ลองจินตนาการว่า ณ ตอนนี้ คุณกำลังสนใจเกี่ยวกับเกมลดราคา แล้วคุณก็เลยแวะไปเยี่ยมชมดีลต่าง ๆ ตามเว็บไซต์ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก แล้วในระหว่างที่คุณเช็คราคาเกมที่คุณกำลังต้องการ คุณก็ยังไม่พร้อมที่จะซื้อในเดี๋ยวนั้น หรือบางทีก็แค่อยากแวะมาเช็คราคาก่อนเฉย ๆ เพื่อที่จะได้เตรียมตังค์ถูก
แต่หลังจากที่คุณออกจากเว็บไซต์นั้นมา คุณก็สังเกตเห็นว่า มีโฆษณาเกมเดิม ราคาเซลเดิมที่คุณเจอมา หรือบริษัทที่คุณแวะไปดูมา เด้งขึ้นมาเป็นโฆษณาในเว็บไซต์อื่นหลังจากที่คุณออกจากเว็บนั้น ๆ มาแล้ว ตามมาหลอกหลอนถึงที่ ซึ่งบางทีปรากฎเป็นครั้งคราวก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้ามันปรากฎเรื่อย ๆ ปรากฎซ้ำ ๆ ตลอดทุกเว็บที่คุณไป สิ่งนี้เรียกว่า Retargeting Ads ที่ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึง และอธิบายว่าทำไมบางเว็บไซต์ถึงต้องทำแบบนี้ พร้อมวิธีกำจัดพวกมันออกไปไม่ให้ตามมาหลอกหลอนอีก
อย่างที่เราได้เกริ่นนำไปข้างต้นแล้วว่า Retargeting Ads จะเกิดขึ้นเมื่อคุณไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่คุณไม่ได้สำเร็จการซื้อขาย หรือดีลธุระกับเว็บไซต์นั้น ๆ ที่เว็บนั้นอยากให้สำเร็จเสร็จสิ้น ก็จะก่อให้เกิดกระบวนการนำข้อมูลที่เก็บไว้จากการที่คุณเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ มาใช้ประโยชน์ต่ออีกทีหนึ่ง
กล่าวคือ เว็บไซต์ดังกล่าว จะนำ เว็บคุ้กกี้ (Web Cookie) หรือประวัติการเข้าชม (Access History) ที่เก็บได้จากตัวคุณ ตามไปหาทางยิงโฆษณาให้ผ่านตาคุณในพื้นที่เว็บไซต์ที่คุณจะมีโอกาสผ่านไปอีกทีนั่นเอง
ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น ถ้าเว็บขายของอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวลงทะเบียนใช้งาน Retargeting Ads กับ Google Ads ไว้ โฆษณาที่เป็นของบริษัทนั้น ๆ ก็จะกลับไปปรากฎที่เว็บอื่นที่อยู่ในเครือข่ายที่ลงทะเบียนไว้ภายใน Google Display Network (GDN) อีกที ซึ่งก็อย่างที่รู้ ๆ กัน ว่าเว็บไซต์ส่วนใหญ่ก็ใช้งาน Google กันแทบจะทุกเว็บไซต์อยู่แล้ว
เครดิตภาพ : https://landerapp.com/blog/what-is-retargeting-2/
และแม้กระทั่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เอง ก็ยังใช้วิธีนี้ด้วยเหมือนกัน โดยใช้เครื่องมิอที่ชื่อว่า Facebook Pixel ซึ่งถ้าเว็บขายของอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่า ใช้ Facebook Pixel ด้วย โฆษณาของบริษัทนี้ก็จะมาโผล่ใน Facebook ได้ด้วย
จากคำถามในหัวข้อว่า Retargeting Ads กับ Targeted Ads เหมือนกันหรือเปล่า ? คำตอบคือ "ไม่" โดยเหตุผลก็เพราะว่า ถ้าเป็น Targeted Ads หรือโฆษณาที่ยิงตรงหากลุ่มเป้าหมายแล้วล่ะก็ มันจะเป็นแค่โฆษณาที่คล้าย ๆ กันกับสิ่งที่คุณแวะไปเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์อื่น ๆ มาก่อนหน้าเท่านั้น และมันไม่จำเป็นว่าจะต้องตรงกันหรือเป็นสินค้าเดียวกันเสมอไป
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/why-seeing-same-ads/
นั่นเป็นเพราะว่า เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) หรือ เครื่องมือค้นหา (Search Engine) ที่คุณใช้อยู่ อาจจะแชร์ข้อมูลเว็บไซต์ หรือว่าแพลตฟอร์มโซเชียลที่คุณใช้อยู่ไปให้เว็บไซต์อื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรหรือเป็นเว็บไซต์สำหรับลงโฆษณาด้วย ซึ่งเว็บที่ได้รับข้อมูลไป ก็จะจัดการใช้ข้อมูลนั้น มาอ้างอิงเพื่อนำเสนอโฆษณาที่ใกล้เคียงกันกับพฤติกรรมการท่องเว็บไซต์ของคุณแทน ซึ่งจะเป็นการคาดเดาความน่าจะชอบของคุณ แทนที่จะเป็นการเอาข้อมูลของเว็บที่คุณเคยไปเยี่ยมชมนั้นมาลงซ้ำอีกที
สำหรับผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ที่ต้องพบเจอกับโฆษณาเหล่านี้เป็นประจำ บางคนก็รู้สึกว่าการยิงโฆษณาแบบนี้ดูน่ากลัวเกินไป (เหมือนถูกติดตามตลอดเวลา) บ้างก็รู้สึกว่ามันน่ารำคาญ แถมบางครั้งก็ยิงมาหาด้วยไทม์มิ่งแย่ ๆ เพราะต้องมาเจอโฆษณาซ้ำเดิมทั้ง ๆ ที่ก็ซื้อสินค้าชิ้นนั้นไปแล้ว
ในอีกมุมหนึ่ง โฆษณาเหล่านี้ก็เป็นเสมือนตัวย้ำเตือนให้คุณนึกถึงสินค้าหรือบริษัทนั้นบ่อย ๆ ว่าคุณเคยแวะเว็บไซต์นั้นมา และทำให้คุณแวะกลับไปได้อีกรอบเพื่อจัดการซื้อให้เสร็จสิ้นโดยไปต้องไปค้นหาจากประวัติการท่องเว็บ ซึ่งก็เป็นแง่ดีสำหรับคนที่ต้องการจะกลับไปซื้อ แต่ถ้ามองในมุมคนที่ไม่ต้องการกลับไปเว็บนั้นอีก มันก็จะกลายเป็นดูคุกคามไปได้ด้วย
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/why-seeing-same-ads/
อย่างไรก็ตาม หลักการนี้จะเป็นแบบเดียวกันกับ Ad Targeting แต่ Ad Targeting จะดูน่ากลัวมากกว่า เพราะบรรดาเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในการคาดเดาความต้องการ, ไลฟ์สไตล์, และสิ่งที่คุณน่าจะกำลังมองหามากกว่า
การลบประวัติการท่องเว็บ, คุกกี้, และเว็บแคชทิ้ง ให้ออกไปให้หมดจาก เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) ถือเป็นการลบข้อมูลเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่จะถูกส่งไปป้อนให้กับบรรดาโฆษณาต่าง ๆ ได้ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ลบข้อมูลล็อกอินและข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ ออกไปด้วยเป็นประจำ ก็จะทำให้โฆษณาพวกนั้นไม่ได้ข้อมูลของเราไป
เว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีช่องแบบฟอร์มให้เรากรอกข้อมูลเข้าไปมากมายหลายสิบช่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องกรอกมันลงไปซะทั้งหมด เหลือบางช่องไว้ให้เป็นปริศนาบ้างก็ได้ เพื่อที่ว่าบรรดาโฆษณาต่าง ๆ จะได้ไม่มารบกวนคุณมากนัก
ข้อมูลบางอย่างเช่นเรื่องเพศ ลองเปลี่ยนไปใช้แบบ Custom ดูบ้างก็ได้
โปรดจำไว้ว่า โซเชียลมีเดียวต่าง ๆ จะตามแทรคคุณเพื่อหาประเภทคอนเท้นท์ที่คุณสนใจด้วยเหมือนกัน และเมื่อคุณคลิกโฆษณาเข้าไป ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า โฆษณาเหล่านั้นถูกจริตคุณ และมันจะตามส่งโฆษณาอื่น ๆ ที่คล้ายกันมาหาด้วยเป็นลำดับถัดไป
เมื่อคุณใช้ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network - VPN) การที่เว็บไซต์ต่าง ๆ จะตามแกะรอยตัวคุณด้วยคุกกี้ก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะ VPN จะทำการซ่อน หมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่แท้จริงของคุณไว้ นั่นหมายความว่าบรรดาเว็บไซต์ทั้งหลายก็จะไม่รู้ด้วยว่าจะส่งโฆษณาไปที่ไหนดี (เหมือนอยากส่งใบปลิวไปให้ แต่ไม่รู้ที่อยู่บ้านน่ะ)
ถึงแม้ว่า Ad Blocker จะไม่สามารถบล็อกโฆษณาไปได้หมดซะทีเดียว แต่การใช้มัน ก็จะช่วยลดโฆษณาที่คุณจะต้องเห็นลงไปได้ดี ทั้งการซ่อนไว้ หรือการไม่ให้มันโหลดขึ้นมา
เว็บเบราว์เซอร์บางเว็บ จัดว่ามีความเป็นส่วนตัวมากกว่าเว็บเบราว์เซอร์อื่น ๆ ที่เป็นที่นิยม ยกตัวอย่างเช่น Brave Browser ที่ไม่เพียงแต่จะมี Ad Blocker มาให้เลยในตัว แต่ยังมีตัวบล็อกตัวติดตามการแทรคกิ้ง และคุกกี้จากมือที่สาม ที่ทำให้ไม่สามารถติดตามการค้นหาของเราได้
นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้งานโหมดไม่ระบุตัวตนแทน เช่น โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito Mode) ของ Chrome เพื่อการใช้งานแบบนี้โดยเฉพาะได้เช่นกัน
ในปัจจุบัน มีบริการค้นหา หรือ Search Engine หลากหลายเจ้าที่ไม่ติดตามและแชร์ข้อมูลการค้นหาของคุณให้คนอื่น เช่น DuckDuckGo
ถ้าเว็บไซต์เหล่านั้นเสนอการเก็บข้อมูลคุกกี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ให้อ่านวิธีนำคุกกี้ไปใช้งานของเว็บไซต์นั้นดู ว่ามีการนำไปแชร์กับบุคคลที่สามหรือเปล่า หรือไม่ก็ลองมองหาตัวเลือกเพื่อปิดมันดู
|
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน |