประชาชนและหนังสือเดินทาง (Passport) ยืนยันตัวตนซึ่งสามารถทำได้ทั่วไป แต่ในลายเซ็นดิจิทัลในไทยนั้น จะต้องพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL 2 ขึ้นไป และยืนยันตัวตนที่ระดับ AAL 2 จะเห็นได้ว่านอกจากการแสดงตนแบบพบเห็นต่อหน้า การใช้บัตรประชาชนหรือ/และ Passprt ยังมีวิธีการพิสูจน์ตัวตนแบบอื่น ๆ เช่น ภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์
ภาพจาก: https://standard.etda.or.th/?p=10132
AAL คือ ระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ (Authenticator) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับเช่นเดียวกับ IAL ซึ่ง AAL ที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาส ความผิดพลาดในการยืนยันตัวตน โดยเทคโนโลยีที่ใช้ใน AAL ทั้ง 3 ระดับก็คือ Single-Factor Authentication และ Multi-Factor Authentication
ภาพจาก: https://standard.etda.or.th/?p=10132
สำหรับหน่วยงานที่ให้บริการออกใบรับรองลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในไทย บางคนอาจยังไม่ทราบว่าไปขอใบรับรองได้ที่ไหน ซึ่งเราได้รวบรวมหน่วยงานที่พร้อมให้บริการในส่วนนี้แล้ว ซึ่งทุกที่มีบริการทดลองยื่นคำขอเพื่อขอใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เพราะเป็นกระบวนการ ธุรกรรมที่ต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ และมีค่าใช้จ่ายในการยื่นคำขอจริง จึงทำให้ต้องมีการทดลองเสียก่อน สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย
น่าจะเป็นหน่วยงานกลางของผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดเลยก็ว่าได้ สำหรับ "ผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ" (NATIONAL ROOT CERTIFICATION AUTHORITY OF THAILAND: NRCA) ซึ่งที่นี่ให้บริการทั้งการออกใบรับรองลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ และตรวจสอบสถานะใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ (ผ่านโปรแกรม OpenSSL) ส่วนขั้นตอนการขอใบรับรองอิเล็กทรนิกส์ สามารถทำได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
เมื่อเตรียมเอกสารในข้อ 1 และข้อ 2 เรียบร้อยแล้ว ให้นำแบบคำขอพร้อมหลักฐานต่าง ๆ มายื่นต่อเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียน (Registration Authority: RA) ของ Thailand NRCA ด้วยตัวเองเพื่อตรวจสอบและอนุมัติแบบคำขอ ที่สำนักงานตามที่อยู่ข้างล่างนี้
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
อาคารเดอะ ไนน์ ทาวเวอร์ แกรนด์ พระรามเก้า (อาคารบี)
ชั้น 20-22 เลขที่ 33/4 ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
หมายเลขโทรศัพท์ 0-2123-1234
โทรสาร 0-2123-1200
หลังจากยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว กระบวนการตรวจสอบเอกสารและออกใบรับรองจะเป็นไปตามแผนผังด้านล่างนี้
ภาพจาก: https://www.nrca.go.th/content/certification-service-register.html
บริษัท ไทยดิจิทัล ไอดี จำกัด หรือ Thai Digital ID (TDID) ที่นี่เป็นผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ประเภทบุคคล (Personal Certificate) ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ประเภทนิติบุคคล (Enterprise Certificate) ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเจ้าหน้าที่นิติบุคคล (Enterprise User Certificate) รวมถึงใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ประเภทเว็บไซต์ (SSL Certificate) และคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ (Computer/Equipment Certificate) เรียกได้ว่าครอบคลุมในทุกจุดของกระบวนการธุรกรรมออนไลน์เลยทีเดียว
ภาพจาก: https://www.thaidigitalid.com/certificate/
นอกจากนี้ ทาง Thai Digital ID ยังมีบริการซอฟต์แวร์ลงลายเซ็น E-Signature และลายเซ็นดิจิทัล ในชื่อว่า PDF DigSig มีทั้งฟีเจอร์การใช้งานที่หลากหลาย เช่น การกำหนดตำแหน่งของลายเซ็นได้อย่างอิสระ การเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร, การใช้งาน Digital Timestamp, การระบุสถานที่และเหตุผลในการลงลายเซ็นและมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ทำงานร่วมกับคู่กุญแจแบบอสมมาตร (Asymmetric Key) ตามมาตรฐาน PKCS#11 และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์จาก TDID CA ที่จัดเก็บในอุปกรณ์ Hardware Security Module – HSM
INET CA (Certificate Authority) โดยบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งที่นี่ได้รับการประกาศรับรองจาก Thailand NRCA ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ให้เป็นผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ประเภทบุคคล (Personal Certificate) และประเภทนิติบุคคล (Enterprise Certificate) เพื่อรับรองตัวตนของผู้ใช้บริการ สำหรับนำไปใช้ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และยังได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล WebTrust Principles and Criteria for Certification Authorities v2.1 (WebTrust for CAs)
ภาพจาก: https://ca.inet.co.th/inetca/certDetail.html
ภายในเว็บไซต์ ca.inet.co.th/inetca เปิดให้บริการทั้งการยื่นขอใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ หรือจะทดลองใช้บริการก่อนก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีบริการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์พร้อมแพลตฟอร์มในตัว ในชื่อว่า OneESgin ภายใต้กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 29110 อีกด้วย
ภาพจาก: https://ca.inet.co.th/inetca
การใช้งาน E-Signature บนเอกสารออนไลน์จำเป็นต้องมาระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา รัดกุม ประกอบกับการทำงานเอกสารบนคอมพิวเตอร์หรือพื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage) เป็นหลัก บางคนอาจไม่คุ้นชินว่าจะทำงานอย่างไรให้ใกล้เคียงกับเอกสารฉบับพิมพ์ (Hard Copy) จึงต้องมีตัวช่วยอยากโปรแกรมจัดการลายเซ็นบนเอกสารออนไลน์
โปรแกรม Adobe Sign Business เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ต้องการระบบรองรับเอกสารและ E-Signature เซ็นแบบออนไลน์ รับ-ส่งเอกสารได้อย่างรวดเร็ว ใช้เป็นช่องทางการจ่ายเงินได้หลังจากลงลายเซ็นเรียบร้อย ใช้งานได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการ Windows, Mac OS, สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงโปรแกรมเอกสารอย่าง ชุดโปรแกรม Microsoft Office, บริการ Dropbox และ Salesforce เป็นต้น
ภาพจาก : https://acrobat.adobe.com/us/en/sign/business.html
โปรแกรม Adobe Sign Enterprise เรียกว่าเป็นเวอร์ชันอัปเกรดของโปรแกรม Adobe Sign Business ก็ว่าได้ เพราะมีบางฟีเจอร์เพิ่มเติมขึ้นมา เช่น เปรียบเทียบความแตกต่างไฟล์ PDF ต้นฉบับและไฟล์แก้ไข, อัปโหลดไฟล์วิดีโอ รูปภาพเข้าไปในไฟล์ PDF ได้, โอนสิทธิ์การดูแลเอกสารไปให้พนักงานคนอื่นแทนได้ ในกรณีที่พนักงานคนเดิมลาออก, ทำงานร่วมกับ Microsoft SharePoint, Microsoft Teams และโปรแกรมอื่น ๆ ได้มากมาย
โปรแกรม Foxit Sign หลายคนอาจจะคุ้นชื่อนี้มาบ้าง เพราะในคอมพิวเตอร์บางคนน่าจะใช้ Foxit Reader สำหรับอ่านไฟล์ PDF ซึ่ง Foxit Sign ก็คือโปรแกรมสำหรับจัดการเอกสารและลายเซ็น E-Signature ทำหน้าที่ทั้งรวบรวมลายเซ็น ติดตามความคืบหน้าการลงลายเซ็นในแต่ละขั้นตอน กระจายเอกสารผ่านทางอีเมล สามารถอัปโหลดเอกสารเก็บไว้ในระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage) ได้อีกด้วย เพื่อการทำงานแบบออนไลน์ไม่มีสะดุด
โปรแกรม Foxit Sign มีให้เลือกถึง 4 เวอร์ชัน ได้แก่
ภาพจาก : https://www.foxit.com/pdf-reader/
นอกจากนี้แล้ว ยังมีช่องทางเว็บไซต์สำหรับสร้างอัปโหลดเอกสาร กำหนดรายชื่อผู้ที่ต้องเซ็น E-Signature ในเอกสารแต่ละชุด ตั้งค่าช่องที่ต้องกรอกข้อมูลและลายเซ็น และรับ-ส่งเอกสารได้ภายในคราวเดียว เช่น Creden.co บริการจากบริษัท Start Up ในไทย, hellosign.com ที่มีให้ใช้งานทั้งบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน, DocHub ที่สามารถแก้ไขโลโก้หรือแบบฟอร์มในเอกสารได้ ฯลฯ
ลายเซ็น E-Signature เป็นการใช้งานออนไลน์ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เพราะในสถานการณ์ที่ต้องพกปะ เจอหน้ากันน้อยลง แต่กระบวนการทำงาน ติดต่องานยังคงอยู่เหมือนเดิม จึงมีวิธีการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว และยังมีความปลอดภัยใกล้เคียงการทำงานรูปแบบเดิม และคาดว่า E-Signature จะแพร่หลายในการทำงานออนไลน์ในอนาคต
|
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ |