เชื่อว่า ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทุกคนน่าจะรู้จักกับ เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome (ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า "Chrome") กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก หรือเคยได้ยินชื่อ "Chromium" ที่เป็น Framework แบบ โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ (Open-Source Software) ที่ถูกใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนา เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) อีกหลายๆ ตัว อย่างเช่น เว็บเบราว์เซอร์ Brave, Vivaldi, Microsoft Edge และแน่นอนว่า Chrome ก็ด้วย เว็บเบราว์เซอร์ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนแต่พัฒนาต่อยอดมาจาก Chromium ทั้งสิ้น
ทั้ง Chrome และ Chromium นั้นต่างก็เป็นผลิตภัณฑ์ของ Google หากเปิดเทียบกัน มันก็แทบจะไม่แตกต่างกันเลย เพียงแต่จุดประสงค์ในการมีอยู่ของมันนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย Chrome นั้นเป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่ Google พัฒนาขึ้นมาสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ในขณะที่ Chromium เป็นโค้ดแบบ Open-source ที่ทาง Chrome และเว็บเบราว์เซอร์อื่น ๆ ใช้เป็นรากฐานในการพัฒนามันขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม มันก็ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดอีกหลายอย่าง ซึ่งเราจะมาอธิบายในบทความนี้
ภาพจาก : https://www.google.com/intl/th/chrome/
เว็บเบราว์เซอร์ Chrome เป็น ซอฟต์แวร์ประเภท Proprietary ที่พัฒนา และบริหารโดยบริษัท Google Inc. โดยพัฒนาขึ้นมาจากซอร์สโค้ดของ Chromium แต่ก็ได้เพิ่มคุณสมบัติหลายอย่างเพิ่มเติมเข้าไปนอกเหนือจากที่ Chromium เตรียมไว้ให้
ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเว็บเบราว์เซอร์ Chrome มาใช้งานได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ว่าผู้ใช้ไม่สามารถแก้ไขซอร์สโค้ดของมันเพื่อดัดแปลงให้เป็นเว็บเบราว์เซอร์ตัวใหม่ได้
เว็บเบราว์เซอร์ Chrome มาพร้อมกับระบบอัปเดตเวอร์ชันแบบอัตโนมัติ แต่ถึงจะบอกว่าฟรี ในความเป็นจริง ทาง Google ก็มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานจากผู้ใช้เป็นค่าแลกเปลี่ยนแทนเงิน เว็บเบราว์เซอร์ Chrome นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ครองตำแหน่งมีส่วนแบ่งในตลาดเว็บเบราว์เซอร์อันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นพื้นฐานการทำงานของนักพัฒนาเว็บไซต์ไปแล้วว่า หน้าเว็บจะต้องแสดงผลได้อย่างถูกต้องบนเว็บเบราว์เซอร์ Chrome เป็นลำดับแรก
ภาพจาก : https://www.similarweb.com/browsers/
ภาพจาก : https://www.softwareadvice.com/browser/chromium-profile/
ในตอนที่เว็บเบราว์เซอร์ Chrome เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) ทาง Google ก็ได้เปิดตัวโครงการ Chromium ออกมาด้วยในเวลาเดียวกัน มันเป็นเว็บเบราว์เซอร์ฟรีแบบ Open-source เพื่อให้นักพัฒนาที่มีความสนใจสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นเว็บเบราว์เซอร์ตัวใหม่ได้
โครงการ Chromium มีรูปแบบเป็นสังคมออนไลน์ของเหล่านักพัฒนา ตัวอย่างเช่น มีเฉพาะนักพัฒนาที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chromium เท่านั้น ที่ได้รับการอนุญาตให้แก้ไขซอร์สโค้ดได้ เนื่องจาก Chromium เป็นพื้นฐานของ Chrome นักพัฒนาจำนวนมากที่อยู่ในโครงการจึงมีการเพิ่มโค้ดบางส่วนที่มีกรรมสิทธิ์ลงไปในซอร์สโค้ดของ Chromium ด้วย
มีเว็บเบราว์เซอร์หลายตัวที่พัฒนาโดยใช้ซอร์สโค้ดของ Chromium เป็นพื้นฐาน เช่น Opera, Microsoft Edge, Amazon Silk, Brave ฯลฯ นอกจากนี้มีแอปพลิเคชันอีกเป็นจำนวนมากที่นำไปใช้เป็น Frameworks ในการทำงานด้วย
ข้อแตกต่าง | Chrome | Chromium |
โลโก้ | มี 4 สีดูสดใส | มีแค่สีฟ้าแบบไล่เฉด |
ลิขสิทธิ์ | รองรับ Media Codecs: H.264, MP3, และ AAC+ ฟรี Codecs:Theora, Opus, WAV, VP8, VP9 และ Vorbis อื่น ๆ: HTML5 และวิดีโอ H.264 | Theora, Opus, WAV, VP8, VP9 และ Vorbis |
Media Codec | Vorbis, WebM, Theora, AAC, MP3, H.264 | WebM, Theora, Vorbis |
ผู้พัฒนา | Google Inc | Chromium Project |
เว็บไซต์ | www.google.com/chrome | https://www.chromium.org |
มีปลั๊กอินในตัว | ต้องติดตั้งปลั๊กอินเพิ่ม | |
การอัปเดต | อัตโนมัติ | ต้องแมนนวลเอง |
ซอฟต์แวร์ | Chome OS | Chromium OS |
Print Preview | ได้ | ไม่ได้ |
เสถียรภาพ | เสถียรกว่า Chromium | มีโอกาสแครช และพบบั๊กได้บ่อยกว่า |
ความเป็นส่วนตัว | Chrome มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้เพื่อทำ Personalized ads สามารถหลีกเลี่ยงด้วยการใช้ "โหมด Incognito" ช่วยได้ | ไม่มีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ |
ความปลอดภัย | อัปเดตอัตโนมัติเป็นประจำ | อัปเดตให้ประจำเช่นกัน แต่ผู้ใช้ต้องหมั่นทำการอัปเดตด้วยตนเอง |
User Data Tracking/Crash reports | มีระบบ Tracks user data และ Crash reports | ไม่มี |
ส่วนขยาย | รองรับแค่ที่มีใน Chrome web store แต่ว่าฐานข้อมูลจะมีขนาดใหญ่กว่า | รองรับที่อยู่นอก Chrome web store ได้ แต่ไม่รองรับส่วนขยายใน Chrome web store ได้ทุกตัว และต้องติดตั้งแบบแมนนวลด้วยตนเอง |
Sandbox | ได้ | ไม่ได้ |
Web Store Service | มี | ไม่มี |
คุณสมบัติอื่น ๆ | ใส่เทคโนโลยีเพิ่มเข้ามาหลายอย่าง | ไม่มี |
การใช้ทรัพยากร | ใช้ทรัพยากรสูงกว่าเนื่องจากมีลูกเล่นเยอะกว่า | เนื่องจากลูกเล่นน้อย จึงใช้ทรัพยากรน้อยกว่า |
Chrome กับ Chromium มี UI คล้ายกัน แต่ Chrome จะมีเมนูบางอย่างเพิ่มเข้ามา เช่น การ Sync ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ | คล้ายคลึงกับ Chrome แต่มีเมนูน้อยกว่า |
ถ้าต้องเลือกว่าจะใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ตัวไหนดี ? ระหว่าง Chrome กับ Chromium คำตอบสำหรับคนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ใช้งานทั่วไปนั้นไม่ต้องคิดเลย เว็บเบราว์เซอร์ Chrome เป็นตัวเลือกที่ให้ประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีกว่าแน่นอน
เหตุผลก็เพราะว่า Chromium นั้นแม้จะเป็นรากฐานที่สำคัญในระบบนิเวศของเว็บเบราว์เซอร์ แต่มันไม่เหมาะสมกับผู้ใช้ที่เป็น ผู้ใช้งานจริงๆ (End User) เท่าไหร่นัก โดย Chromium จะเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทดลองใช้งานลูกเล่น ๆ ใหม่ ต้องการอิสระในการปรับแต่ง และพร้อมที่จะหมั่นอัปเดตตัวเว็บเบราว์เซอร์ด้วยตนเองเป็นประจำ
นอกจากนี้ Chromium ยังขาดคุณสมบัติหลายอย่างที่ช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการใช้งานของผู้ใช้ให้ดีขึ้น เช่น ไม่มีระบบ Sync การใช้งานระหว่างอุปกรณ์ผ่าน Cloud, ไม่มีระบบอัปเดตอัตโนมัติ ฯลฯ
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ เรื่องความเสถียรของตัวซอฟต์แวร์ โดย Chrome ที่ปล่อยออกมาให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดนั้น จะผ่านการทดสอบโดย Google มาอย่างประณีต ซึ่ง Chromium จะไม่มีตรงจุดนี้ ทำให้การใช้งานอาจไม่ราบรื่นมากนัก มีโอกาสเจอบั๊ก หรืออาการแครชได้ง่ายกว่า Chrome
อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นสาวกของซอฟต์แวร์ Open-source หรือไม่ชอบที่รู้ว่า Google มีการเก็บข้อมูลการใช้งาน จะเลือกใช้ Chromium ก็ไม่ผิดอะไร เพียงแต่คุณอาจจะต้องหมั่นอัปเดต และต้องเรียนรู้วิธีการใช้งานเพิ่มเติม
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |