ยุคนี้เมื่อมีการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น ทุกคนล้วนเจอกับปัญหาที่ตามมา ก็คือ การถูก สแปม (Spam) ข้อความหรืออีเมลโฆษณา และบางครั้งก็เป็นข้อมูลที่ไม่สลักสำคัญอะไรเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้บางครั้งจะดูเหมือนไม่อันตราย แต่มันก็สร้างความน่ารำคาญไม่น้อย เราลองมาดูเนื้อหากันต่อได้เลย
สแปม (Spam) คือการส่งข้อมูลอะไรก็ตามทั้งที่ผู้รับไม่ต้องการ ทำให้เกิดความรู้สึกรำคาญ ยกตัวอย่าง อีเมล หรือ ข้อความ โปรโมชัน, บริการประกันภัย หรือแม้แต่การส่งข้อความเป็นสติ๊กเกอร์รัว ๆ หาเพื่อนจน แอป LINE ค้าง ก็ถือเป็นการ สแปม (Spam) ด้วยเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ที่พบมาก จะมาในรูปแบบของการโฆษณาที่ส่งหาผู้รับเป็นจำนวนมากในครั้งเดียว
จริง ๆ แล้วที่มาของ สแปม (Spam) มีความเกี่ยวข้อง และ มีความหมายอีกอย่างคือ ชื่ออาหารชนิดหนึ่ง "SPAM"" หรือ แฮมหมูบดอัดกระป๋อง ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารที่ให้พลังงานสูง และ ได้รับความนิยมมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นกำเนิดของมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ทว่าเมื่อสแปม (Spam) ได้มาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต มันดันมีความหมายในเชิงลบไปเสียอย่างนั้น แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนี้
การใช้คำว่า "สแปม" เพื่ออธิบายถึงการส่งข้อมูลถึงผู้รับโดยไม่เต็มใจนั้นอ้างอิงต้นกำเนิดของมันบนรายการทีวีซีรีย์ชื่อดังเรื่องหนึ่ง ที่มีชื่อว่า "Monty Pythons"s Flying Circus" ของอังกฤษ
ปกซีรีย์เรื่อง "Monty Python"s Flying Circus"
ซีรีย์เรื่องนี้ ถือเป็นผลงานที่โด่งดังในยุค 60s - 70s ของคณะตลก "Monty Pythons" ที่ชอบเล่นมุขแนวเสียดสีสังคมในยุคสมัยต่าง ๆ ได้อย่างเหนือชั้น ซึ่งมีการฉายเป็นตอน ๆ และมีเนื้อหาที่แตกต่างกันไป (เหมือน "ตลก 6 ฉาก" ของบ้านเรา)
ในตอนหนึ่งของ "Monty Pythons"s Flying Circus" ได้เกิดมุข "สแปม" ขึ้นมา เป็นตอนที่เซ็ตฉากในร้านอาหาร มีคนแต่งตัวเป็นไวกิ้งนั่งอยู่ในร้าน จากนั้นเมื่อลูกค้าได้ถามถึงเมนูอาหารของร้าน คำตอบที่ได้รับจากแม่ครัวคือเมนูอาหารทุกอย่างของร้านมี "SPAM" เป็นส่วนประกอบทั้งหมด (นาทีที่ 0.32)
เมื่อลูกค้าหญิงคนหนึ่งได้ฟัง ก็บอกว่าตนไม่ชอบ "SPAM" ขอแม่ครัวแนะนำอาหารที่ไม่ใส่ "SPAM" และสิ่งที่ทำให้มันเป็นเรื่องตลกคือแม่ครัวก็ยังพยายามยัดเยียด "SPAM" ให้เธอ พร้อมกับคนในร้านก็กู่ร้องแต่คำว่า "สแปม" ยัดเยียดใส่เธอรัว ๆ เหมือนกับจะบอกว่า ถึงแม้เธอไม่ชอบ แต่เธอก็ต้องกิน จนเรียกเสียงฮากันไป
เหตุการณ์ข้างต้นเป็นการสะท้อนถึง ความนิยมในการรับประทาน 'SPAM' ของคนชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะโซนยุโรป และ อเมริกา การเซ็ตฉากร้านอาหารคือการเปรียบเทียบถึงร้านที่ชอบทำเมนูที่มี SPAM เป็นส่วนประกอบ (พวกเมนู Breakfast ไส้กรอก ไข่ แฮม SPAM) เหมือนกับว่านี่คือวัฒนธรรมของพวกเขาไปแล้ว ถ้าคุณอยู่ที่นั่น จะต้องการหรือไม่ อย่างไรคุณก็ยังต้องกิน SPAM อยู่ดี
จากมุขตลกที่อยู่ในรายการทีวีชื่อดัง ก็เลยถูกคนบนโลกอินเทอร์เน็ตนี่แหล่ะ นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อนิยามถึงการส่งข้อมูลหาผู้รับโดยที่เขาไม่ต้องการ และหลังจากนั้น คำว่า "สแปม" ที่เป็นชื่ออาหารแฮมบดกระป๋อง ก็กลายมาเป็น "สแปม" บนโลกออนไลน์แบบที่เป็นทุกวันนี้
รู้จักที่มาของสแปมไปแล้ว มาเริ่มรู้จักประเภทของสแปมกันบ้าง ซึ่งสามารถเอามาทำอาหารได้หลายอย่างประกอบด้วย การทอด อบ ทานคู่กับแซนวิช ก็ว่ากันไป....ไม่ใช่ ! เราหมายถึง สแปมบนโลกออนไลน์...
การส่งสแปมผ่านอีเมล เช่น แจ้งโปรโมชัน โฆษณา เชื้อเชิญ สมัครบริการนู่นนี่ พบเห็นได้บ่อย และ สร้างความน่ารำคาญ รกหูรกตาในกล่องจดหมายของคุณ สแปมประเภทนี้บางคนอาจชินชาไปแล้ว และวิธีจัดการก็ไม่ยุ่งยากอะไร แค่คุณคอยรายงานเนื้อหาประเภทนั้น ๆ บ่อย ๆ ว่าเป็นสแปม เดี๋ยวระบบก็จะจดจำและคัดกรองอัตโนมัติให้เอง
สแปม SEO (Search Engine Optimization) หรือเรียกว่า "spamdexing" เป็นเทคนิคการใช้ SEO ของเว็บไซต์ เพื่อทำให้เว็บไซต์ของตนติดอันดับค้นหาง่าย ๆ บนอินเทอร์เน็ต โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
เป็นรูปแบบสแปมที่เชื่อว่าหลายคนเคยพบเจอ คือการสแปมบนโลกโซเชียล ที่เคยระบาดหนักอยู่ช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะบน Facebook เหยื่อเป็นร้อยรายจะถูกแท็กพร้อม ๆ กันโดยบัญชีที่ไม่รู้จัก (ซึ่งเป็นบัญชีปลอม) และนักสแปมจะมีการแนบลิงก์ให้กด หากคุณเผลอตัวกดคลิกไป ถ้าโชคดีอาจเป็นแค่ลิงก์โฆษณา หรือ เว็บไซต์ทั่วไป แต่ถ้าโชคร้ายคุณอาจติดไวรัสโดยไม่รู้ตัว
ถ้าเผลอไปสมัครบริการต่าง ๆ ทางมือถือ หรือ เผลอไปกรอกเบอร์โทรศัพท์บนโลกออนไลน์ที่ไหน คุณก็จะเจอกับปัญหา สแปมข้อความผ่าน SMS เป็นเรื่องปกติ และบางครั้งอาจถึงขั้นนำพาคุณไปสู่การถูกฉ้อโกงได้เลย ถ้าข้อความพวกนั้นส่งมาประมาณว่า "คุณคือผู้โชคดี ได้รับทองรูปพรรณหนัก 10 บาท" เป็นต้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธียกเลิกข้อความ ยกเลิก SMS เรียกเก็บเงินจากมือถือ
คล้าย ๆ อีเมล คือส่ง โปรโมชัน โฆษณา เชื้อเชิญ ต่าง ๆ มาผ่านแพลตฟอร์มแชทออนไลน์ หรือ โปรแกรมแชท ต่างๆ อาทิ WhatsApp, Skype, Snapchat เป็นต้น
ในการตรวจสอบว่าข้อมูลใดเป็นสแปม ดูง่ายมากจากแค่หน้าตาของมัน ขั้นแรกให้ตรวจสอบจากชื่อที่อยู่อีเมลก่อน หากชื่อมันดูสุ่มมั่วตัวเลข ตัวอักษร ให้พิจารณาก่อนว่ามันเป็นสแปมแน่นอน เพราะผู้ส่งต้องการปกปิดตัวตน จากนั้นก็ให้ดูที่เนื้อหา โดยประเภทที่พบบ่อยสุด ๆ ก็คือ
สินค้าสุขภาพที่ส่งมาโปรโมทและเป็นสแปม มักมีลักษณะในการบอกสรรพคุณค่อนข้างเกินจริงเพื่อล่อให้คนกดเข้ามาสนใจ เช่น ให้คำปรึกษาทางลัดลดน้ำหนัก, อาหารเสริมที่สรรพคุณดีครอบจักรวาล มาเป็นยารักษาผมร่วง หรือ ประเภทแก้ปัญหาในวัยชราภาพก็มี, ยาทางเลือก สิ่งเหล่านี้หากคลิกหรือตกหลุมพลางเข้าไป คุณก็จะเป็นได้แค่คนไปเพิ่มยอดให้กับเข้าชมใหนักสแปม และ สินค้าเหล่านั้นก็อาจไม่มีอยู่จริงด้วยซ้ำไป หรือไม่พอเข้าไปแล้วเว็บดันไม่ตรงปก
ถ้าส่งมาเป็นเว็บหาคู่ เว็บไซต์ผู้ใหญ่ คุณก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก มันคือสแปมจากเว็บโป๊ ที่คุณไปใช้งานและสมัครบัญชีไว้ และส่วนใหญ่เนื้อหาเหล่านี้ก็จะถูกอีเมลจัดเก็บเป็นประเภทอีเมลขยะอยู่แล้ว อาจไม่ต้องห่วงอะไร
เนื้อหาที่ส่งมาเรื่องความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต หรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นมือถือ พบได้เยอะ เพราะเหล่านักสแปมพยายามจะล่อเหยื่อให้คนที่ไม่เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มาติดกับ พร้อมพ่วงว่าจะมีบริการซอฟต์แวร์ และ ฮาร์ดแวร์เข้ามาแก้ปัญหาให้ จากนั้นก็จะตบท้ายด้วยลิงก์เชิญชวนให้คุณคลิก
นี่เป็นหนึ่งเทคนิคที่สเแปมเมอร์มักใช้บ่อย ๆ และคนติดกับเยอะเหมือนกัน คือการเชื้อเชิญให้สมัครบริการแบบเร่งด่วน ขึ้นข้อความว่าจะได้สิทธิ์รับบริการต่าง ๆ ที่พิเศษเฉพาะเดี๋ยวนั้น แต่ต้องกดสมัครภายใน 2 นาทีเมื่อเปิดอีเมล การกำหนดระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้บางคนไม่มีโอกาสได้ไตร่ตรอง และตกเป็นเหยื่อของการคลิกได้ง่าย ๆ
เนื้อหาแนว เงินกู้ ดอกเบี้ย ชิงโชคลุ้นรับรางวัล หรือ การได้เงินฟรี ๆ เพียงคลิกลิงก์ ข้อความประเภทนี้ไม่ต้องสืบเลย ถือเป็นการสแปมแน่นอนและบางรายอาจโชคร้ายถูกฟิชชิ่ง (Phishing) ให้คลิกลิงก์อันตรายจนถูกล้วงข้อมูลสำคัญไปได้ง่าย ๆ ด้วย
เหล่านักส่งสแปมเลือกคุณเป็นเป้าหมายเพราะในด้านการโฆษณา มันทั้งลงทุนน้อย และ เห็นผลง่าย ถ้าพวกเขามีที่อยู่อีเมล หรือ เบอร์โทร 100 คน ก็มีโอกาสที่ 1 คนจะติดกับ และพวกเขาไม่สนใจอะไรนอกจากการส่งข้อมูลเหล่านั้นหาคนให้ได้เยอะที่สุด ยิ่งเยอะมาก ถี่มาก ก็มีโอกาสที่ของจะขายได้มาก
ปกติถ้าคุณไปสมัครบริการใดและได้รับข้อมูลข่าวสารจากบริการนั้น ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้ามากไป ก็อาจเป็นสแปมได้ แต่อย่างน้อยคุณก็รู้ที่มา กลับกันบริการที่เราไม่ได้สมัคร แต่ทำไมถึงโดนส่งข้อมูลมาสแปมรัว ๆ สาเหตุเกิดจากอะไร ?
คำตอบก็ง่ายมากบริการที่คุณไปสมัคร และได้ข้อมูลของคุณไป พวกเขาบางคนหารายได้เสริม โดยการขายข้อมูลของคุณให้กับบุคคลที่ 3 ซึ่งที่จริงการกระทำเหล่านี้ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายและในประเทศเราก็มีกฎหมายรองรับทั้งในข้อกฎหมาย General Data Protection Regulation (GDPR) และ ข้อกฎหมาย Personal Data Protection Act (PDPA)
ข้อมูลเพิ่มเติม : PDPA คืออะไร ? PDPA หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีประโยชน์กับเราอย่างไร ?
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักสแปม ต้องปลอมแปลงอีเมล เวลาส่งข้อมูลเหล่านั้นมาหาคุณ เพราะไม่ต้องการให้เราเอาผิดเขาได้ง่าย ๆ ทางที่ดีคืออย่าไปสนใจ และ พยายามตรวจสอบข้อมูลเนื้อหาให้ถี่ถ้วนก่อนคลิกอะไร
ขอบคุณภาพประกอบ https://www.kaspersky.co.uk/resource-center/preemptive-safety/protect-yourself-from-spam-mail-using-these-simple-tips
ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยนี้ ทำให้เราสามารถลดความรำคาญของสแปมลงได้ ด้วยกลเม็ดเพียงไม่กี่ข้อ หากคุณต้องการ สามารถเรียนรู้วิธีหยุดการสแปม และ ลดปริมาณสแปมที่ส่งมาในกล่องจดหมายของคุณได้ดังนี้
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Message และ E-mail ต่างก็มีปุ่มให้คุณรายงานสแปมได้สะดวก ๆ อยู่แล้ว หากเราพบเห็นชื่อผู้ใช้ไหน ส่งสแปมหาเราบ่อย ๆ การกดรายงานและบล็อกไปก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้อีเมลเหล่านั้นมารบกวนเราอีก
กลับกัน ถ้าเราคอยเช็คอีเมลที่อยู่ในกล่อง Spam และหาอีเมลที่ไม่ใช่ Spam จากนั้น Remove สถานะ Spam ออกเสีย ก็จะเป็นการช่วยให้ระบบ Filter ของ อีเมลสามารถเรียนรู้และคัดกรองอัตโนมัติได้ง่าย และ แม่นยำมากขึ้น
หากไม่ต้องการให้อีเมลหลักที่ใช้ทำงาน ต้องเจอกับปัญหาสแปม เวลาไปสมัครบริการต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต เช่น เกม หรือ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ก็ควรทำอีเมลปลอมขึ้นมาสัก 1 อันและไปสมัครบริการพวกนั้นแทน เพราะบริการที่กล่าวมาข้างต้น จากประสบการณ์ ถือเป็นสแปมชั้นดีเลยแหล่ะ การใช้อีเมลปลอมแยกมาอีก 1 บัญชีก็ช่วยได้ไม่น้อยในคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ ไปเลย
อย่ามีส่วนร่วมใด ๆ กับอีเมลสแปม หรือ ข้อความสแปม เพียงแค่คุณคลิกลิงก์ หรือ ดาวน์โหลดไฟล์แนบ คุณสามารถกลายเป็นเป้าหมายระยะยาวได้ง่าย ๆ เพราะพวกที่ส่งมา จะคิดว่าคุณใจง่าย
เวลาคุณใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีระบบสมาชิก พยายามอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือ ข้อมูลติดต่อเช่น เบอร์โทรศัพท์ หรือ อีเมลมากนัก ถ้าคุณไม่ได้ทำเพื่อการค้าหรือธุรกิจ การโชว์ข้อมูลส่วนตัวของคุณไม่ได้มีประโยชน์ แต่ มีโทษเสียมากกว่า เพราะโลกออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่สแปมเมอร์ใช้หาข้อมูลผู้ติดต่อในการส่งสแปม
ในโลกออนไลน์มีโปรแกรม ป้องกันสแปม และ ป้องกันโฆษณามากมาย ถ้าคุณลองหยิบมาใช้งานดูบ้าง อาจจะช่วยได้เยอะ ซึ่งบนเว็บไซต์ Thaiware เราก็มีให้ดาวน์โหลดหลายตัว เช่น
ซอฟต์แวร์ป้องกัน SPAM ที่น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้การป้องกัน Spam สำหรับเว็บไซต์ ต่าง ๆ คุณสามารถลองใช้โปรแกรมต่าง ๆ มาช่วยเสริมได้ เช่น CAPTCHA (Completely Automated Public Turing test to tell Computers and Humans Apart) บนระบบ log-in หรือ ระบบพูดคุยในบอร์ดสนทนาของเว็บไซต์
ถ้าพูดถึงสแปม (Spam) และ ฟีชชิ่ง (Phishing) มันอาจมีความใกล้เคียงกันในเรื่องของวิธีการ แต่ต่างกันที่เจตนา สแปมมีเนื้อหาที่สร้างความรำคาญ แต่มันจะไม่ได้มุ่งร้ายต่อคุณ พวกเขาแค่ต้องการขายอะไรบางอย่าง หรือไม่บางรายก็แค่ต้องการยอดคนเข้ามาเห็นสินค้า เลวร้ายสุดก็คือของเหล่านั้นเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ
ในทางกลับกันเมื่อพูดถึง ฟีชชิ่ง (Phishing) นั้นถือเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ การส่งฟีชชิ่ง เป็นการมุ่งร้ายโดยตรงและกำลังต้องการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว เช่นข้อมูลบัตรเครดิต รหัสผ่าน หรือ รหัส Pin ของบริการต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้เลยแหล่ะ
ข้อมูลเพิ่มเติม : Phishing คืออะไร ? รู้จัก การหลอกลวงแบบฟิชชิงทั้งหมด 8 รูปแบบ !
สุดท้ายหวังว่า ข้อมูลเหล่านี้จะมีประโยชน์กับผู้อ่านทุกคน การพบเจอกับสแปมอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยาก แต่คุณก็สามารถป้องกัน และ ระวังตัวได้ เพื่อไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของ สแปม ที่มากเกินไป ขอฝากไว้เพียงเท่านี้
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |