ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

การใช้แว่น VR เป็นอันตรายต่อสายตาของเราหรือไม่ ? (Is Virtual Reality Glass bad for your eyes?)

การใช้แว่น VR เป็นอันตรายต่อสายตาของเราหรือไม่ ? (Is Virtual Reality Glass bad for your eyes?)

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 14,833
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%99+VR+%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F+%28Is+Virtual+Reality+Glass+bad+for+your+eyes%3F%29
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

การใช้แว่น VR เป็นอันตรายต่อสายตาของเราหรือไม่ ?
(Is Virtual Reality Glass bad for your eyes?)

แว่น VR (Virtual Reality Glass) น่าจะเป็นหนึ่งใน Gadget ที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝัน เพราะการได้หนีโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปอยู่ใน Metaverse (เมตาเวิร์ส) และการทดลองเล่นเกม VR ก็น่าจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนอยากจะลอง "สัมผัสด้วยตัวเอง" ดูซักครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากเรื่องของ "ราคา" ที่ค่อนข้างสูงจนทำให้คนส่วนหนึ่งลังเลใจว่าซื้อมาอาจจะ "ใช้ไม่คุ้ม" แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้คิดหนักก็น่าจะเป็นเรื่องของการใช้งานในระยะยาวว่าถ้าใช้ไปนาน ๆ แล้วอาจทำให้ "เสียสายตา" ได้

บทความเกี่ยวกับ Virtual Reality อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : Virtual Reality (VR) กับ Augmented Reality (AR) คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? และรู้จัก MR และ XR

เนื้อหาภายในบทความ

แว่น VR มีการทำงานยังไง ?
(How does Virtual Reality Glass work ?)

เทคโนโลยี VR หรือ Virtual Reality เป็นการ "จำลอง" สภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่เราสามารถรับรู้ถึงมิติและความลึกของภาพได้อย่างชัดเจนคล้ายการได้เข้าไปอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ด้วยตนเอง มีการเก็บ "รายละเอียด" และการแสดงผลภาพที่สมจริง และคมชัดมากกว่าการใช้งานโหมดสามมิติ (3D) หรือการดูหนังในระบบสามมิติผ่านจอคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน หรือจอภาพยนตร์ เพราะแว่น VR หรืออุปกรณ์สวม (Headset) ส่วนมากมักมีลักษณะคล้าย "กล่อง" ที่ครอบทับดวงตาของเราและตัดทัศนียภาพโดยรอบออกไปได้อย่างหมดจดกว่าการใช้งานอุปกรณ์ตัวช่วยอย่าง "แว่นสามมิติ"

แว่น VR มีการทำงานยังไง ?
ภาพจาก : https://inf.news/en/digital/ea6de9d489dc0c4ce497afdbfa60103f.html

ซึ่งสิ่งที่ช่วยในการแสดงผลของเทคโนโลยี VR ก็ได้แก่ จอ LCD ขนาดเล็กบริเวณเลนส์แว่น หรือจอ Headset นั่นเอง และเนื่องจาก "จอ" ของแว่น VR นั้นอยู่ใกล้กับ "ดวงตา" ของเรามากกว่าจอประเภทอื่น ๆ อีกทั้งยังไม่มี "ขอบหน้าจอ" เป็นตัวกำหนดขอบเขตการมองเห็นของสายตาที่เมื่อหันไปทางอื่นก็สามารถ "หลุดโฟกัส" จากหน้าจอไปยังบริเวณรอบข้างได้ชั่วขณะหนึ่ง

“จอ” ของแว่น VR
ภาพจาก : https://www.researchgate.net/figure/A-light-sensor-on-a-VR-lens-border-senses-light-reflected-by-a-region-of-the-eye-Pupil_fig4_323788480

แว่น VR เป็นอันตรายต่อดวงตาของเรา จริงรึเปล่า ?
(Is Virtual Reality Glass really harmful to our eyes ?)

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าแว่น VR นั้นมีลักษณะครอบทับดวงตาของเราเพื่อให้ได้มุมมองภาพที่มีมิติและสมจริงมากที่สุด คล้ายการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโลกจำลองจริง ๆ การใช้งานแว่น VR จึงคล้ายกับการบังคับให้ดวงตาจ้องไปที่หน้าจอเพื่อ "รับภาพ" ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาโดยไม่ได้มีการหยุดพักสายตา

และเมื่อเราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นระยะเวลานาน อัตราการกะพริบตาของเราจะ "ลดความถี่" ลงจากเดิม จนเกิดการใช้สายตา "มากเกินความจำเป็น" ที่ก่อให้เกิดอาการตาล้า สังเกตได้จากในตอนที่เราตั้งใจอ่านหนังสือหรือจ้องหน้าจอดูหนัง / เล่นเกมเป็นเวลานาน ๆ อีกทั้งการใช้งานแว่น VR ยังกระตุ้นให้ดวงตามีการใช้งานอยู่ตลอดเวลาโดยไร้ขอบเขต (ขอบจอและสิ่งเร้าภายนอกอื่น ๆ ที่ดึงความสนใจเราออกห่างจากหน้าจอ) ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับโลกเสมือนจนลืมเวลาและลืมว่าควรจะ "พักสายตา" เสียบ้าง

และยิ่งไปกว่านั้น การใช้งานแว่น VR ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดภาวะ "ตาล้า" หรืออาการปวดตาได้ง่ายกว่าการใช้งานสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ อีกทั้งบางคนอาจมีอาการ Motion Sickness ร่วมด้วยก็เป็นได้

แว่น VR เป็นอันตรายต่อดวงตาของเราจริงรึเปล่า ?
ภาพจาก : https://www.howtogeek.com/782675/is-vr-bad-for-your-eyes/

Motion Sickness คืออะไร ? (What is Motion Sickness ?)

Motion Sickness หรือ Cybersickness เป็นภาวะที่สมองของเรา "ปรับตัว" ตามสภาพแวดล้อมไม่ทันจนก่อให้เกิดการรับรู้ที่ "ผิดพลาด" ไปจากความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น เมื่อเรายืนสวมแว่น VR อยู่บนพื้นราบ สมองและหูชั้นในของเราก็จะสร้างสภาวะสมดุลเพื่อให้ร่างกายสามารถยืนได้อย่างมั่นคง แต่ในโลก VR นั้นเรากำลังเล่นรถไฟเหาะที่ดิ่งตัวลงมา ทำให้สมองของเราเกิดความ "สับสน" ระหว่างภาพที่มองเห็นตรงหน้า (กำลังดิ่งลงจากรถไฟเหาะ) กับสิ่งที่รับรู้ (ยืนเฉย ๆ) และก่อให้เกิดอาการ Motion Sickness ขึ้นมาได้

ลักษณะอาการของ Motion Sickness

อาการของ Motion Sickness หรือ Cybersickness นั้นจะมีลักษณะคล้ายอาการเมารถ, เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน เช่น เวียนหัว, คลื่นไส้, อาเจียน, ตาลาย, เหงื่อออกง่าย, ตัวเย็น โดยอาจเป็นอาการใดอาการหนึ่งหรือมีหลายอาการร่วมกันก็ได้ และเนื่องจากลักษณะอาการของมันมีความคล้ายคลึงจากอาการเมาจากการเดินทาง (Travel Sickness) จึงทำให้บางครั้งอาการ Cybersickness ถูกเรียกว่าอาการ "เมาไซเบอร์" 

Motion Sickness
ภาพจาก : https://virtualspeech.com/blog/motion-sickness-vr

ข้อความเพิ่มเติม : Motion Sickness คืออะไร ? ภาวะป่วยจากการเคลื่อนไหวนี้ จะแก้ไข หรือบรรเทาอาการได้อย่างไร ?

แว่น VR เป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่ ?
(Is VR Glass safe for kids ?)

ทางสถาบันจักษุวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Ophthalmology) ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการใช้งานแว่น VR และพบว่ามันเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ที่เป็น "เด็ก" มากกว่าผู้ใหญ่อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากดวงตาของเด็กนั้นยังพัฒนาการรับรู้ความลึก (Depth Perception), การมองตาม (Tracking) และการโฟกัสภาพได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นการใช้งานแว่น VR ตั้งแต่เด็กจึงทำให้พัฒนาการหยุดชะงักลงและส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย (ดวงตา) ของเด็ก และมีแนวโน้มเกิดปัญหาสายตาได้ง่ายและเรื้อรังกว่าผู้ใหญ่ (ทั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุ "ช่วงอายุ" ที่เหมาะสมในการใช้งานแว่น VR ที่แน่ชัดออกมาแต่อย่างใด)

แว่น VR อันตรายต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ !
ภาพจาก : https://unsplash.com/photos/DeyfdybVQhA

และจากข้อมูลเบื้องต้นก็ได้ระบุว่ากว่า 1 ส่วน 4 (26%) ของ Gamer นั้นเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเปอร์เซ็นต์มากขึ้นในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นแล้วผู้ปกครองจึงควรดูแลบุตรหลานของตนเองอย่างใกล้ชิดและไม่ "เลี้ยงลูกด้วยจอ" ทุกประเภท เพราะนอกจากจะอันตรายต่อจอประสาทตาของเด็กแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นสมาธิสั้นในเด็ก (ADHD) อีกต่างหาก

การใช้แว่น VR เป็นอันตรายต่อสายตาของเราหรือไม่ ? (Is Virtual Reality Glass bad for your eyes?)
ภาพจาก : https://www.verywellmind.com/adhd-in-girls-symptoms-of-adhd-in-girls-20547

ประโยชน์ของ การใช้งานแว่น VR
(VR Glass Usage Benefits)

ถึงแม้ว่าจะมีงานวิจัยออกมาโจมตีถึงผลเสียของการใช้งานแว่น VR ว่ามันมีส่วนทำให้เกิดอาการตาล้าได้จริง แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนก็ออกมาสนับสนุนการใช้งานแว่น VR เพื่อช่วย "พัฒนาสายตาและการมองเห็น" ด้วยเช่นกัน โดยมีงานวิจัยออกมาระบุว่าการใช้งานแว่น VR นั้นช่วยพัฒนาการทำงานของดวงตาในเรื่องของการรับรู้ความลึก, การตอบสนองต่อสิ่งเร้า และช่วงลดอาการ "Lazy Eye" ลงได้

อีกทั้งยังช่วยพื้นฟูสมรรถภาพการมองเห็นของผู้ที่มีความผิดปกติของการมองเห็นในกลุ่มภาวะสายตาเลือนราง (Low Vision) เช่น กลุ่มโรคต้อ, โรคจอตา, โรคเส้นประสาทตาต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นหรือคอนแทกเลนส์ สามารถกลับมามองเห็นได้ "ชัดเจน" มากขึ้น

ดังนั้นแล้วหากระมัดระวังในการใช้งานแว่น VR และอุปกรณ์อื่น ๆ จำพวกสมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ตต่าง ๆ อย่างเหมาะสม หยุดพักสายตาเป็นระยะ (ทางที่ดีควรหยุดพักสายตาทุก ๆ 20 นาที) และหมั่นตรวจเช็คค่าสายตาเป็นประจำก็น่าจะช่วยลดการเกิดภาวะตาล้า, ตาพร่า, ปวดตา หรือ CSV (Computer Vision Syndrome) ลงได้

ข้อมูลเพิ่มเติม : วิธีรักษาดวงตา เมื่อจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ แล้ว ปวดหัว ปวดตา แสบตา


ที่มา : www.allaboutvision.com , opto.ca , www.bbc.com , www.essilorusa.com , www.nvisioncenters.com , www.howtogeek.com , medium.com , time.com

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%99+VR+%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88+%3F+%28Is+Virtual+Reality+Glass+bad+for+your+eyes%3F%29
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น