คุณเคยสังเกตไหมว่า ? เราเตอร์ (Router) ที่วางขายกันอยู่ในปัจจุบันนั้น แต่ละยี่ห้อจะมีชื่อตัวอักษรอยู่ข้างกล่องที่มักจะขึ้นต้นด้วย AC และ AX และตามด้วยหมายเลข เช่น AC1200 หรือ AX1800 ต่อท้ายอยู่เสมอ รหัสพวกนี้หมายถึงอะไรกันนะ ?
บางคนอาจจะเดาว่าตัวเลขที่เยอะของเราเตอร์นั้นหมายถึงความเร็วใช่ไหม ? ยิ่งเลขเยอะ ก็ยิ่งเร็ว ? คำตอบคือ ใช่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะรายละเอียดจริง ๆ ที่ซ่อนอยู่มีมากกว่านั้น ดังนั้นเราลองมาทำความเข้าใจความหมายทั้งหมดของตัวอักษรและเลขที่ว่านี้กัน
มาเริ่มกันที่ความแตกต่างระหว่างตัวอักษร AC และ AX บนชื่อเราเตอร์ อักษรนำหน้าเหล่านี้บ่งบอกถึงมาตรฐาน (Standard) ของ Wi-Fi ที่เราเตอร์ตัวรองรับ เช่น เราเตอร์ที่ขึ้นต้นด้วย AC จะรองรับมาตรฐานสูงถึง Wi-Fi 5 ส่วนเราเตอร์ที่ขึ้นต้นด้วย AX จะรองรับมาตรฐาน Wi-Fi ในปัจจุบันนั่นก็คือ Wi-Fi 6 นั่นเอง
โดยมาตรฐานของรหัสดังกล่าวอย่าง Wi-Fi AX จะประกอบไปด้วยคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วที่ถูกพัฒนาให้เร็วมากขึ้น, มีการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น อัตราการส่งสัญญาณที่ไวขึ้น รวมไปถึงการจัดการแบตเตอรี่ที่ยาวนานมากขึ้น นั่นเอง
จากตารางด้านล่างเราจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มาตรฐานระบบเครือข่ายไร้สาย Wi-Fi นั้นมีการพัฒนามายาวนานหลายปี จนมาถึง Wi-Fi 6 (รหัส AX) ในปัจจุบัน และในอนาคตกำลังจะมี Wi-Fi 7 ตามมาอีกในไม่ช้า (คาดว่าจะได้ใช้งานจริงในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567))
Generation/IEEE Standard | อัตราการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุด | เริ่มใช้งาน | ความถี่ |
---|---|---|---|
Wi-Fi 7 (802.11be) | 40,000 Mbps | ค.ศ. 2024 | 6 GHz |
Wi-Fi 6/6E (802.11ax) | 600-9,608 Mbps | ค.ศ. 2019 | 2.4/5/6 GHz |
Wi-Fi 5 (802.11ac) | 433-6,933 Mbps | ค.ศ. 2014 | 5 GHz |
Wi-Fi 4 (802.11n) | 72-600 Mbps | ค.ศ. 2009 | 2.4/5 GHz |
Wi-Fi 3 (802.11g) | 3-54 Mbps | ค.ศ. 2003 | 2.4 GHz |
Wi-Fi 2 (802.11a) | 1.5-54 Mbps | ค.ศ. 1999 | 5 GHz |
Wi-Fi 1 (802.11b) | 1-11 Mbps | ค.ศ. 1999 | 2.4 GHz |
มาตรฐาน Wi-Fi ถูกพัฒนาและควบคุมโดยองค์กรที่มีชื่อว่า IEEE หรือ "The Institute of Electrical and Electronics Engineers" เพื่อให้ทุกอุปกรณ์มีมาตรฐานที่ใช้ร่วมกันได้
รหัสที่อยู่ข้างกล่อง หรือ บนตัวเราเตอร์ นั้นจะแยกเป็นสองส่วนหลัก ๆ ซึ่งเราสามารถดูตามนี้ได้ง่าย ๆ
โดยเราเตอร์แบบ AC/AX จะมีตัวเลขต่อท้ายอยู่เสมอ ใช้บ่งบอกถึงความเร็วของอัตราการรับ - ส่งข้อมูลสูงสุด (Maximum Bandwidth) ที่รองรับ
แต่บางรุ่นอาจจะมีชื่อแตกต่างจากปกติ โดยขึ้นต้นด้วยชื่อแบรนด์ (NETGEAR Nighthawk), ชื่อรุ่น (X6S), และชื่อโมเดล (R8000P) ที่วางขาย ต่อด้วยมาตรฐาน Wi-Fi ที่ใช้ (AC4000)
ตัวอย่าง : NETGEAR Nighthawk X6S R8000P AC4000
ตัวเลขที่อยู่บนเราเตอร์อาจจะทำให้ใครหลาย ๆ คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องความเร็ว บางคนอาจจะเข้าใจว่า เราเตอร์ อย่าง AX3600 นั้นรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 3,600 Mbps ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเร็วไม่ถึงขนาดนั้น..
นั่นก็เพราะความเร็วของเราเตอร์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ความเร็วที่สามารถทำได้ในคลื่นความถี่ Wi-Fi 2.4 GHz และ Wi-Fi 5 GHz นั่นเอง เพื่อจะให้เห็นภาพลองมาดูกราฟด้านล่างนี้
ตัวอย่าง ความเร็วบนเราเตอร์ AX3600
จากที่เห็นเราเตอร์ AX3600 จะมีการแบ่งความเร็วเป็นสองคลื่นสัญญาณโดยเสาสัญญาณที่ปล่อยคลื่นความถี่ 2.4 GHz จะสามารถทำความเร็วได้ที่ 1,200 Mbps และเสา 5 GHz จะทำความเร็วได้ที่ 2,400 Mbps ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์ไม่สามารถเชื่อมต่อคลื่นสัญญาณพร้อมกันได้ ทำให้เลือกใช้สัญญาณได้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ตัวอย่าง ความเร็วบนเราเตอร์ AX5400
ส่วนเราเตอร์รุ่นอื่น ๆ ที่มีตัวเลขสูง ๆ อย่าง AX5400 จะใช้วิธีการแบ่งการกระจายสัญญาณออกเป็น 3 ส่วนแทน เช่น ความถี่ 2.4 GHz จะปล่อยความเร็วได้ที่ 1,000 Mbps ส่วนความเร็วที่เหลือจะถูกแบ่งออกเป็นสองเสาสัญญาณ โดยวิ่งที่ 2,167 Mbps บนความถี่ 5 GHz แยกกันนั่นเอง
อย่างไรก็ตามเลขความเร็วของเราเตอร์เหล่านี้เป็นเพียงแค่ความเร็วทางทฤษฎีที่ใช้ทดสอบภายในแลปห้องทดลอง (Tesing in Laboratory) เท่านั้น ความเร็วในการใช้งานจริงจะต่างกันออกไป
หากคุณสงสัยว่าเราเตอร์ AC และ AX ที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน จะมีความเร็วเหมือนกันหรือไม่ ? คำตอบก็คือ "ไม่ครับ" ถ้าจะให้เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนรถยนต์ ต่อให้มีล้อ มีเครื่องยนต์ แบบเดียวกัน แต่การออกแบบภายในและภายนอกไม่เหมือนกัน ความเร็วและอัตราเร่งที่สามารถทำได้ก็แตกต่างกันอยู่ดี
ถ้าจะให้เห็นภาพความแตกต่าง งั้นเราไปดูตัวอย่างผลทดสอบความเร็วของ Router ที่ใช้มาตรฐานเดียวกันได้ที่ด้านล่างนี้ ทดสอบโดยเว็บไซต์ Digital Citizen
เปรียบเทียบ Router AC1200 แต่ละยี่ห้อ
เห็นไหมครับว่าต่อให้เราเตอร์ AC1200 มาตรฐานเดียวกัน พอทดสอบจริง ๆ ก็ได้ความเร็วไม่เท่ากัน นั่นก็เพราะแต่ละแบรนด์มีการออกแบบและเลือกใช้ฮาร์ดแวร์ที่ต่างกัน เช่น หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), แรม (RAM), พื้นที่เก็บข้อมูล (Storage), แผงวงจร (Curcuit Board) รวมไปถึงการออกแบบเสาสัญญาณ ให้เหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภทต่างกันอีกด้วย
นอกเหนือจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อจำกัดความเร็วของเราเตอร์ นั่นก็คือ ขนาดพื้นที่นั้นมีผลต่อการใช้งาน ถ้าเป็นพื้นที่กว้างไร้สิ่งกีดขวางก็จะสามารถรับสัญญาณได้ดี รวมไปถึงความแรงของการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างเราเตอร์และอุปกรณ์ที่เราใช้ ก็มีผลต่อความเร็วที่ได้เช่นกัน หากอุปกรณ์ที่เราใช้ หรือ เราเตอร์ส่งสัญญาณได้ไม่แรงพอก็สามารถทำให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตช้าลงได้
อยากได้เราเตอร์ตัวใหม่ควรซื้อ Router แบบ AC หรือ AX ดีนะ ? ถ้าคุณยังตัดสินใจไม่ได้ลองมาดูตารางนี้กันก่อน โดยเราสามารถแบ่งเราเตอร์ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ให้เหมาะกับการใช้งานได้ง่าย ๆ ดังนี้
มาตรฐาน Wi-Fi | จำนวนอุปกรณ์ (เชื่อมต่อได้สูงสุด) | ขนาดห้อง (ตารางเมตร) | ประเภทการใช้งาน |
AC750, AC1200, AC1750 | 10-20 | บ้านชั้นเดียว, คอนโด 1 ห้องนอน (ไม่เกิน 139 ตารางเมตร) | เล่นเน็ต, อีเมล, โซเชียล |
AX1800, AX2400, AX3000 | 20-30 | บ้านสองชั้น, บ้านแฝด, คอนโด 2 ห้องนอน (ไม่เกิน 185 ตารางเมตร) | เล่นเกมออนไลน์, สตรีมวิดีโอ HD - 4K, วิดีโอคอล, การทำงานจากที่บ้าน (WFH), ประชุม - เรียน - สอนออนไลน์ |
AX5400, AX6000 AX6600 | 40-50 | บ้านแฝด 2 ชั้น, อาคารพาณิชย์, คอนโด (ไม่เกิน 232 ตารางเมตร) | เล่นเกมออนไลน์, สตรีมวิดีโอ 4K, การทำงานจากที่บ้าน (WFH), YouTuber, แคสต์เกม Upload - Download ข้อมูลจำนวนมาก |
AX11000, AXE11000 | 60 | บ้านขนาดใหญ่, คอนโด (ไม่เกิน 278 ตารางเมตร) | ใช้งานได้ทุกอย่าง + เร็วแรงทะลุทุกสรรพสิ่ง |
ถึงแม้เราเตอร์ประเภทต่าง ๆ จะออกแบบมาให้รองรับการใช้งานได้ตามสเปกที่ระบุไว้ แต่การใช้งานเราเตอร์เพียงตัวเดียวก็ยังมีข้อจำกัดในด้านการรับส่งสัญญาณอยู่ดี หากต้องการทำให้เราเตอร์มีประสิทธิภาพในการรับ - ส่งสัญญาณจำเป็นต้องติดตั้งตัวช่วยขยายสัญญาณเพิ่มเติม เช่น ระบบเครือข่ายแบบตาข่าย (Mesh Wi-Fi) หรือ ตัวขยายสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi Extender) เพื่อให้มีคุณภาพที่ดีและเสถียรยิ่งขึ้น หากใครยังมีข้อสงสัยในการเลือกซื้ออยู่ ก็สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมที่ด้านล่างนี้ได้ครับ
อ่านเพิ่มเติม : แนวทางการเลือกซื้อเราเตอร์ (Router) มีอะไรต้องใส่ใจบ้าง ?
|
It was just an ordinary day. |