ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ โลกดิจิทัลมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการประมาณกันเอาไว้ว่าในแต่ละวันมีข้อมูลดิจิทัลถูกสร้างขึ้นสูงถึง 2,500,000 Terabytes (TB.) แถมตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเทรนด์ของการทำคอนเทนต์ในยุคนี้ก็เน้นหนักไปที่วิดีโอ ไหนจะอุปกรณ์ IoT ที่มีจำนวนผู้ใช้เติบโตขึ้น
ในการเก็บสำรองข้อมูลที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬารนั้น ลำพังแค่ แฟลชไดร์ฟ (USB Flash Drive) หรือฮาร์ดดิสก์พกพา ก็คงไม่เพียงพอ หากเราต้องการทำไดร์ฟกลางเก็บข้อมูลสำหรับให้ทุกคนในบ้านใช้ หรือศูนย์กลางข้อมูลให้พนักงานภายในบริษัทใช้ทำงาน ตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนี้ก็จะมีอยู่ 3 อย่าง คือ NAS, Local Server และ Cloud แต่ละชนิดเหมาะกับการใช้งานแบบไหน ? เราควรเลือกใช้งานเทคโนโลยีไหนดี ? มาทำความเข้าใจพวกมันให้มากขึ้นกัน
NAS ของ Synology
ภาพจาก : https://www.itjones.com/blogs/nas-vs-server-vs-cloud-which-data-storage-is-right-for-you
NAS หรือชื่อเต็ม ๆ ของมันคือ "Network-Attached Storage" จัดว่าเป็นอุปกรณ์เครือข่าย (Network Devices) ชนิดหนึ่งที่ใช้เชื่อมต่อฮาร์ดไดร์ฟเข้ากับเครือข่าย โดยสามารถกำหนดสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานแต่ละคนบนเครือข่ายข่ายได้ การทำงานของมันแตกต่างจากฮาร์ดดิสก์พกพาเป็นอย่างมาก เพราะมันไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน โดย NAS สามารถต่อเข้ากับระบบเน็ตเวิร์กโดยตรงเพื่อทำงานแบบ Standalone ได้เลย
การทำงานของ NAS จะคล้ายคลึงกับระบบคลาวด์ เพียงแต่เป็นคลาวด์แบบส่วนตัว เราสามารถเข้าถึงข้อมูลใน NAS จากอุปกรณ์ใดก็ได้ และหากเชื่อมต่อ NAS เข้ากับเครือข่าย อินเทอร์เน็ต (Internet) เราก็จะใช้งานมันได้ไม่ต่างจากระบบคลาวด์เลยล่ะ
NAS เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่มีระบบปฏิบัติการของตนเอง มีช่องสำหรับให้ผู้ใช้นำเอา ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) หรือ อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD มาเสียบได้ โดย NAS ขนาดเล็กอาจจะรองรับ HDD ได้ 3-5 ตัว แต่ถ้าเป็น NAS ขนาดใหญ่ก็จะสามารถติดตั้งได้มากกว่านั้น ซึ่งฮาร์ดดิสก์ทั้งหมดจะมีการทำการทำ RAID เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการรับส่งข้อมูล แม้เราจะสามารถนำฮาร์ดไดร์ฟแบบไหนมาติดตั้งใน NAS ก็ได้ แต่เราก็ควรเลือก ฮาร์ดดิสก์รุ่นที่ผู้ผลิตทำมาสำหรับ NAS โดยเฉพาะ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว NAS จะถูกเปิดทำงานแบบ 24/7
การที่ NAS ทำงานแบบ Standalone ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ ก็เพราะว่ามันมีซีพียูประมวลผลในตัว และมีระบบปฏิบัติการของมันเอง เพื่อทำหน้าที่จัดการกับไฟล์, ควบคุมการอ่าน-เขียนข้อมูล และดูแลสิทธิ์ในการเข้าถึงไฟล์ของผู้ใช้งาน
ในการเชื่อมต่อ NAS เข้ากับระบบเครือข่ายสามารถทำได้ทั้งผ่าน สาย LAN (หรือสาย Ethernet) หรือ Wi-Fi ก็ได้ และเราสามารถตั้งค่าให้มันเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อทำงานเหมือนเป็นคลาวด์ส่วนตัวได้ด้วย
Gigabyte S251-3O0
ภาพจาก : https://www.gigabyte.com/Enterprise/Rack-Server/S251-3O0-rev-100
เครื่องเซิร์ฟเวอร์ (Server) หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า "เครื่องแม่ข่าย" ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ให้บริการ หรือทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ และแอปพลิเคชันอื่น ๆ โดยตัวเซิร์ฟเวอร์อาจจะเป็นเครื่องตั้งอยู่ในสำนักงาน (Local Server) หรือเป็นระบบเสมือนที่อยู่บนคลาวด์ก็ได้ เซิร์ฟเวอร์ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น เป็นเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลอีเมล (Mail Server), เก็บข้อมูลเว็บไซต์ (Web Server), เก็บฐานข้อมูล (Database Server), เก็บไฟล์ หรือเก็บข้อมูล (File Server หรือ Storage Server) ฯลฯ แต่ในบทความนี้ เราจะให้ความสนใจเฉพาะการนำเซิร์ฟเวอร์มาใช้งานเป็นพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ เท่านั้น
สำหรับเซิร์ฟเวอร์เก็บไฟล์นั้น จะเรียกว่า "Storage Server" ซึ่งเป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในการจัดเก็บไฟล์โดยเฉพาะ แม้การทำงานของมันจะคล้ายคลึงกับ NAS แต่สเกลในการทำงานของมันจะมีขนาดใหญ่ และมีรองรับระบบจัดการไฟล์ที่ซับซ้อนกว่าด้วย
เซิร์ฟเวอร์นั้นมีการทำงานที่คล้ายคลึงกับ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) มีส่วนประกอบที่ไม่แตกต่างกัน ในเซิร์ฟเวอร์มี แผงวงจรหลัก (Mainboard), หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยความจำหลัก (RAM) และ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) ด้วยเหตุผลนี้ บางคนที่มีคอมพิวเตอร์เครื่องเก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เอามาทำเป็นเซิร์ฟเวอร์ซะเลย
แต่อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ระดับเซิร์ฟเวอร์จะใช้ CPU ที่มีความแรงกว่าคอมพิวเตอร์ PC ปกติ โดยจะมีการเน้นจำนวน คอร์ของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU Core) ให้มากที่สุด เพื่อรองรับการประมวลงานแบบมัลติทาส์กจากผู้ใช้จำนวนมากที่เชื่อมต่อเข้ามายังเซิร์ฟเวอร์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ก็จะมีความทนทานสูงเพื่อรองรับการทำงานแบบตลอด 24 ชั่วโมง (24/7) หรือแบบทั้งวันทั้งคืนนั่นเอง
เซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูล (Storage Server) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับเก็บข้อมูล และบริการการเข้าถึงไฟล์จากผู้ใช้งาน โดยการจะเข้าถึงไฟล์ในเซิร์ฟเวอร์ได้ จะต้องมีเครื่องลูกข่าย (Client) โดยเครื่อง Client จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับเซิร์ฟเวอร์ผ่านหน้าต่าง หน้าจอเชื่อมต่อผู้ใช้งาน (User Interface), File Transfer Protocol (FTP) หรือ ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ (API)
และเมื่อเซิร์ฟเวอร์ได้รับคำร้องขอจากเครื่อง Client มันก็จะทำการประมวลผลคำร้อง และส่งข้อมูลกลับไปให้ เรียกรูปแบบการทำงานแบบนี้ว่า "Request-Response Model"
ภาพจาก : https://www.itjones.com/blogs/nas-vs-server-vs-cloud-which-data-storage-is-right-for-you
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/electronic-document-management-isometric-landing-page_13924275.htm
ในส่วนของบริการคลาวด์ (Cloud Service) เป็นบริการที่ใช้เทคโนโลยี การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ที่ผู้ใช้สามารถเลือกบริหารทรัพยากรของระบบได้ตามความต้องการ จากผู้ที่ให้บริการคลาวด์ (Cloud Service Provider) ซึ่งก็มีอยู่หลายราย แต่รายใหญ่ที่ได้รับความนิยมก็จะมี Amazon Web Services (AWS), Microsoft Azure และ Google Cloud Platform (GCP) เป็นต้น
โดย Cloud Computing นั้นสามารถทำงานใช้ทำอะไรได้หลายอย่างมาก ๆ และหนึ่งในนั้นคือ การใช้เป็นพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ได้ อย่างเช่น iCloud และ Google Drive เองก็เป็นระบบคลาวด์เช่นกัน
เราสามารถนำ Cloud Computing มาใช้ประโยชน์ได้ไม่ต่างจากใช้งานเซิร์ฟเวอร์ เช่นจะนำมาทำเซิร์ฟเวอร์เก็บอีเมล, เว็บเซิร์ฟเวอร์, แอปพลิเคชันเซิร์ฟเวอร์ ฯลฯ แต่แน่นอนว่าในบทความนี้ เราจะเน้นไปที่การนำคลาวด์มาทำเป็นพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล เนื่องจากคลาวด์นั้นอยู่บน อินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้เข้าถึงไฟล์ได้จากทุกอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ข้อดีของคลาวด์คือ เราสามารถปรับเพิ่ม หรือลดขนาดพื้นที่ได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่าย
อันที่จริงคลาวด์ก็คือเครื่องเซิร์ฟเวอร์ดี ๆ นี่แหละ เพียงแต่เราไม่ได้ลงทุนเซิร์ฟเวอร์เอง ผู้ให้บริการเป็นคนที่ลงทุนเซิร์ฟเวอร์แล้วปล่อยเช่าให้ลูกค้าอีกทีผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ถ้าถามว่าแล้วทำไมเราไม่ซื้อเซิร์ฟเวอร์มาเลยล่ะ ? มันก็มีอยู่หลายปัจจัย เซิร์ฟเวอร์จะทำงานได้ดีต้องมีฮาร์ดแวร์คุณภาพสูง และมันไม่ได้จ่ายทีเดียว ต้องมีคนคอยดูแลเมื่อเซิร์ฟเวอร์เกิดปัญหา ซึ่งปัญหาจะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ จึงต้องมีการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้หากเราใช้คลาวด์ เราไม่ต้องไปกังวลกับปัญหาเหล่านี้เลย เพราะผู้ให้บริการคลาวด์จะทำหน้าที่เหล่านั้นให้ทั้งหมด
ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ จะมีเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ระดับ ที่ใช้กันในศูนย์ข้อมูล (Data Center) กระจายอยู่ทั่วโลก เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาล และลด Latency เพื่อการันตีความเร็วในการรับส่งข้อมูล มีทีมเจ้าหน้าที่คอยดูแลเฝ้าระวังตลอดเวลา ต่อให้เซิร์ฟเวอร์ตัวใดตัวหนึ่งพัง ลูกค้าก็ยังสามารถใช้งานเซิร์ฟเวอร์สำรองแทนได้
ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ของทาง Amazon
ภาพจาก : https://www.datacenterdynamics.com/en/news/amazon-promises-to-use-100-renewable-energy/
ในหัวข้อนี้เราจะเปรียบเทียบการเก็บข้อมูลบนระบบ NAS, Local Server และบริการ Cloud ในหัวข้อที่แยกย่อยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
NAS จัดว่าเป็นระบบที่ค่อนข้างเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ติดตั้ง และตั้งค่าการทำงานได้ค่อนข้างง่าย โดยผู้ผลิตมักจะมีการติดตั้งซอฟต์แวร์มาให้ใช้งาน มีแอปพลิเคชันรองรับ และเป็นรูปแบบปลั๊กแอนด์เพลย์ (Plug-and-Play) แค่เสียบปลั๊ก เชื่อมต่อกับเครือข่ายก็พร้อมใช้งานเป็นที่เก็บไฟล์ หรือมัลติมีเดียเซิร์ฟเวอร์ในทันที
อย่างไรก็ตาม การที่ NAS เตรียมทุกอย่างเอาไว้ให้ผู้ใช้งานแล้ว ก็ทำให้มันมีข้อจำกัดด้านอิสระในการปรับแต่งระบบที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ไม่มากนัก ในขณะที่ระบบเซิร์ฟเวอร์ แม้การตั้งค่าจะยุ่งยากกว่า ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ แต่ผู้ใช้ก็สามารถปรับแต่งระบบให้ตรงกับความต้องการของงานที่ต้องใช้ได้ดีกว่า ซึ่งรวมไปถึงการปรับแต่ง หรืออัปเกรดฮาร์ดแวร์ในอนาคตที่สามารถทำได้ง่ายกว่าด้วย
ส่วนบริการ Cloud เป็นระบบที่มีข้อดีทั้งด้านความง่ายในการเริ่มต้นใช้งาน และปรับแต่งเพิ่มขนาดของระบบ โดยบริการ Cloud นั้น จริง ๆ มีหลายระดับ ซึ่งแบบที่ใช้งานง่าย ๆ ก็อย่างเช่น Google Drive, OneDrive หรือ Dropbox แต่ถ้าต้องการสร้างระบบที่ประสิทธิภาพสูง รองรับการทำงานที่ซับซ้อนก็จะมีผู้ให้บริการอย่าง AWS, Azure ฯลฯ แต่ในการปรับแต่งก็จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเช่นกัน
ประสิทธิภาพในการทำงานของ NAS และ Server นั้นจะอยู่ขึ้นอยู่กับความเร็วของเครือข่าย และปริมาณของข้อมูลที่มีการอัปโหลด/ดาวน์โหลด ในขณะที่ บริการ Cloud จะขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว
โดยปกติแล้ว การอัปโหลด/ดาวน์โหลดจาก NAS และ Local Server จะมีความเร็วมากกว่า บริการ Cloud แม้ว่าเราจะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็ตาม เนื่องจากข้อจำกัดด้านแบนด์วิดท์ (Bandwidth) ที่เอามีไว้เพื่อป้องกันการจราจรของอินเทอร์เน็ตไม่ให้หนาแน่นเกินไป
หากเป็นการใช้งานภายใน ที่อุปกรณ์เชื่อมต่อกับ NAS และ Local Server ผ่านระบบสาย ประสิทธิภาพของมันจะดีกว่าบริการ Cloud อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ไฟล์มีขนาดใหญ่ แต่ในกรณีที่เราเชื่อมต่อจากระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ต การใช้งานผ่านบริการ Cloud ก็จะให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่า
หากเราพูดถึงความมั่นคงของระบบเก็บข้อมูล ก็คงต้องยกให้การทำ RAID ที่จะช่วยให้ข้อมูลในไดร์ฟมีความปลอดภัย หากไดร์ฟใดไดร์ฟหนึ่งเกิดความเสียหาย มันก็ยังสามารถกู้ข้อมูลกลับมาใหม่ได้อีกครั้ง
โดย NAS ที่มีช่องเสียบไดร์ฟหลายช่อง ส่วนใหญ่จะรองรับการทำ RAID แต่ข้อเสียของการทำ RAID ใน NAS คือ ช่องสำหรับเสียบไดร์ฟก็มีจำกัดอยู่แล้ว ยังต้องกันพื้นที่บางส่วนไปใช้ในการสำรองข้อมูลอีกด้วย ทำให้ความจุพื้นที่ที่มีจำกัดอยู่แล้ว มีน้อยลงไปอีก ในขณะที่การทำ RAID ใน Local Server จะยืดหยุ่นกว่า เพราะสามารถเพิ่มจำนวนไดร์ฟเสริมเข้าไปในระบบได้
แต่ถ้าถามว่า ระบบไหนที่การสำรองข้อมูล และความมั่นคงของระบบทำได้ดีที่สุด ? ไม่ว่าจะ NAS หรือ Local Server ก็ไม่สามารถเทียบกับบริการ Cloud ได้เลย ผู้ให้บริการบริการ Cloud ส่วนใหญ่จะมีระบบสำรองข้อมูลของลูกค้าเตรียมไว้ให้แล้ว และมีการรับประกันข้อมูลว่าจะไม่สูญหายให้ด้วย การโคลนข้อมูลใน บริการ Cloud เพื่อไปเก็บสำรองไว้ที่ผู้บริการ Cloud รายอื่นก็ทำได้อย่างง่ายดาย
ความปลอดภัยของ NAS และ Local Server นั้นอยู่กับว่ามันสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไว้ด้วยหรือเปล่า ? ถ้ามันทำงานแบบออฟไลน์ภายในบ้าน หรือบริษัทเพียงอย่างเดียว แฮกเกอร์ก็จะไม่สามารถโจมตีเข้ามาได้ แต่เอาจริง ๆ ส่วนใหญ่เราก็ทำระบบให้มันออนไลน์ไว้ เพื่อให้ คนที่ทำงานนอกสถานที่ (Work from Home) สามารถเชื่อมต่อเข้ามาได้ ความปลอดภัยของพวกมันก็เลยขึ้นอยู่กับว่า ระบบรักษาความปลอดภัยของระบบอินเทอร์เน็ตที่ NAS และ Local Server เชื่อมต่ออยู่นั้นเป็นอย่างไร ? อุปกรณ์ที่ Client ใช้มีความปลอดภัยหรือเปล่า ?
ส่วนระบบรักษาความปลอดภัยของ Cloud จะมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกเป็นผู้ให้บริการที่จะรับผิดชอบความปลอดภัยของเซิร์ฟเวอร์ ส่วนทางผู้ใช้งาน (Client) ก็จะรับผิดชอบในส่วนบัญชี และรหัสผ่าน
ความจุของ NAS และ Local Server นั้นจะมีการจำกัดที่จำนวนช่องไดร์ฟที่มี ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุสูงที่สุดในตอนนี้ (ปี ค.ศ .2022) ที่เราเห็นมาคือ 22 TB. แต่ถ้าเป็น HDD ระดับผู้บริโภคทั่วไปก็จะมีขนาดประมาณ 8 TB. เท่านั้น ซึ่ง NAS ส่วนใหญ่ก็จะให้มา 6 ช่อง ส่วน Local Server ก็ 16 ช่อง ความจุของ NAS ส่วนใหญ่ก็เลยจะอยู่ที่ 48 TB. ในขณะที่ Local Server อยู่ที่ 128 TB.
ในส่วนของ Cloud นั้น ความจุขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเลย คุณอาจจะเลือกใช้เพียง 10 TB. หรือจะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อใช้ความจุระดับ 1,000 TB. ก็ได้
ราคา | ความปลอดภัย | สำรองข้อมูล | ติดตั้ง | ดูแลรักษา | |
NAS | เริ่มต้นแพงแต่ประหยัดในระยะยาว | ปลอดภัย และเป็นส่วนตัว เลือกระบบรักษาความปลอดภัยที่ต้องการได้ | สำรองข้อมูลไว้ในไดร์ฟที่ติดตั้งไว้ที่ NAS หรือ Local Server | เชื่อมต่อฮาร์ดแวร์ เข้ากับระบบเครือข่าย | ปานกลาง |
Local | ยาก | ||||
Cloud Service | ไม่แพงแต่ต้องจ่ายทุกเดือน ระยะยาวต้นทุนอาจจะสูงกว่า | ค่อนข้างปลอดภัย แต่ผู้ใช้ควบคุมอะไรไม่ได้เลย | เซิร์ฟเวอร์สำรองให้อัตโนมัติ | ผ่านซอฟต์แวร์ | ง่าย |
ในตอนนี้ เราก็น่าจะได้อ่านจุดเด่น-จุดด้อย ของ NAS, Local Server และบริการ Cloud กันไปแล้ว การเลือกว่าจะใช้แบบไหน จึงไม่น่าใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ประเด็นสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาคือ
หลังจากลิสต์ความต้องการได้แล้ว ก็ลองเปรียบเทียบราคาดูว่า คุณพึงพอใจกับการที่จะใช้จ่ายมันอย่างไร ? หากคนใช้งานน้อย ไม่ได้ต้องการความจุสูงมากนัก บริการ Cloud ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
ในขณะที่ NAS หรือ Local Server นั้นเราต้องลงทุนอุปกรณ์ในครั้งแรกค่อนข้างแพง และมีค่าเสื่อมที่ต้องเปลี่ยนฮาร์ดไดร์ฟทุก ๆ 3-5 ปี อีกด้วย ก็ลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูละกัน ว่าในการใช้งานของคุณนั้น จ่ายแบบไหนเหมาะสมที่สุด
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |