ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Allocation Unit Size คืออะไร ? ควรกำหนดค่าของมันอยู่ที่เท่าไหร่ ?

Allocation Unit Size คืออะไร ? ควรกำหนดค่าของมันอยู่ที่เท่าไหร่ ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 13,697
เขียนโดย :
0 Allocation+Unit+Size+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Allocation Unit Size คืออะไร ?

ไหน ? มีใครไม่เคยฟอร์แมตไดร์ฟ หรือสื่อเก็บข้อมูล (Storage Media) บ้าง ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์ดดิสก์ (HDD), อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSDแฟลชไดร์ฟ (Flash Drive), การ์ดหน่วยความจำแบบ Micro SD (Micro SD Card) ที่ส่วนใหญ่แล้ว ในการใช้งานครั้งแรก เราจะต้องทำการฟอร์แมตมันก่อน ด้วยจุดประสงค์ที่เพื่อเปลี่ยนระบบไฟล์ของไดร์ฟ ให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่เราต้องการนำมันมาใช้งานร่วมด้วย เช่น ฟอร์แมตเป็นระบบไฟล์ต่างๆ อย่าง NTFS, exFAT, FAT32 ฯลฯ ซึ่งในส่วนของระบบไฟล์ เราเคยมี บทความอธิบายความแตกต่าง ไปแล้ว

บทความเกี่ยวกับ Storage อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ระบบไฟล์ NTFS, exFAT, FAT32 และ ext4 เลือกใช้งานอย่างไรดี ?

แต่ตอนที่เราฟอร์แมตไดร์ฟ นอกจากระบบไฟล์แล้ว เราจะสังเกตเห็นว่ามีหัวข้อ "Allocation Unit Size" ให้เราเลือกปรับด้วย โดยจะมีตัวเลือกขนาดของยูนิต (Unit Size) ให้เลือกอยู่หลายขนาด คำถามคือ แล้วเราควรจะกำหนดค่าไว้ที่เท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม ?

 Allocation Unit Size คืออะไร ? ควรกำหนดค่าของมันอยู่ที่เท่าไหร่ ?

 Allocation Unit Size คืออะไร ? ควรกำหนดค่าของมันอยู่ที่เท่าไหร่ ?

ในบทความนี้ เลยจะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดค่า Allocation Unit Size ให้เข้าใจกัน ...

เนื้อหาภายในบทความ

Allocation Unit Size คืออะไร ?
(What is an Allocation Unit Size ?)

Allocation Unit Size นั้น ถ้าหากจะนิยามมันแบบง่าย ๆ ก็คือ ขนาดของข้อมูลในตัวไดร์ฟ หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลที่ "เล็กที่สุด" ที่สามารถเป็นไปได้นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราสร้างไฟล์ที่ไม่มีข้อมูลอะไรอยู่เลยขึ้นมาสักหนึ่งไฟล์ ขนาดของมัน อย่างน้อยที่สุดมันก็จะมีขนาดเท่ากับขนาดของ Allocation Unit Size ที่เรากำหนดค่าเอาไว้ นั่นหมายความว่า หากเรากำหนดค่า Allocation Unit Size ของฮาร์ดไดร์ฟเอาไว้ให้มีขนาดใหญ่ แต่ใช้มันในการเก็บไฟล์ที่มีขนาดเล็ก พื้นที่บนไดร์ฟก็จะเต็มอย่างรวดเร็ว

ถ้ายังรู้สึกงง ๆ มาดูตัวอย่างแบบสุดโต่งเพื่อให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ถ้าเรามีไฟล์ขนาด 10 KB. อยู่ทั้งหมด 10 ไฟล์ แล้วตัวไดร์ฟถูกกำหนดค่า Allocation Unit Size เอาไว้ที่ 2,048 KB. (หรือ 2.048 MB.) ในการจัดเก็บไฟล์ดังกล่าว จะใช้พื้นที่บนไดร์ฟถึง 20.48 MB. ทั้ง ๆ ที่ไฟล์ทั้งหมดมีขนาดรวมเพียง 100 KB. เท่านั้น

น่าจะเห็นภาพแล้วว่า หากเราตั้งค่า Allocation Unit Size เอาไว้ไม่เหมาะสมกับขนาดไฟล์ที่ใช้ มันก็จะเป็นสิ้นเปลืองพื้นที่ไปโดยเปล่าประโยชน์

โดยปกติแล้ว หากในตอนที่ฟอร์แมตเราไม่ไปปรับเปลี่ยนค่าเลย ตัวระบบปฏิบัติการ Windows จะกำหนดค่าเริ่มต้นของ Allocation Unit Size เอาไว้ที่ 4,096 Bytes (หรือ 4 KB.) ซึ่งเป็นขนาดข้อมูลที่ค่อนข้างเล็กมาก เพื่อป้องกันการเสียพื้นที่บนไดร์ฟไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือสูญเสียน้อยมาก

ใครที่เคยคลิกขวาที่ "เมนู Properties" เพื่อตรวจสอบขนาดไฟล์ น่าจะเคยสังเกตเห็นว่า ขนาดของข้อมูลจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ "Size" (ขนาดไฟล์) และ "Size on Disk" (ขนาดไฟล์บนไดร์ฟ) ที่มันถูกแยกออกจากกันก็เพราะ Allocation Unit Size นี่แหละ ลองดูภาพด้านล่างนี้ จะเห็นว่าไฟล์ .TXT มีขนาดไฟล์ที่แท้จริงเพียง 1.10 KB. เท่านั้น แต่เพราะไดร์ฟของผู้เขียนกำหนดค่า Allocation Unit Size เอาไว้ที่ 4 KB. ดังนั้นขนาดไฟล์บนไดร์ฟจึงต้องเป็น 4 KB. ไปโดยปริยาย

โอ้ รู้อย่างนี้แล้ว แสดงว่าเราควรกำหนดค่า Allocation Unit Size เอาไว้ให้ต่ำที่สุดเลยสิ ในเมื่อเราสามารถเลือกได้ต่ำสุดถึง 512 Bytes แล้วจะเลือก 4 KB. ให้เปลืองที่ทำไม ? จะได้ใช้พื้นที่บนไดร์ฟได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

Allocation Unit Size คืออะไร ? (What is an Allocation Unit Size ?)

ควรกำหนดค่า Allocation Unit Size เท่าไหร่ ?
(Which Allocation Unit Size is the best for you ?)

แม้ว่าการกำหนดค่า Allocation Unit Size เอาไว้ต่ำสุด จะลดโอกาสการสิ้นเปลืองพื้นที่บนไดร์ฟไปโดยเปล่าประโยชน์ได้มากที่สุด แต่มันก็มีข้อเสียเช่นกัน เพราะเมื่อจำนวนคลัสเตอร์มีขนาดเล็กลง หมายความว่าจำนวนคลัสเตอร์ก็จะเยอะขึ้นตามไปด้วย ทำให้การอ่าน และเขียนข้อมูลต้องเสียเวลามากขึ้น ส่งผลให้ระบบทำงานได้ช้าลง ในทางตรงข้าม หากเรากำหนดขนาด Allocation Unit Size เอาไว้ใหญ่เกิน แม้จะเรียกใช้ข้อมูลได้เร็วขึ้น แต่ก็จะสิ้นเปลืองพื้นที่บนไดร์ฟมากไป

ถ้าระบบเรามีไดร์ฟ หรือ พาร์ทิชัน (Partition) เดียว รวมไปถึง พาร์ทิชันที่ใช้ติดตั้งระบบปฏิบัติการ (ไดร์ฟ C:) แนะนำว่าควรจะเลือกใช้ค่า Allocation Unit Size แบบเริ่มต้น (Default) แต่ถ้ามีหลายพาร์ทิชัน ก็สามารถพิจารณาตามลักษณะการใช้งานได้

ข้อมูลเพิ่มเติม : การแบ่งพาร์ทิชันให้ฮาร์ดไดร์ฟ (Hard Drive Partitioning) จำเป็นหรือเปล่า ? มาดูข้อดี-ข้อเสียกัน

ยกตัวอย่างเช่น คุณเป็นผู้ที่จัดระเบียบไฟล์บนไดร์ฟ มีพาร์ทิชันที่คุณสร้างขึ้นมาเพื่อเก็บไฟล์ภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งไฟล์ชนิดนี้ก็จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้น การเลือกใช้ค่า Allocation Unit Size ที่ 2 MB. ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมว่า หากนำไฟล์ขนาดเล็กมารวมไว้ในไดร์ฟนี้ด้วย เช่น ไฟล์ซับไตเติล ก็จะเป็นการเปลืองที่โดยใช่เหตุ

แต่ถ้าในพาร์ทิชันมีไฟล์หลายประเภท มีไฟล์ภาพยนตร์, ไฟล์เพลง และไฟล์รูปถ่าย ถ้าไม่อยากใช้ค่า Allocation Unit Size เริ่มต้น ก็ลองพิจารณาดูว่า ส่วนใหญ่แล้วไฟล์ที่คุณมี มันมีขนาดไฟล์เท่าไหร่ เพื่อหาค่าเฉลี่ยที่เหมาะสม อย่างส่วนตัวผู้เขียน ไดร์ฟที่เก็บไฟล์มัลติมีเดีย เลือกที่จะใช้ค่า Allocation Unit Size ที่ 256 KB.

Allocation Unit Size กับอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD
(Allocation Unit Size with SSD)

การเลือกค่า Allocation Unit Size นั้น เป็นเรื่องของการสร้างสมดุลระหว่าง "คลัสเตอร์เล็กประหยัดพื้นที่ แต่เสียเวลาอ่านข้อมูลนานขึ้น" กับ "คลัสเตอร์ใหญ่อ่านข้อมูลไว แต่เปลืองที่"

แต่เดี๋ยวก่อนถ้าคลัสเตอร์เล็กแล้วเสียเวลาอ่านข้อมูลนาน มันน่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการใช้ไดร์ฟแบบ SSD ที่มีความเร็วในการอ่าน และเขียนข้อมูลอย่างรวดเร็ว 

ในทางทฤษฏีก็ใช่ แต่ว่าในทางปฏิบัติแล้ว มันได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันเลย อาจจะด้วยความที่ อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD มันสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ไวมากอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะเลือก Allocation Unit Size ขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ผลลัพธ์ก็เท่าเดิม

แต่ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ยังแนะนำว่า สำหรับ SSD แล้วก็ควรเลือกใช้ค่า Allocation Unit Size แบบเริ่มต้น (4 KB.) อยู่ดี ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ลดความซับซ้อนของไฟล์ จำนวนคลัสเตอร์ยิ่งน้อย หมายถึงการจัดเรียงคลัสเตอร์ภายใน Cell ก็น้อยลง
  • เพิ่มความเร็วในการอ่าน และเขียน เพราะขนาดคลัสเตอร์ ใกล้เคียงกับขนาด Block เก็บข้อมูลของ SSD
  • Allocation Unit Size ขนาดใหญ่ ไม่ได้เพิ่มความเร็วให้ SSD อยู่แล้ว ในเมื่อเล็กไปก็ไม่ดี ใหญ่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น ค่าเริ่มต้น 4 KB. จึงเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่แล้ว

ก็หวังว่าใครที่ไม่เข้าใจเรื่อง Allocation Unit Size หลังจากที่อ่านบทความนี้จบแล้ว ก็น่าจะช่วยไขข้อสงสัยให้เรียบร้อยนะ


ที่มา : www.maketecheasier.com

0 Allocation+Unit+Size+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B9%88+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
10 มกราคม 2566 16:05:09
Profile Pictureสมาชิก : Member
Comment Bubble Triangle
ขอบคุณครับ มีประโยชน์มาก