ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

PDF มีกี่ประเภท ? รู้จักกับไฟล์เอกสาร PDF ว่ามีกี่แบบ ? แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ?

PDF มีกี่ประเภท ? รู้จักกับไฟล์เอกสาร PDF ว่ามีกี่แบบ ? แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 19,150
เขียนโดย :
0 PDF+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3+PDF+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

PDF มีกี่ประเภท ? รู้จักกับไฟล์เอกสาร PDF ว่ามีกี่แบบ ?

ไฟล์ PDF (Portable Document Format) น่าจะเป็นไฟล์เอกสารอีกประเภทหนึ่ง ที่แทบทุกคนต้องเคยใช้งานผ่านมือกันมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการส่งงานให้อาจารย์ ฝากเพื่อนพิมพ์งาน หรือจะเป็นการส่งต่อข้อมูลให้ลูกค้าก็นิยมใช้งาน ไฟล์เอกสาร PDF ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกส่งออก (Export) เป็นไฟล์ PDF จะไม่คลาดเคลื่อนไปจากเดิมและแสดงผลเหมือนกันในทุกอุปกรณ์ อีกทั้งเมื่อสั่งพิมพ์ (Print) ออกมาก็ยัง "ตรงปก" เหมือนกับเอกสารที่อยู่ในจอแทบทุกประการ จึงทำให้ไฟล์ประเภทนี้เป็นที่นิยมใช้งานกันเป็นอย่างมาก

บทความเกี่ยวกับ PDF อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : PDF คืออะไร ? PDF ย่อมาจากอะไร ? มาทำความรู้จักไฟล์เอกสารยอดนิยมกัน

PDF มีกี่ประเภท ? รู้จักกับไฟล์เอกสาร PDF ว่ามีกี่แบบ ? แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.pcmag.com/how-to/how-to-combine-pdf-files

แต่เคยสงสัยไหมว่าไฟล์ PDF ที่เราใช้งานกันอยู่เป็นประจำนั้นมีกี่ประเภท ? และสามารถแบ่งประเภทอย่างไรได้บ้าง ? มาหาคำตอบกันในบทความนี้ได้เลย

 

เนื้อหาภายในบทความ

ประเภทของไฟล์ PDF (แบ่งตาม ISO)

เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า "ISO (International Organization for Standardization)" ที่เป็นมาตรฐานวัดคุณภาพขององค์การมาตรฐานสากลจากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ อย่าง "ISO 9000" หรือการจัดการประกันคุณภาพ, "ISO 9001" มาตรฐานระบบคุณภาพการผลิต, "ISO 9002" มาตรฐานระบบคุณภาพการบริการ รวมไปถึง "ISO 14000" หรือมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และรหัส "ISO" อื่น ๆ ที่เป็นหลักประกันว่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ นั้นมีคุณภาพ, ปลอดภัย และทำให้ผู้บริโภครู้สึก "ไว้วางใจ" ในการใช้งาน

ซึ่ง "ไฟล์ PDF" ที่เราใช้งานกันอยู่เป็นประจำนี้ก็มี "มาตรฐาน ISO" เป็นของตนเองด้วยเช่นกัน แถมไฟล์ PDF แต่ละประเภทก็ยังใช้งานมาตรฐาน ISO ที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบบ PDF, PDF/A, PDF/E, PDF/X, PDF/VT และ PDF/UA ดังนี้

ประเภทของไฟล์ PDF (แบ่งตาม ISO)
ภาพจาก : https://www.print-conductor.com/media/files-PDF.png

ISO 32000 (PDF ทั่วไป)

สำหรับไฟล์ PDF มาตรฐานทั่วไปนั้นมีรหัส ISO ว่า "ISO 32000" เป็นไฟล์ PDF ที่พบได้บ่อยมากที่สุด ไฟล์ประเภทนี้นิยมใช้งานในการส่งต่อเพื่อปรินท์เอกสารหรือรูปภาพที่มีการจัดหน้าอย่างเป็นระเบียบ เพราะโดยทั่วไปแล้วไฟล์ที่บันทึกเป็น PDF จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือคาดเคลื่อนไปจากค่าเดิมที่ได้บันทึกเอาไว้ล่าสุด

(หากต้องการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลภายในไฟล์ PDF จะต้องใช้งานโปรแกรมแก้ไขไฟล์ PDF โดยเฉพาะเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขภายในตัวไฟล์ได้เหมือนไฟล์ประเภทอื่น)

ISO 32000 (PDF ทั่วไป)
ภาพจาก : https://www.locklizard.com/document-security-blog/how-to-make-a-pdf-read-only/

ISO 19005 (PDF/A)

ISO 19005 หรือ PDF/A (Archive) เป็นมาตรฐานการจัดเก็บไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาว มาตรฐานของไฟล์ประเภทนี้คือจะต้องสามารถ "เข้าถึงได้" โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา ดังนั้นไฟล์ PDF/A จะไม่อนุญาตให้ใช้งาน Font Linking, Javascript, การเข้ารหัส (Encryption), การใส่เสียง, วิดีโอ, XML หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่อาจถูกจำกัดการเข้าถึงในอนาคต

ISO 19005 (PDF/A)
ภาพจาก : https://www.sodapdf.com/blog/archiving-your-efforts/

ISO 24517 (PDF/E)

เป็นไฟล์ PDF ที่เหล่าวิศวกรและสถาปนิกน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะ ISO 24517 หรือ PDF/E (Engineering) นี้เป็นไฟล์ PDF ที่มีการระบุข้อมูลทางภูมิศาสตร์, ข้อมูลโครงสร้าง, Workflow ต่าง ๆ โดยจากข้อมูลของทาง Adobe Systems ก็ระบุว่ามาตรฐานของ PDF ประเภทนี้ยังรวมถึงภาพเคลื่อนไหว (Animation) และวัตถุ 3D มิติด้วย

ISO 24517 (PDF/E)
ภาพจาก : https://deftpdf.com/blog/what-is-pdfe

ISO 15930 (PDF/X)

PDF/X (ISO 15930) หนึ่งในไฟล์ PDF มาตรฐานที่เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) เป็นไฟล์ PDF ที่ออกแบบมาเพื่อการพิมพ์โดยเฉพาะ จึงมีการฝังฟอนต์, ข้อความ, รูปภาพ, สี และองค์ประกอบอื่น ๆ ภายในไฟล์อย่างแม่นยำ ไฟล์ PDF/X จะต้องรองรับการทำ "สำเนา" ร่วมด้วย จึงไม่อนุญาตให้มีลายเซ็น หรือไฟล์เสียงภายในเอกสาร และบางเวอร์ชันอาจจำเป็นต้องมีการกำกับ ค่าสี CMYK และ RGB เพื่อป้องกันการคลาดเคลื่อนของสีภายในไฟล์ร่วมด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม : ระบบสี หรือ โหมดสี RGB และ CMYK คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?

ISO 15930 (PDF/X)
ภาพจาก : https://affinity.help/publisher/en-US.lproj/index.html?page=pages/Publishing/publishPDFFiles.html?title=Publishing%20PDF%20files

ISO 16612 (PDF/VT)

ISO 16612 หรือ PDF/VT (Variable and Transactional Printing) นั้นเป็นมาตรฐานของไฟล์ PDF ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก PDF/X โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อ "การพิมพ์" เอกสารข้อมูลในการทำธุรกรรมที่อนุญาตให้สามารถมีเพิ่มเติมชั้น หรือเลเยอร์ (Layer) และปรับแต่งข้อมูลภายในไฟล์ได้ เช่น รายการเดินบัญชีธนาคาร (Bank Statement), ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เป็นต้น

ISO 16612 (PDF/VT)
ภาพจาก : https://meadowsps.hesk.com/knowledgebase.php?article=244

ISO 14289 (PDF/UA)

ISO 14289 หรือที่รู้จักกันในชื่อ PDF/UA (Universal Accessibility) เป็นรูปแบบของไฟล์ PDF ที่ทาง ISO กำหนดใช้ในปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) เพื่อให้ไฟล์ PDF เข้าถึงผู้ใช้งานที่มีความต้องการพิเศษ (Disability) ได้อย่างทั่วถึง ไฟล์ PDF ประเภทนี้จะต้องมีองค์ประกอบข้อมูลภายในไฟล์ที่เอื้อให้ผู้ที่มีความต้องการพิเศษสามารถเข้าใจสารภายในไฟล์ได้ เช่น การป้อนข้อมูลด้วยเสียง (Voice Input) เป็นต้น

ประเภทของไฟล์ PDF (แบ่งตามการฝังข้อมูลภายในเอกสาร)

นอกจากการแบ่งประเภทของไฟล์ PDF ตามมาตรฐาน ISO แล้ว เรายังสามารถแบ่งประเภทจากการฝังข้อมูลลงภายในไฟล์เอกสารได้ ดังนี้

Digitally Created PDF

Digitally Created PDF เป็นไฟล์ PDF ที่สร้างขึ้นมาจากซอฟต์แวร์อย่าง Microsoft Word, Excel และการ Export ไฟล์เพื่อพิมพ์ (Print) ผ่านซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันต่าง ๆ (Virtual Printer) ข้อมูลภายในไฟล์เอกสารจะเป็น "Meta-Information" ที่มีการวางซ้อน Layer ของ "รูปภาพ (Picture)" ทับบน Layer ของ "ตัวอักษร (Text)" อีกทีหนึ่ง

โดยที่ Layer รูปภาพจะเป็นหน้าตาของเอกสารเมื่อสั่งพิมพ์ (Print) ออกมา ผู้ใช้สามารถที่จะ "ค้นหา (Search)" ข้อความ (Text) ที่ต้องการภายในไฟล์ Digitally Created PDF ได้อย่างอิสระ แต่จะไม่สามารถค้นหารูปภาพ (Image) ภายในไฟล์ PDF ประเภทนี้ได้

Digitally Created PDFs
ภาพจาก : https://pdf.abbyy.com/learning-center/pdf-types/

Image Only / Scanned PDF

ไฟล์ PDF ที่มีลักษณะเป็น "รูปภาพ" เพียงอย่างเดียว สร้างขึ้นมาจากการ "สแกน (Scanned)" รูปภาพ จึงไม่สามารถทำการค้นหา (Search) ข้อความภายในไฟล์ได้เพราะตัวไฟล์มีลักษณะเป็นเลเยอร์ "รูปภาพ" เพียงเลเยอร์เดียว ไม่แยกเลเยอร์รูปภาพกับตัวอักษรภายในไฟล์ ไฟล์ประเภทนี้เป็น PDF ที่แก้ไขได้ยากและต้องใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะหากต้องการปรับแต่ง, แก้ไข หรือแยกเลเยอร์ข้อความ (Text) ออกมาจากรูปภาพ 

Image Only / Scanned PDFs
ภาพจาก : https://techsolutions.illinoisstate.edu/web-interactive-communications/accessibility/acrobat/image-vs-tagged/

Searchable PDF / OCRed PDF

เป็นไฟล์ PDF ที่สร้างขึ้นมาด้วย เทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) โดยจะทำการ "อ่าน (Read)" ข้อความและรูปภาพภายในไฟล์และแยกเลเยอร์ของข้อความ (Text) และรูปภาพ (Image) ออกจากกัน อีกทั้งยังมีการแปลงรูปภาพภายในไฟล์เอกสารให้อยู่ในรูปแบบของตัวอักษร จึงทำให้สามารถที่จะ "ค้นหา (Search)" สิ่งที่ต้องการภายในไฟล์ได้ทั้งตัวอักษร (Text) และรูปภาพ (Image) ภายในไฟล์ตามต้องการ

Searchable PDFs / OCRed PDFs
ภาพจาก : https://pdf.abbyy.com/learning-center/pdf-types/


ที่มา : www.marconet.com , www.foxit.com , www.iso.org , www.pdf-tools.com , deftpdf.com , pdf.abbyy.com , en.wikipedia.org , www.sodapdf.com , nlsblog.org

0 PDF+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3+PDF+%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น