ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

ฝุ่นทำอันตรายกับ คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร ? พร้อมวิธีทำความสะอาด ป้องกันฝุ่นสร้างความเสียหาย

ฝุ่นทำอันตรายกับ คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร ? พร้อมวิธีทำความสะอาด ป้องกันฝุ่นสร้างความเสียหาย

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 11,023
เขียนโดย :
0 %E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%94+%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

ปล่อยให้ฝุ่นเกาะคอมพิวเตอร์นาน ๆ อันตรายหรือไม่ ?

คอมพิวเตอร์เป็นเฟอร์นิเจอร์หนึ่งในห้องที่มักจะโดน ฝุ่นจับ มากที่สุด (อาจจะเว้นเมาส์ ปุ่มคีย์บอร์ด และปุ่มพาวเวอร์ เพราะสัมผัสมันทุกวัน) ด้วยความที่เป็นอุปกรณ์ที่ถูกทำความสะอาดน้อยที่สุด และอีกเรื่องหนึ่งคือ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามักจะมี ไฟฟ้าสถิต (Static Electricity) ดึงดูดฝุ่นให้เข้าหาอีกด้วย

บทความเกี่ยวกับ Computer อื่นๆ

หรือแม้เราจะทำความสะอาด เช็ดถูอยู่ทุกวัน คอมพิวเตอร์ก็มีซอกต่าง ๆ รวมทั้งส่วนประกอบภายในที่ยุ่งยากในการถอดมาทำความสะอาดเหลือเกิน จนหลาย ๆ คนก็ถอดใจ ปล่อยให้ฝุ่นเกาะอยู่แบบนั้น และใช้งานกันไปเรื่อย ๆ

แต่รู้ไหมว่า การปล่อยให้ฝุ่นอยู่กับคอมพิวเตอร์ไปอย่างนั้น ก็ให้เกิดผลเสียมากมาย จนไปถึงอาจทำให้ ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ (Computer Hardware) หลาย ๆ ชิ้นพังกันไปเลยทีเดียว บทความนี้จะมาดูความสำคัญในเรื่องนี้กัน

เนื้อหาภายในบทความ

ฝุ่นทำอันตรายกับ คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร ?
(How is dust harmed your computer ?)

นอกจากสเปกที่แรง ๆ แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือ 'อุณหภูมิของระบบ' โดยคอมพิวเตอร์จะมีระบบป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เสียหายจากความร้อนที่มากเกินไป ด้วยการปรับลด ความเร็วนาฬิกาของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU Clock Speed) การทำงานของ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ให้ช้าลง หรือหยุดการทำงานบางส่วน เพื่อให้จ่ายไฟน้อยลง ลดความร้อนในระดับหนึ่ง และมีพัดลมระบายอากาศเพื่อช่วยชะลอความร้อน ให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพนานขึ้น

ซึ่งฝุ่นก็มาเป็นอุปสรรคตรงการระบายความร้อนนี่แหละ ยิ่งเราปล่อยให้ฝุ่นจับตัวบนคอมฯ หนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผงวงจรต่าง ๆ ช่องระบายความร้อน หรือพัดลม ก็ทำให้การระบายความร้อนยากขึ้น ซึ่งก่อผลเสียดังนี้

คอมพิวเตอร์ลดความเร็วตลอดเวลา

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น คอมลด CPU Clock Speed เพื่อรอให้เครื่องเย็นลงแล้วจึงจะกลับมาทำงานเต็มประสิทธิภาพ แต่เมื่อไม่สามารถคลายความร้อนได้ จึงทำงานแบบลดความเร็วตลอดเวลา สังเกตได้จากคอมเก่า ๆ สกปรก ๆ มักจะอืดกว่าคอมฯ ที่แกะกล่องเปิดมาใหม่ ๆ

อุปกรณ์บางชนิดทำงานผิดปกติ

อุปกรณ์ทั้งหลายมีการเชื่อมต่อ หรือ การใช้งานที่ละเอียดอ่อน ซึ่งฝุ่นที่โดนพัดลมพัดสามารถเข้าไปแทรกตามซอกต่าง ๆ ได้ลึกขึ้น ขัดขวางการทำงานได้ เช่น ช่องพอร์ตต่าง ๆ ที่มีฝุ่นเกาะ เวลาเสียบอุปกรณ์เข้าไป ก็อาจทำให้ทำงานผิดเพี้ยน หรือเชื่อมต่อไม่ติดได้ หรือจะเป็น เมาส์ (Mouse) กับคีย์บอร์ด (Keyboard) ในบางชนิด ที่ใช้เซ็นเซอร์ในการทำงาน ก็อาจโดนฝุ่นบังจนทำงานไม่ปกติได้เช่นกัน

ฝุ่นทำอันตรายกับคอมพิวเตอร์อย่างไร ? (How is dust harmed your computer ?)
ฝุ่นจับตัวลึกลงไปใน Slot
ภาพจาก : pixabay.com

อุปกรณ์เสื่อมสภาพไว

วัสดุที่เป็นส่วนประกอบในการผลิต หลาย ๆ ชิ้นไม่ได้ทนต่อความร้อน เช่น พลาสติก ยางซิลิโคน หรือแม้แต่โลหะ ถ้าเจอความร้อนในระดับหนึ่ง ก็ทำให้เสื่อมสภาพ หรือมีความเสี่ยงเสียหายได้ เห็นได้จากข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น เรื่อง หัวจ่ายไฟการ์ดจอละลาย เมื่อเจอความร้อนมากจนเกินไป

ฝุ่นสร้างไฟฟ้าสถิตทำให้อุปกรณ์เสียหายได้

ฝุ่นเป็นอนุภาคที่ก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ หากมีจำนวนมากพอก็จะก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้บ่อยขึ้น อาจไปทำลายวงจรต่าง ๆ ของคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ชำรุดเสียหายได้

จากผลเสียที่กล่าวมา ใน 2 ข้อท้ายดูน่ากังวลที่สุด เพราะทำให้อุปกรณ์อายุขัยสั้นลง หรืออาจเสียหายทันที มีรายจ่ายแบบไม่ทันตั้งตัว

ฝุ่นเกิดจากอะไร ?
(How dust is formed ?)

แม้เราจะไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่ก่อให้เกิดฝุ่น แต่ฝุ่นก็โผล่มาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ เพราะแหล่งกำเนิดของฝุ่นมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า, กระดาษ, กรวด, หิน, ดิน, ทราย, เฟอร์นิเจอร์ไม้, พลาสติก, ขนสัตว์, รวมไปถึง ซากแมลงที่ตาย, แบคทีเรีย, ตัวไรฝุ่น หรือแม้กระทั่ง เซลล์ผิวหนังของมนุษย์เราเอง ก็เช่นกัน

โดยฝุ่นภายในบ้านกว่า 20-50% เกิดมาจากเซลล์ผิวหนังของผู้อยู่อาศัย ที่ตายและหลุดลอกออกมาจากร่างกาย นอกเหนือจากนั้น ก็เกิดมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวข้างต้น รวมทั้งสถานที่ที่มีคนเดินเข้าออกบ่อย ๆ ก็สามารถเกิดฝุ่นได้มากกว่าในบ้านที่มีการเคลื่อนไหวน้อย ๆ อีกด้วย เช่น ที่ทำงาน ร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนสถานที่ที่มีกิจกรรมก่อให้เกิดอนุภาคเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงเหล็ก หรือแม้แต่ห้องครัว ก็สามารถก่อฝุ่นได้มากกว่า สถานที่ทั่ว ๆ ไป

อ่านเพิ่มเติม : ฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร ? ย่อมาจากคำว่าอะไร ? และ ผลกระทบ อันตรายจากฝุ่น PM 2.5

วิธีป้องกันไม่ให้ ฝุ่นสร้างความเสียหาย กับคอมพิวเตอร์
(How to keep dust out of your computer ?)

ฝุ่นเกิดขึ้นได้ทุกที่ แต่เราสามารถลดโอกาสให้ฝุ่นจับตัวบนคอมพิวเตอร์ช้าลงได้ ด้วยการเลือกสภาพแวดล้อมสำหรับการติดตั้งคอมพิวเตอร์ ดังนี้

ไม่วางเคสคอมพิวเตอร์บนพื้นหรือใกล้พื้น

การยกเคสสูงขึ้นจากพื้นอย่างน้อย 6 นิ้ว ช่วยป้องกันฝุ่นเข้าตัวเครื่องได้มากถึง 80% จะวางไว้บนโต๊ะ หรือหาชั้นวางอะไรมาตั้งก็ได้ หรือหากใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยส่วนใหญ่จะมีช่องให้สำหรับวางเคสคอมพิวเตอร์ที่สูงจากพื้นอยู่แล้ว

ตั้งคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากประตูและหน้าต่าง

ประตูและหน้าต่างจะนำฝุ่นต่าง ๆ มาเกาะตัวคอมพิวเตอร์ได้ ตราบใดที่มีการเปิด-ปิดกันบ่อย ๆ แต่หากห้องไม่ได้เปิดหน้าต่างอยู่แล้ว จะวางรับแสงสวย ๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา เว้นแต่ว่าหน้าต่างจะมีม่านที่เก็บฝุ่นอีก

อย่าวางใกล้กับของที่เก็บฝุ่น หรือก่อให้เกิดฝุ่น

แค่ฝุ่นที่เกิดจากตัวเรา ไม่ว่าจะเซลล์ผิวที่ตาย เส้นผม หรือเสื้อที่ใส่ก็มากพอแล้ว ถ้าเป็นไปได้ อย่าวางคอมพิวเตอร์ไว้กับเสื้อผ้าต่าง ๆ ผ้าม่าน โต๊ะ เก้าอี้ที่วัสดุเป็นผ้า เตียง รวมไปถึงกระดาษหรือหนังสือต่าง ๆ

ใช้เครื่องฟอกอากาศ

ไม่ต้องบอกก็รู้ วิธีป้องกันฝุ่นที่ดีที่สุดก็คือการกำจัดหรือลดปริมาณฝุ่นด้วยเครื่องทุ่นแรง เครื่องฟอกอากาศเหมาะกับการดูแลรักษาคอมพิวเตอร์ รวมถึงสุขภาพของเรามาก ๆ

อ่านเพิ่มเติม : แนะนำ เครื่องฟอกอากาศในบ้าน งบไม่เกิน 5,000 บาท

แยกสัตว์เลี้ยงออกจากห้องคอมพิวเตอร์

แค่ตัวเราก็สร้างฝุ่นได้มากพอแล้ว สัตว์เลี้ยงย่อมก่อให้เกิดฝุ่นได้พอ ๆ กัน ยิ่งสัตว์เลี้ยงบางตัวมีพฤติกรรมชอบหาที่อุ่น ๆ ซุกด้วย ก็คงไม่พลาดแป้นคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊กเป็นแน่แท้ การเข้ามาป้วนเปี้ยนแถวคอมฯ บ่อย ๆ ฝุ่นก็จะมาจับตัวเครื่องได้ง่าย ๆ เลย

ไม่สูบบุหรี่ในห้องคอมพิวเตอร์

ขี้บุหรี่เป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่นได้ รวมทั้งควันบุหรี่ถึงแม้จะไม่มีไฟ แต่ถ้าควันมากพอก็สามารถไปสร้างความร้อนและประจุแม่เหล็ก ทำลายวงจรต่าง ๆ ให้เกิดความเสียหายได้

ดูแลสุขภาพ ไม่ปล่อยให้ผิวและหนังศีรษะแห้ง

ในเมื่อผิวหนังเราก่อให้เกิดฝุ่น ก็จัดการดูแลมันซักหน่อย ได้ประโยชน์ทั้งคอมพิวเตอร์ทั้งตัวเราไปเลย ทาโลชั่นบ่อย ๆ ไม่ให้ผิวแห้ง รวมทั้งใช้แชมพูขจัดรังแคเพื่อสุขภาพที่ดี

พกแล็ปท็อปไปไหน ใช้เคสที่กระชับและปิดสนิท

โน้ตบุ๊คหรือแล็ปท็อป เป็นอุปกรณ์ที่ต้องไปเผชิญกับฝุ่นต่าง ๆ ด้านนอก ถ้าเราพกไปแบบไม่มีอะไรห่อหุ้ม หรือใส่กระเป๋าที่หลวมเกินไป ก็มีโอกาสที่ฝุ่นจะวิ่งเข้ามาเกาะทั้งตัวเครื่องและพอร์ตต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงอาจเกิดรอยขีดข่วนได้ เลือกใช้กระเป๋าเคสที่พอดีกับเครื่อง มีซิบปิดแน่นหนา ก็จะลดโอกาสที่ฝุ่นจะเข้าได้มากขึ้น นอกจากนี้จะหยิบเครื่องไปวางใช้งานที่ไหน ก็ต้องดูสภาพแวดล้อมตามที่ไกด์ไว้ในข้อก่อนหน้าทั้งหลายด้วยนะครับ

เมื่อไหร่ที่คอมพิวเตอร์ ควรจะต้องทำความสะอาด
(When we should clean our computer ?)

การทำความสะอาดอะไรบ่อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ (เช่นเรา) ไม่ได้ขยันทำความสะอาดทุกวันแน่ ๆ ลองมาดู 3 ข้อสังเกตเป็นแนวทางว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรทำความสะอาดคอมพิวเตอร์กัน

เมื่อพัดลมระบายความร้อนทำงานเสียงดังมาก

ตอนซื้อมาใหม่ ๆ พัดลมไม่ว่าจะเป่าแรงหรือเบาก็เงียบกริ๊บ แต่วันดีคืนดี จู่ ๆ ก็เสียงดังผิดสังเกต ยิ่งในคอมฯ บางรุ่นที่มีฟังก์ชันปรับพัดลมแรง-เบาตามการใช้งาน แล้วพัดลมดันแรงสุด ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้เล่นเกม หรือใช้งานกราฟิกหนัก ๆ ก็สันนิษฐานได้เลยว่า ฝุ่นมันเริ่มจับจนพัดลมทำงานลำบากแล้ว

เมื่อคอมพิวเตอร์ร้อนง่ายผิดปกติ

คล้าย ๆ กับข้อด้านบน แต่มาจับเรื่องความร้อนแทน หากเอาโน้ตบุ๊ควางตัก หรือพิมพ์คีย์บอร์ดแล้วรู้สึกร้อนผิดปกติ ก็สันนิษฐานได้เลยว่า ฝุ่นอาจจะไปจับช่องระบายอากาศจนไม่สามารถระบายความร้อนได้ ให้รีบทำความสะอาดซะ หรือในกรณีที่ใช้งานคอมฯ ตั้งโต๊ะ ต่อคีย์บอร์ดแยกออกมา หรือเคส CPU ไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ จนสัมผัสความร้อนได้ ก็หา โปรแกรมที่สามารถดู และแจ้งเตือนอุณหภูมิเครื่อง ไว้ใช้ก็ได้

เมื่อมองเห็นฝุ่นจับตัวบนอุปกรณ์อย่างชัดเจน

เป็นส่วนที่สังเกตได้ง่ายที่สุดแต่ส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไป เมื่อเห็นว่าฝุ่นเริ่มจับตัวหนา ไม่ว่าจะบนเคส คีย์บอร์ด หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็สันนิษฐานได้เลยว่า ภายในก็น่าจะจับตัวหนาพอ ๆ กัน อย่าแค่เอานิ้วปาด หรือเช็ดเฉพาะส่วนที่จะใช้งานด้วยความขี้เกียจ ถอดมาทำความสะอาดฝุ่นออกจากคอมพิวเตอร์ดีกว่า เพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

เมื่อไหร่ที่คอมพิวเตอร์ต้องทำความสะอาด ? (When we should clean our computer ?)
ฝุ่นที่จับตัวบนคีย์บอร์ด (Keyboard)
ภาพจาก : pixabay.com

วิธีทำความสะอาด ฝุ่นภายในคอมพิวเตอร์ อย่างปลอดภัย
(How to securely clean dust from your computer ?)

การทำความสะอาดฝุ่นจากคอมพิวเตอร์มีเรื่องที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะฝุ่นที่ทำให้เกิดปัญหาดันลอยเข้าไปเกาะติดอยู่กับส่วนประกอบของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ภายในเคส เราจึงต้องถอดฝาเคสออกเพื่อทำความสะอาดส่วนประกอบอันละเอียดอ่อนทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งมีวิธีการอะไรบ้าง ลองไปดูกันครับ

ใช้เครื่องอัดอากาศ เครื่องเป่าลมแรงดันสูง

สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ประกอบไปด้วยส่วนประกอบชิ้นเล็ก ๆ การทำความสะอาดฝุ่นด้วยแรงลมที่แรงกว่าพัดลมระบายอากาศ ก็ดูเป็นตัวเลือกที่ง่ายที่สุด อุปกรณ์ที่เราแนะนำก็คือกระป๋องอัดอากาศ (Compressed Air Can) ที่สามารถอัดลมเป่าแรง ๆ ออกมาจากปากกระบอกเล็ก ๆ ได้ ก็จะสามารถซอกซอนไปตามซอกหลืบต่าง ๆ เป่าฝุ่นออกมาได้อย่างหมดจด หรือถ้าที่บ้านมีเครื่องเป่าลมแรงดันสูง ก็ใช้งานได้เช่นกัน

วิธีทำความสะอาดฝุ่นในคอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัย (How to clean dust from your computer)

แต่สำหรับวิธีนี้ แนะนำให้ห้องโล่งซักหน่อย หรือถ้ายกไปกลางแจ้งได้ก็จะดีมาก ฝุ่นจะได้ฟุ้งออกไปข้างนอก แทนที่จะหมักหมมอยู่ในห้องเช่นเดิม


ภาพจาก : gfycat.com

ใช้แอลกอฮอล์ 99% และแปรงสีฟันขนนุ่ม ทำความสะอาด

ถ้าแค่เป่าแล้วฝุ่นยังจับตัวเป็นก้อน ก็ต้องหาตัวช่วยให้เหมาะสม ลองหาแปรงสีฟันขนนุ่มด้ามใหม่ มาทำความสะอาดร่วมกับ เอทานอล (Ethanol) หรือแอลกอฮอล์ 99% หรือใช้พวกน้ำยาล้างแผงวงจรก็ได้ ตัววงจรต่าง ๆ จะได้ไม่เป็นอันตราย

วิธีทำความสะอาดฝุ่นในคอมพิวเตอร์อย่างปลอดภัย (How to clean dust from your computer)
เอทิล แอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล
ภาพจาก : Pixabay.com

สาเหตุที่เลือกแอลกอฮอล์ 99% มาเพราะว่า เป็นของเหลวที่แห้ง ระเหยได้ไวกว่าและไม่นำไฟฟ้า แต่แอลกอฮอล์ที่ % ต่ำกว่านี้จะมีส่วนผสมของน้ำมากกว่า ซึ่งน้ำเป็นสื่อนำไฟฟ้า อาจจะทำให้คอมพิวเตอร์เสียหายได้

เช็ดทำความสะอาดพื้นผิวด้านนอกบ่อย ๆ

เราอาจจะไม่ต้องเป่าฝุ่นบ่อย ๆ ถ้าเราเช็ดทำความสะอาดฝุ่นแต่เนิ่น ๆ เป็นประจำ ใช้ผ้าหมาดเช็ดฝุ่นต่าง ๆ บนพื้นผิวอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสที่ฝุ่นจะตกไปตามร่องต่าง ๆ ของคอมฯ ในบางครั้ง คีย์บอร์ด (Keyboard) หรือ เมาส์ (Mouse) ก็อาจใช้งานแล้วมีปัญหา เนื่องจากฝุ่นเข้าไปรบกวนระบบ ซึ่งถ้าเข้าไปลึกขนาดนั้นก็ต้องใช้กระป๋องอัดอากาศระเบิดฝุ่นในร่องออกมาแล้ว

ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องดูดฝุ่น

ถ้าเทียบกับการเป่าฝุ่นด้วยลมแรงดันสูงแล้ว การใช้เครื่องดูดฝุ่นถึงแม้จะเลอะเทอะน้อยกว่าเพราะฝุ่นไม่กระจาย แต่อันตรายต่อส่วนประกอบต่าง ๆ กว่ามาก เพราะปากของเครื่องดูดฝุ่นต้องเข้าใกล้ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ค่อนข้างบอบบาง อาจเกิดการกระแทกจนเสียหายได้ รวมทั้งฝุ่นที่ฝังแน่น เครื่องดูดฝุ่นก็ต้องใช้แปรงช่วยปัดเพื่อให้ฝุ่นหลุดออกมาจนอาจทำให้เสียหายได้เช่นกัน

สำหรับใครที่อยากทำความสะอาดแผงวงจรแบบล้ำลึก (Deep Clean) จริง ๆ ก็ไปติดตามต่อในบทความข้างล่างนี้ได้

เพิ่มเติม : วิธีทำความสะอาด แผงวงจรคอมพิวเตอร์ (Computer Circuit Board) เบื้องต้น โดยไม่ให้เสียหาย


ที่มา : www.gravityusa.com , www.quora.com , fixitmobile.com , computercpr.com , www.onlogic.com , en.wikipedia.org , www.wikihow.com , www.alldryus.com

0 %E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A+%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%94+%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
...
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น