คุณกำลังท่องเว็บไซต์ ผ่าน โปรแกรมเปิดเว็บ หรือ เว็บเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) แล้วดันเจอข้อความแจ้งเตือน "Your connection is not private" ใช่หรือไม่ ? แน่นอนว่านั่นหมายถึง การเชื่อมต่อของคุณไม่เป็นส่วนตัว และเว็บเบราว์เซอร์พยายามที่จะเตือนคุณ
โดยปกติแล้วปัญหานี้มักเกิดขึ้นจากการตรวจสอบ Secure Sockets Layer (SSL) ที่มีข้อผิดพลาด แต่ก็ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุได้เหมือนกัน เช่น การตั้งค่าที่ผิดพลาดของคอมพิวเตอร์ ปัญหาจาก DNS, ตัวเว็บเบราว์เซอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย บทความนี้เราจะมาวิเคราะห์สาเหตุและหาวิธีแก้ไขไปพร้อมกัน
ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก Secure Sockets Layer (SSL) สาเหตุหลักของข้อผิดพลาด "Your connection is not private" โดย SSL ก็คือเทคโนโลยีการเข้ารหัสความปลอดภัย ที่ใช้บนโปรโตคอล HTTPS (Hypertext Transfer Protocol Secure) หรือโปรโตคอลการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต เหมือนกับที่เวลาคุณใส่ URL เว็บไซต์ใด แล้วจะมีคำว่า "https" ขึ้นต้นก่อนเสมอนั่นเอง
โดยหลัก ๆ แล้วหน้าที่ของ SSL คือช่วยในการเข้ารหัสข้อมูลที่สื่อสารกันระหว่างเว็บไซต์กับเว็บเบราว์เซอร์ โดยจะมีสิ่งที่เรียกว่า "SSL Certificates" หรือใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นข้อมูลไฟล์ขนาดเล็กที่ผูกกับเว็บไซต์และใช้เป็นเครื่องยืนยันว่าเว็บดังกล่าวมีความปลอดภัย และ น่าเชื่อถือขนาดไหน
ถ้าเกิดว่าเว็บเบราว์เซอร์ตรวจสอบแล้วเจอความผิดพลาดของ "SSL Certificates" เช่น ใบรับรองหมดอายุ หรือ ขัดข้องบางประการ เว็บเบราว์เซอร์ของเราก็จะแจ้งเตือนว่า "Your connection is not private" นั่นเอง เป็นการย้ำเตือนคุณว่า ไม่ควรเข้าชมเว็บไซต์เหล่านั้นเพราะมันอันตรายและอาจมีแฮกเกอร์มาล้วงข้อมูลไปได้
ซึ่งจากปัญหานี้ หลายคนอาจจะเลือกที่จะไม่สนใจ และเข้าเว็บไซต์ต่อไปโดยคลิกที่ "ปุ่ม Advanced" และกดที่คำว่า "Proceed to ...ชื่อเว็บไซต์ (unsafe)" แต่หลายคนก็อาจรู้สึกกลัวและปิดมันไป
อย่างไรก็ตามนั่นคือกรณีปกติ เพราะนอกจากการแจ้งเตือน "Your connection is not private" นั้นจะเกิดขึ้นเพราะ "มันไม่ปลอดภัยจริง ๆ แล้ว" มันอาจจะมีสาเหตุอื่นอีกก็ได้ และถ้าคุณยืนยันที่จะต้องการเข้าเว็บไซต์เหล่านั้นให้ได้ แบบไม่ต้องกังวล หรือสงสัยว่ามันเกิดจากข้อผิดพลาดอื่น เรามีวิธีที่จะตรวจสอบและแก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง
บางทีปัญหาอาจจะไม่ได้ใหญ่นัก เว็บเบราว์เซอร์อาจทำงานพลาดเอง แก้ง่าย ๆ คือกด "ปุ่ม F5" เพื่อรีโหลดหน้าเว็บเหล่านั้นอีกรอบ
หากรีโหลดหน้าเว็บไซต์แล้วยังเป็นเหมือนเดิม ทางแก้ที่ง่ายอีกทางคือให้ลองสลับไปใช้เว็บเบราว์เซอร์อื่นดู ถ้าพบว่าผลลัพธ์ต่างกัน คุณก็จะทราบได้ง่ายว่าปัญหาเกิดจากอะไรและควรจะเปลี่ยนเว็บเบราว์เซอร์ไหม
บางครั้งสาเหตุก็เกิดจากเครือข่ายที่ใช้งาน โดยเฉพาะถ้าคุณกำลังใช้เครือข่ายสาธารณะ เช่น Wi-Fi อาคาร, ร้านอาหาร โรงแรม และอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว และมันอาจทำให้เกิดปัญหาของเราตามมาด้วย เพราะส่วนใหญ่ Wi-Fi สาธารณะมักจะไม่รันบน HTTPS แต่ใช้เว็บพอร์ทัลของตัวเองเพื่อให้ผู้ใช้ยินยอมข้อตกลง และ เข้าถึงเครือข่ายได้ ดังนั้นเวลาอยู่นอกสถานที่ ควรใช้เครือข่ายมือถือ หรืออะไรจำพวกนี้ดีกว่า
ถ้าคุณใช้คอมพิวเตอร์และเครือข่ายในบ้านอยู่แล้ว สาเหตุก็อาจเกิดจาก ข้อผิดพลาดของ เราเตอร์ (Router) ก็เป็นได้ ให้ลองรีเซ็ตเราเตอร์กลับมาเป็นค่าโรงงานดูสักครั้ง มันอาจช่วยคุณได้ ปกติเราเตอร์แต่ละรุ่น มีวิธีการรีเซ็ตไม่เหมือนกัน คุณสามารถหาขั้นตอนและวิธีทำได้ตามรุ่นที่ใช้งานเลย
การตั้งค่า วันที่และเวลาของอุปกรณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือ เขตโซนที่คุณอาศัยอยู่ สามารถส่งผลกระทบต่อความเข้าใจผิดของเบราวเซอร์ในการตรวจสอบใบรับรอง SSL (SSL Certificate) ได้เหมือนกัน ทางทีดีให้ตรวจสอบว่าเวลาตรงกันไหม ? หรือปรับเป็นอัตโนมัติจะเหมาะสมที่สุด
ลองปิดการใช้งาน Firewall และโปรแกรมแอนตี้ไวรัสดู หากโหลดหน้าเว็บแล้วขึ้น "Your connection is not private" วิธีนี้น่าจะช่วยคุณได้
กรณีถ้าคุณมี โปรแกรมแอนตี้ไวรัส (Antivirus Software) แบบ บุคคลที่สาม (3rd Party) ให้ปิดการทำงานของโปรแกรมด้วย จากนั้นเข้าสู่หน้าเว็บไซต์เดิมที่มีปัญหา
นอกจาก โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito Mode) จะช่วยให้คุณเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ แบบส่วนตัวได้แล้ว ก็สามารถช่วยให้คุณแก้ "Your connection is not private" ได้เหมือนกัน และเรายังสามารถวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่อคุณเข้าเว็บไซต์ด้วยโหมดไม่ระบุตัวตนแล้วก็ยังเจอผลลัพธ์เหมือนเดิม แสดงว่าข้อผิดพลาดนั้นอาจเกิดจากเว็บไซต์นั้นมีปัญหาด้านความปลอดภัยจริง ๆ หรืออาจเป็นที่ปัจจัยอื่นของเว็บเบราว์เซอร์ เช่น การติดตั้งส่วนเสริม หรือ ข้อมูลแคชที่ทำงานผิดพลาด
โดยนอกจาก เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome แล้ว เว็บเบราว์เซอร์อื่น ๆ อย่าง Microsoft Edge, Mozilla Firefox และอื่น ๆ ก็มีโหมดไม่ระบุตัวตนให้ใช้เหมือนกัน แต่ชื่อเมนูอาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย
แน่นอนว่าพวก ไฟล์คุกกี้ (Cookies) ข้อมูลแคช (Cache) และประวัติเว็บเบราว์เซอร์ (Browsing History) ที่เว็บเบราว์เซอร์ได้บันทึกเอาไว้ให้คุณต่างเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ และช่วยในการอำนวยความสะดวกสำหรับการใช้งานครั้งต่อไป แต่อีกทางมันก็อาจเป็นสาเหตุของปัญหานี้ได้เหมือนกัน และการล้างประวัติเว็บเบราว์เซอร์ก็สามารถช่วยคุณได้
เวลาเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่าง ๆ คอมพิวเตอร์ของคุณจะมีการเก็บข้อมูล Domain Name และ IP Address ที่เคยค้นหามาแล้ว เพื่อที่จะได้ไม่ต้องส่งไปถาม DNS Server ทุกครั้งเวลาเรียกใช้เว็บไซต์ที่เคยเชื่อมต่อ แต่บางครั้งข้อมูลที่เก็บไว้ก็อาจเสียหาย หรือ เก่าไปจนทำให้เกิดข้อผิดพลาดจากการเชื่อมต่อเว็บไซต์ ทางแก้คือต้องล้างแคช DNS บนอุปกรณ์ของคุณ หรือ การ "Flush DNS"
ภาพจาก https://www.technewstoday.com/your-connection-is-not-private/
เราหวังว่ามันจะช่วยคุณได้ แต่หากลองทำวิธีทั้งหมดแล้วยังไม่ได้ผล ก็อาจต้องพิจารณาว่าเว็บไซต์เหล่านั้นผิดข้อกำหนดและไม่ผ่านการตรวจสอบ "SSL Certificates" ของเว็บเบราว์เซอร์จริง ๆ ซึ่งคุณคงแก้อะไรไม่ได้
|
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว |