ในแผงวงจรหลัก หรือ เมนบอร์ด (Motherboard) ของคอมพิวเตอร์ทุก ๆ เครื่อง อย่าง คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) หรือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก (Notebook Computer) จะมีช่อง (Slot) สำหรับใส่ หน่วยความจำหลัก หรือ แรม (RAM) หรือ "หน่วยความจำชั่วคราว" ซึ่งหลายคนก็อาจจะรู้จัก RAM กันมาบ้างแล้ว แต่ถ้าพูดถึง Single Channel, Dual Channel และ Quad Channel ล่ะ ? จะงงกันไหมนะ ? แต่ถ้าทำความเข้าใจสักหน่อย ประเภท Channel ของ RAM ก็ช่วยบอกได้ว่ามันรองรับการทำงานในรูปแบบไหน
ถ้าคุณเป็นคนนึงที่กำลังคิดจะประกอบคอม หรือ กำลังเลือกซื้อโน้ตบุ๊กสักเครื่อง หลังจาก ดูสเปกคอมพิวเตอร์ ต่าง ๆ กันมาแล้วเรื่องประเภทช่อง (Channel) ของ RAM ที่เครื่องใช้ ก็สำคัญไม่แพ้กันเลย อีกทั้งยังมีเรื่องความเร็ว และ ประสิทธิภาพต่าง ๆ ที่ RAM สามารถทำได้อีก ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจลองมาทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นกันเถอะ
ก่อนจะไปที่เรื่อง Channel ทุกคนคงคนเห็นตัวเลขบน RAM ที่ลงท้ายด้วยหน่วย MHz (เมกะเฮิรตซ์) โดยความเร็วของแรม (RAM Speed) บางคนอาจจะเข้าใจว่ายิ่งตัวเลขสูง ๆ ก็ยิ่งดี ใช่ไหม? คำตอบคือ ใช่ ! เพราะเลขที่มากเท่ากับความถี่ที่มาก นั่นหมายถึง การรับส่งข้อมูล (Bandwidth) ก็มากขึ้นตามไปด้วย เช่น 2,133 MHz, 2,666 MHz และ 3,200 MHz เป็นต้น
โดยตัวเลขต่าง ๆ เหล่านี้จะมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของการสื่อสารระหว่าง หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ ในการรับส่งชุดข้อมูลและคำสั่งต่าง ๆ ข้อดีของความเร็วที่สูงที่เห็นได้ชัด คือ เวลาเล่นเกมจะได้ภาพที่มี ค่า FPS ที่สูงขึ้น เพราะ RAM รับ-ส่งข้อมูลจำนวนมากได้เร็วขึ้นนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม : RAM Speed ความเร็วแรมสำคัญขนาดไหน ยิ่งเร็วยิ่งดีจริงหรือไม่ ?
Single Channel คือ การกำหนดค่าของ RAM รูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ใช้งานสามารถติดตั้ง RAM ลงไปได้ 1 แท่ง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้มากที่สุด เพราะถึงแม้เครื่องคอมพิวเตอร์จะถูกออกแบบมาให้ใส่ RAM ได้หลายช่องแบบ Multi-channel แต่มันก็รองรับการทำงานแบบ Single Channel อยู่ดี
ยกตัวอย่างเมนบอร์ดที่บ้าน ถ้าใครมีช่อง Slot สำหรับใส่ RAM แบบ 4 ช่อง ถ้าใส่ RAM ลงไป 1 ช่อง RAM ก็จะทำงานในรูปแบบ Single Channel ซึ่งข้อดี คือ มันติดตั้งง่ายสุด เสียบแล้วก็สามารถใช้งานได้เลย ส่วนข้อเสียคือ รุ่นความจุสูงจะราคาแรง และ การใส่แค่ช่องเดียว ช่องอื่นจะดูว่าง ๆ ไม่ค่อยสวยงาม (สำหรับคนที่ใช้เคสใสโชว์ภายใน)
Channel ของ RAM คืออะไร ?
คำว่า Channel (แชนเนล) คือ ช่องทาง, เส้นทาง ที่สำหรับเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยความจำชั่วคราว (RAM) และ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ซึ่ง CPU จะทำหน้าที่ประมวลผลร่วมกับหน่วยความจำชั่วคราวผ่านทางช่องทางที่เรียกว่า Channel นี้ โดยส่งข้อมูลไปกลับซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สำหรับ RAM แบบ Dual Channel คือ รูปแบบการรองรับการทำงานแบบคู่ โดยอัตราการส่งข้อมูลในรูปแบบนี้จะเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับรูปแบบ Single Channel ถ้าสเปกของเครื่องที่ใช้รองรับ RAM รูปแบบนี้ เมื่อใส่แรมเข้าไปสองตัว ระบบจะทำงานผ่าน Dual Channel ซึ่งมีข้อดีในหลาย ๆ ด้านในกรณีที่ใช้ทำงานหนัก ๆ หรือ เล่นเกมที่มีกราฟฟิกสูง ๆ
ยกตัวอย่าง RAM แบบ Single Channel 2,133 MHz DDR4 มีอัตราการส่งข้อมูลอยู่ที่ 17 GB/s แต่ถ้าเพื่อน ๆ มี RAM แบบ 2,133 MHz DDR4 อีกตัว จับมาใส่คู่กันแบบ Dual Channel อัตราการส่งข้อมูลจะเพิ่มขึ้นสองเท่ากลายเป็น 34 GB/s เลยทีเดียว ซึ่งการจะทำให้ RAM แบบ Single Channel รองรับประสิทธิภาพได้มากขนาดนั้น มีอยู่ทางเดียวคือต้องใช้ RAM แบบ 4,000 MHz หรือ สูงกว่า ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคา มันแพงกว่ามาก ๆ
Quad Channel คือ การรองรับการทำงานของ RAM แบบ 4 ช่องทาง หมายความว่า CPU และ RAM สามารถสื่อสารพร้อมกันได้ถึง 4 ช่องทาง ทำให้อัตราการส่งข้อมูลจากเดิมก็จะเพิ่มไปอีก 4 เท่า ซึ่งการติดตั้งและใช้งาน RAM รูปแบบนี้จำเป็นจะต้องใช้งาน RAM, CPU และ เมนบอร์ดเฉพาะที่รองรับ Quad Channel เท่านั้น
เพราะถ้าเป็นเครื่องปกติที่มี Slot มาให้ 4 ช่อง ถ้าเราใส่ครบทั้ง 4 ช่องก็ไม่ได้แปลว่ามันจะทำงานแบบ Quad Channel ต้องดูรายละเอียดของสเปกเครื่อง และส่วนประกอบอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน และที่สำคัญการใส่ RAM ลงในแต่ละช่องนั้นมีความหมาย เพราะมันมีผลต่อความเร็วและรูปแบบของ Channel ในการทำงานอีกด้วย
การใส่เลือก RAM เป็นสิ่งที่บางคนอาจมองข้าม ใส่ RAM ผิดชีวิตก็เปลี่ยนได้ เพราะการใส่ RAM สลับที่กัน หรือ ใส่ RAM ที่มี BUS ความถี่ ไม่เท่ากันจะทำให้ RAM ทำงานด้วยความเร็วของตัวที่น้อยสุด หรือ ใส่ผิดเครื่องอาจเปิดไม่ติดเลยก็ได้ ดังนั้นก่อนจะใส่ RAM ควรเลือกสเปก RAM ที่เหมือนกันและดูคู่มือก่อนทุกครั้ง ส่วนถ้าใครรู้ว่าเมนบอร์ดเรารองรับ RAM แบบไหนและได้ RAM มาอยู่ในมือแล้วก็จัดการตามนี้ได้เลย
ขอบคุณรูปภาพจาก rog.asus.com
และสำหรับคนที่อยากรู้ แต่ไม่แน่ใจว่า RAM ที่ใช้งานอยู่ เป็น Single หรือ Dual ก็สามารถ ดาวน์โหลดโปรแกรม CPU-Z วัดดูความเร็ว CPU ดูสเปกคอมพิวเตอร์ มาเช็คดูได้ โดยเปิดเข้าไปดูที่แท็บ Memory ในส่วนช่อง General จะบอก Channel ของ RAM ที่เราใช้ว่าเป็นแบบไหน อย่างเช่นในภาพ เป็นแบบ Dual Channel
ขอบคุณภาพจาก : www.hardwaretimes.com
ดาวน์โหลดโปรแกรม CPU-Z วัดดูความเร็ว CPU ดูสเปกคอมพิวเตอร์
การติดตั้ง RAM ที่มีความจุขนาดเล็กหลายตัวนั้นมีข้อดีกว่า เมื่อเทียบกับการติดตั้ง RAM ที่มีความจุขนาดใหญ่ตัวเดียวนั้นส่งผลที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้จะได้ความจุเท่ากันก็ตาม เช่น 32 GB x 1 ตัวเดียว กับ 8 GB x 4 ตัว การใส่ RAM ที่รองรับ 4 ช่องแบบ Quad Channel นั่นหมายถึงการเพิ่มการรับส่งข้อมูลได้ถึง 4 เท่าเลย
นึกภาพตามง่าย ๆ เหมือน 32 GB = รถบรรทุกคันเดียว แต่ 8 GB x 4 เท่ากับรถบรรทุก 4 คัน (ขนของได้เท่า 32GB) แต่สามารถแบ่งกระจายสินค้า (ข้อมูล) ได้ 4 ทาง แถมแบ่งกันขนของได้เร็วกว่า รถบรรทุก 32GB ถึงแม้รถคันเดียวจะจุได้เยอะ แต่สุดท้ายก็วิ่งไปกลับได้แค่ทางเดียว ก็พอจะนึกออกใช่ไหมล่ะครับว่าแบบไหนดีกว่ากัน
จากผลทดสอบในวิดีโอด้านล่างนี้จะเห็นได้ว่า การใส่ RAM แต่ละรูปแบบจะมีผลต่อการแสดงผล FPS ของภาพ ถึงแม้การใส่ RAM ตัวเดียวที่มีความถี่สูงกว่า แต่ประสิทธิภาพโดยรวมก็น้อยกว่าการใส่ RAM หลายตัว เพราะการใส่ RAM หลายตัวนั้นจะช่วยในเรื่องการทำงานและทำให้เครื่องสามารถดึงประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ทั้งหมดมาใช้ได้มากกว่านั่นเอง
การเลือกซื้อประเภทและจำนวน RAM นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งาน แต่สำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มักจะเลือกแบบ (Multi-channel) ที่เป็น RAM หลายตัว มากกว่า RAM ตัวเดียว (Single Channel) เพราะนอกจากราคาจะถูกกว่าแล้ว เวลาใส่แรมในเครื่องคอมเป็นแถวเรียงกันแล้วมันออกมาสวยงามกว่าใส่ตัวเดียวโดด ๆ อีกด้วยล่ะ ยิ่งมี ไฟ RGB วิบวับเป็นแถวเรียงกันงี้ยิ่งสวยและแรง ! (หมายถึงราคา)
นอกจากนี้การใส่ RAM หลายตัวก็ยังมีข้อดีในเรื่องระบบการทำงาน หาก RAM ตัวใดตัวนึงเสียไป เราก็ยังสามารถสลับ RAM ตัวอื่นมาใช้ได้ แต่ถ้ามี RAM เพียงแค่ตัวเดียว ถ้าพังก็อาจจะเปิดคอมไม่ติดเลย แถมการลงทุนซื้อ RAM ความจุสูง ๆ เพียงแค่ตัวเดียวยังแพงกว่าการซื้อแบบหลายตัวอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : 5 เรื่องเกี่ยวกับแรม (RAM) ที่หลายคนมักเข้าใจผิด
ในอดีตการพัฒนาของ RAM แต่ละรุ่นนั้นไม่ได้พัฒนาเร็วมากนัก เมื่อเทียบกับชิ้นส่วนอื่น ๆ ในคอมพิวเตอร์ อย่าง RAM รุ่น DDR4 ที่เปิดตัวในปีพ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) และถูกใช้งานมาอย่างยาวนานกว่า 6 ปี กว่ารุ่น DDR5 จะเปิดตัว
ซึ่งในรุ่นใหม่นี้ได้ถูกอัปเกรดความสามารถในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วที่สูงขึ้น, อัตราการส่งข้อมูลที่มากขึ้น, การจัดการพลังงานที่ดีกว่า ดีกว่ารุ่นก่อน ๆ ในทุก ๆ ด้าน และคาดว่ารุ่น DDR5 นี้ก็น่าจะถูกใช้ต่อไปอีกหลายปีกว่าจะมีรุ่นใหม่ออกมา และถึงแม้จะมี RAM รุ่นใหม่ออกมาเมนบอร์ดและชิ้นส่วนอื่น ๆ ก็ต้องรองรับการทำงานควบคู่กันไปด้วย
|
It was just an ordinary day. |