ในบทความนี้ เราจะมาเขียนถึงเทคโนโลยี VPN กันหน่อย ซึ่งอันที่จริงนั้น เราเคยมีบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว และสำหรับใครที่ไม่รู้ว่า VPN ทำอะไรได้ แนะนำให้ไปอ่านบทความ "VPN คืออะไร ?" กันก่อนนะครับ โดยผู้ให้บริการ VPN ก็มีอยู่หลายราย เช่น BullVPN, ExpressVPN, SurfShark, CyberGhost, NordVPN, VPNhub, WARP [1.1.1.1 DNS] ฯลฯ
สำหรับบริการ VPN ที่เราคุ้นเคยกัน ส่วนใหญ่นั้น ก็มักจะเป็นบริการจากบริษัทเอกชน แต่ในตอนนี้ได้มีบริการแบบใหม่ที่เรียกว่า "Decentralized VPN" (ตัวย่อ "dVPN") ที่มันได้รับการขนานนามว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่ของ VPN เลยทีเดียว
สำหรับ จุดแข็งของ Decentralized VPN นั้น ก็ตามชื่อของมันเลย คือมันจะมีการ "กระจายออกจากศูนย์กลาง (Decentralized)" หรือ "การกระจายอำนาจ" นั่นเอง โดยอาศัยหลักการเหมือนกับ การเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต (Internet) ที่เกิดขึ้นผ่าน Node ของผู้ใช้ที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่ได้ขึ้นกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ VPN ที่เป็นศูนย์กลาง ของผู้ให้บริการเหมือนกับ VPN แบบดั้งเดิม อ่านแล้วรู้สึกว่ามันน่าสนใจขึ้นมายังครับ ? ในบทความนี้จะมาแนะนำให้รู้จัก และการเริ่มต้นใช้งานกัน
สำหรับ Decentralized VPN นั้น จริงๆ แล้วก็มีชื่อเรียกอื่นอยู่บ้าง เช่น PSP VPN หรือ DPN มันถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของ VPN แบบดั้งเดิม
เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เรามาทำความเข้าใจหลักการทำงานของ VPN กันก่อนสักเล็กน้อย ...
VPN (Virtual Private Network) แปลเป็นไทยคือ "เครือข่ายส่วนตัวเสมือน" จัดว่าเป็นเครือข่ายของเซิร์ฟเวอร์จำนวนมาก ที่มีบริษัทของผู้ให้บริการเป็นเจ้าของเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้น ผู้ใช้งานจะ "เช่า" แบนด์วิธของเซิร์ฟเวอร์เหล่านั้นเพื่อใช้เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ปลายทางที่ต้องการใช้งาน ประโยชน์ของการใช้งาน VPN นั้นก็เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และใช้เพื่อเข้าถึงเนื้อหาบางอย่างที่อาจจะถูกปิดกั้น หรือสามารถเข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในภูมิภาค หรือพื้นที่ดังกล่าวเท่านั้น
การที่ข้อมูลถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการก่อน ในทางทฤษฎีแล้ว หากทางผู้ให้บริการคิดไม่ซื่อ เขาสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าเราเข้าใช้งานเว็บไซต์ไหนบ้าง และหากมีการ เก็บบันทึกประวัติการใช้งาน หรือ เก็บ Logs เอาไว้ ก็สามารถที่จะตรวจสอบย้อนหลังได้อีกด้วย ว่ากิจกรรมของผู้ใช้งานนั้น ทำอะไรไปบ้าง ?
ถึงแม้ว่าจะมีผู้ให้บริการ VPN หลายรายออกมาเคลมว่า เขาเป็นบริการแบบไม่เก็บ Logs แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยากมาก เพราะต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันล้วน ๆ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว หากทางผู้ให้บริการคิดไม่ซื่อ เขาสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าเราเข้าใช้งานเว็บไซต์ไหนบ้าง และหากมีการ เก็บ Logs เอาไว้ ก็สามารถที่จะตรวจสอบย้อนหลังได้อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการพัฒนา Decentralized VPN (dVPN) ขึ้นมา
สำหรับ Decentralized VPN นั้นเป็นการให้บริการ VPN โดยที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์กลาง (Central Server) ซึ่งจะไม่มีใครเป็นเจ้าของเซิร์ฟเวอร์เลย ข้อมูลจะไม่ถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ใดเซิร์ฟเวอร์หนึ่ง แต่จะถูกส่งไปยังสิ่งที่เรียกว่า "Node" แทน โดยตัว Node นี้อาจจะเป็นเซิร์ฟเวอร์, สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ หรือคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ของใครสักคนหนึ่ง ที่ยินยอมทำตัวเป็น Node อยู่บนเครือข่ายที่ผู้ใช้งานแบ่งแบนด์วิธอินเทอร์เน็ตส่วนที่เหลือจากการใช้งาน ให้กับผู้ใช้งานรายอื่น และเพราะว่ามันไม่มีเซิร์ฟเวอร์ ทำให้การทำงานของ dVPN ดังนั้น มันจึงไม่มีการเก็บ Logs เกิดขึ้นไปโดยปริยาย
ในแว๊บแรกนั้น อาจจะฟังดูแปลก ๆ ที่เราอนุญาตให้ใครก็ไม่รู้เชื่อมต่อเข้ามาใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์ของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เชื่อมต่อเข้ามาไม่ได้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ของเราได้นะ แค่มีการจราจรของอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องของเราเฉย ๆ หลักการทำงานจะคล้ายคลึงกับเวลาที่เราดาวน์โหลดไฟล์บน โปรแกรม BitTorrent นั่นเอง
โดยรูปแบบของ Decentralized VPN จะมีอยู่ 2 รูปแบบ ซึ่งประกอบไปด้วย
และเนื่องจากเครือข่าย Decentralized VPN นั้นไม่มีใครที่เป็นเจ้าของเซิร์ฟเวอร์เลย จึงไม่มีใครสามารถเก็บข้อมูลการใช้งานได้ โดย Decentralized VPN นั้นก็เป็นเหมือนกับ Decentralized App (dApp) ตัวหนึ่ง มันทำงานอยู่บน Ethereum Blockchain ซึ่งมีความโปร่งใส เราสามารถตรวจสอบการทำงานของมันได้ โดยที่ข้อมูลการใช้งานของคุณจะยังถูกเก็บเอาไว้เป็นความลับ
อีกข้อได้เปรียบหนึ่งของ Decentralized VPN คือ มีความเร็วในการทำงานที่เหนือกว่า และสามารถเข้าถึงเนื้อหาท้องถิ่น หรือเนื้อหาของประเทศปลายทางนั้น ๆ ได้ค่อนข้างแน่นอน เพราะเป็นการเชื่อมต่อผ่าน หมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ของคนในท้องที่ ในขณะที่บริการ Streaming อาจจะตรวจสอบ และปิดกั้น IP Address ของเซิร์ฟเวอร์ VPN ได้โดยตรง
เมื่อเราอ่านหลักการทำงานของ Decentralized VPN แล้ว คุณผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ ! มันก็เหมือนกับ เว็บเบราว์เซอร์ The Onion Router (Tor) เลยนี่ ?
Tor คืออะไร ?
TOR หรือชื่อเต็มยศว่า The Onion Router เป็น ซอฟต์แวร์เปิดเผยซอร์สโค้ด (Open Source Software) ตัวหนึ่ง ที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous communication) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยในการสื่อสารผ่าน TOR ข้อมูลจะไม่ถูกส่งไปยังปลายทางของเราโดยตรง แต่ข้อมูลจะถูกเข้ารหัสแล้วส่งไปยังโหนด (Node) /สถานีรีเลย์ (TOR Relay) ที่มีกระจายอยู่มากกว่า 600,000 จุด บนอินเทอร์เน็ต ก่อนจะถอดรหัสข้อมูลที่ปลายทางเพื่อส่งข้อมูลให้ผู้รับที่กำหนด
จะคิดแบบนั้นก็ได้ครับ เพราะทาง HackerNoon (เป็นสื่อด้านเทคโนโลยีที่เน้นเนื้อหาเชิงลึก) เองก็มองว่า Decentralized VPN เปรียบเสมือนกับร่างวิวัฒนาการของ Tor โดยมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย
โดย Tor นั้นทำงานบนเครือข่ายจากอาสาสมัครที่มีอยู่ทั่วโลก พวกเขาวาง Node ให้ใช้งานได้ฟรี ใครก็ตามที่ใช้ Tor ก็สามารถใช้งาน Node เหล่านั้นได้ ในขณะที่ Decentralized VPN นั้นจะจูงใจให้ผู้ใช้งานยอมเป็น Nodes ด้วยการให้ค่าตอบแทน แม้ว่าค่าตอบแทนนั้นอาจจะเป็นเพียงเครดิตที่เอาไว้ให้คุณใช้แทนการจ่ายเงินบน Decentralized VPN ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
สิ่งจูงใจนี้เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ Decentralized VPN คงอยู่ได้ ต่างจาก Tor ที่ใช้งานกันเฉพาะกลุ่ม มีเพียงผู้ใช้อยู่น้อยมากที่ใช้งาน Tor บางคนไม่รู้จัก และไม่เคยใช้งาน Tor เลยด้วยซ้ำ
หากคุณสนใจที่จะใช้งาน Decentralized VPNs ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า มันยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ ตัวเลือกจึงยังมีไม่มาก และการทำงานของมันก็อาจจะยังไม่สะดวกเท่ากับ VPN แบบดั้งเดิม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี Decentralized VPN ที่ใช้งานได้เลย ซึ่งเราได้เลือกตัวที่น่าสนใจ และสามารถใช้งานได้แล้วมาแนะนำบางส่วน ดังนี้
Mysterium เป็นระบบเครือข่ายที่อนุญาตให้ผู้ใช้สร้าง Node ของตนเองขึ้นมาเพื่อให้บริการเครือข่าย VPN ผู้ใช้สามารถขายเครือข่ายส่วนที่เหลือจากการใช้งานได้ในตลาดออนไลน์ ที่เปิดให้ผู้ใช้งานคนอื่นเข้ามาซื้อได้โดยตรง
การใช้งานก็ไม่มีอะไรมาก ซื้อเหรียญ MYST Coin มาใส่กระเป๋า เพื่อใช้เป็นเครดิตไว้จ่ายค่าใช้บริการเหมือนกับ VPN ทั่วไป จากนั้นก็คลิกเชื่อมต่อได้ทันที
ในตอนนี้ Mysterium มีให้บริการบนระบบปฏิบัติการ Windows, MacOS, Linux และ Android สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.mysteriumvpn.com/
ภาพจาก : https://www.howtogeek.com/824240/how-and-why-to-get-started-with-decentralized-vpns/
Orchid อาจจะเริ่มต้นใช้งานยุ่งยากนิดหน่อย แม้ว่าการติดตั้ง Client และซื้อเครดิต OXT coin จะเป็นเรื่องง่าย แต่การเชื่อมต่อไปยัง Node ต่าง ๆ ในการใช้งานครั้งแรกจะมีความซับซ้อนอยู่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Mysterium
ในตอนนี้ Mysterium มีให้บริการบนระบบปฏิบัติการ MacOS, iOS และ Android สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.orchid.com/vpn/
ภาพจาก : https://www.orchid.com/vpn/
ผู้ให้บริการรายที่ 3 ที่เราหยิบมาแนะนำคือ Deeper Network สำหรับรายนี้จะทำการตลาดแตกต่างจากเจ้าอื่น ๆ คือคุณต้องซื้ออุปกรณ์เสริมจาก Deeper Network มาใช้ในการเชื่อมต่อเครือข่าย ซึ่งมีราคาตั้งแต่ $248 - $359 (หรือประมาณ 9,100-13,150 บาท) แต่ข้อดีคือ จ่ายค่าอุปกรณ์เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ต้องจ่ายค่าใช้บริการแล้ว
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://shop.deeper.network/
ภาพจาก : https://shop.deeper.network/collections/product
ยังมี Decentralized VPN อีกหลายตัวที่น่าสนใจ แต่เรายังไม่ได้กล่าวถึง บางตัวอาจจะอยู่ในช่วงทดสอบ บางตัวก็มีให้ใช้งานจำกัดแค่บางแพลตฟอร์ม อย่าง Neutrality Way หรือ Sentinel หากสนใจก็ลองศึกษาเพิ่มเติมดูนะครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |