ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Matter คืออะไร ? รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ ที่ให้อุปกรณ์ IoT คุยกันได้

Matter คืออะไร ? รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ ที่ให้อุปกรณ์ IoT คุยกันได้
ภาพจาก : https://matter-smarthome.de/en/development/matter-introduces-itself/
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 1,734
เขียนโดย :
0 Matter+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C+IoT+%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter

การตกแต่งบ้านของคนในยุคนี้ มักไม่ได้มองแค่ความสวยงาม และประโยชน์ในการใช้สอยอีกต่อไป ความไฮเทคก็เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เช่นกัน ปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์ประเภทที่เป็น อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things - IoT) ถูกผลิตขึ้นมาให้เลือกซื้อมากมาย สามารถตอบโจทย์ทุกฟังก์ชันที่ผู้บริโภคต้องการ

อย่างไรก็ตาม ความฝันที่เราสามารถควบคุมทุกอย่างภายในบ้านได้อย่างไร้รอยต่อ ผ่านระบบ IoT นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ใครที่เคยทำ หรือหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ IoT มาก่อน น่าจะทราบปัญหากันดีอยู่แล้ว ปัญหามาจากการที่ มาตรฐานการเชื่อมต่อ IoT ไม่มีมาตรฐานกลางที่ชัดเจน อารมณ์ต่างคนต่างทำยังไงยังงั้น

ซึ่งบางค่ายก็ใช้ Zigbee บางค่ายใช้ Z-Wave บ้างก็ต้องต่อผ่าน Bluetooth ไม่ก็ Wi-Fi อย่างเดียว หรือที่น่าจะเห็นภาพชัดเจนง่าย ๆ เวลาไปซื้อพวกอุปกรณ์ IoT ที่กล่องอาจจะมีการระบุว่ารองรับ HomeKit ของ Apple และ Google Home หรือไม่ก็รองรับแค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

นั่นส่งผลให้ในการควบคุมอุปกรณ์ IoT ภายในบ้าน ผู้ใช้จะต้องปวดหัวกับการตั้งค่าแอปพลิเคชัน ต้องมาจดจำด้วยว่าอุปกรณ์ตัวนี้ ต้องใช้แอปพลิเคชันตัวไหน ยิ่งการเซ็ตค่า Automation ยิ่งวุ่นวายเลย

แต่ในที่สุดปัญหาทั้งหมดที่ว่ามานี้ ก็ได้รับการแก้ไข ด้วยมาตรฐานที่เรียกว่า "Matter"

มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter คืออะไร ?
(What is Matter Smart Home Standard ?)

Matter เป็นชื่อ "มาตรฐานของบ้านอัจฉริยะ (Smarthome Standard)" ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Project Connected Home Over IP ในปี ค.ศ. 2019 แต่ปัจจุบันนี้อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่ม "Connectivity Standards Alliance (CSA)" หรือเดิมคือกลุ่ม "Zigbee Alliance"

โดย Matter ถูกพัฒนาให้เป็นมาตรฐานแบบ Royalty-Free ที่เป็นการจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้ได้รับสิทธิ์ในการใช้งานเพียงครั้งเดียว แล้วสามารถนำไปใช้งานได้ตลอด เป้าหมายของ Matter คือเพื่อเป็นมาตรฐานกลางสำหรับการสื่อสาร และแพลตฟอร์ม ของอุปกรณ์ IoT เพื่อให้พวกมันสามารถสื่อสารหากันได้ แม้จะมาต่างค่าย ต่างยี่ห้อก็ตาม 

Matter คืออะไร ? รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ ที่ให้อุปกรณ์ IoT คุยกันได้
ภาพจาก : https://bytebeam.io/blog/what-is-the-matter-protocol/

นอกจากนี้ มาตรฐาน Matter Smart Home ยังถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาของอุปกรณ์เรื้อรังที่มีอยู่ในอุปกรณ์ IoT ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้อีกเรื่องด้วย นั่นคือการที่ผู้ใช้จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต (Internet) ในการควบคุม สั่งงานอุปกรณ์ ซึ่งสาเหตุก็มาจากการที่อุปกรณ์ IoT แทบทั้งหมดพึ่งพา การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ในการสื่อสาร นั่นหมายความว่า ผู้ใช้แทบจะทำอะไรไม่ได้เลย หากไม่มีอินเทอร์เน็ต

โดย Matter มีคุณสมบัติที่สามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบคลาวด์ แม้บางคุณสมบัติการทำงานบางส่วนยังคงต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ต แต่ก็ลดน้อยลงกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ การที่พวกมันพึ่งพาคลาวด์น้อยลง ยังส่งผลให้ความปลอดภัยเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุปกรณ์ที่มีความอ่อนไหวอย่างระบบกล้องรักษาความปลอดภัย และกลอนดิจิทัล

ก็จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการสร้างมาตรฐาน Matter ขึ้นมาคือ เพื่อให้ผู้ใช้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ของบ้านอัจฉริยะที่ดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน

Matter กับระบบคลาวด์

เราบอกไปว่า Matter จะช่วยให้อุปกรณ์ IoT สามารถทำงานแบบออฟไลน์ได้ ไม่ต้องพึ่งพาระบบคลาวด์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม เรายังไม่สามารถตัด IoT ให้ขาดออกจากคลาวด์ได้อย่างสิ้นเชิง เพราะคุณสมบัติการทำงานสำคัญหลายอย่างยังต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตอยู่ดี อย่างเช่น

อัปเดตแบบ Over-The-Air (OTA)

อุปกรณ์ IoT จะมีเฟิร์มแวร์ในตัว ซึ่งมักจะอัปเดตผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก

ควบคุมจากระยะไกล (Remote Access)

หากต้องการควบคุมอุปกรณ์ IoT เวลาที่อยู่ข้างนอกบ้าน เช่น ต้องการสั่งให้หุงข้าว และเปิดแอร์ในบ้านล่วงหน้าก่อนที่เราจะถึงบ้าน ก็ยังคงต้องสั่งงานผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ดี

การบำรุงรักษาผ่านอินเทอร์เน็ต

อุปกรณ์บางชนิดเวลาที่เครื่องมีปัญหา ทางผู้ผลิตจะสามารถรีโมตเข้ามาตรวจเช็ค ไฟล์บันทึกรายละเอียด การทำงานของอุปกรณ์ (Log Files) เพื่อค้นหาสาเหตุการทำงานที่ผิดปกติได้ แน่นอนว่าการจะทำได้ จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ต

คุณสมบัติเฉพาะตัว

อุปกรณ์ IoT บางรุ่น จะมีคุณสมบัติ และการใช้งานข้อมูลที่อยู่นอกเหนือความสามารถที่ทาง Matter กำหนดไว้ โดยในการทำงานจะต้องเชื่อมต่อไปยังระบบคลาวด์ของผู้ผลิตโดยตรง

การเชื่อมต่อไปยังบริการของบุคคลที่สาม (3rd-Party Services)

ในการเชื่อมต่อกับบริการของบุคคลที่สาม (3rd-Party Services) ที่อยู่นอกเหนือจาก Ecosystem ของ Matter ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ตเช่นกัน

มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter ทำงานอย่างไร ?
(How does Matter Smart Home Standard work ?)

การทำงานของ มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter นั้น ตัวมันเองจะมีหน้าที่เป็น Application layer ทำงานโดยใช้ ระบบไอพีมาตรฐาน IPv6 ที่บนชั้นของ Network Layer และใช้ User Datagram Protocol (UDP) ร่วมกับ Transmission Control Protocol (TCP) บน Transport Layer โดย Matter 1.0 จะทำงานอยู่เหนือระบบ Thread (IEEE 802.15.4), Wi-Fi / WLAN (IEEE 802.11) และ Ethernet / LAN (IEEE 802.3)

ข้อมูลเพิ่มเติม : Protocol คืออะไร ? จำเป็นแค่ไหน ต่อการใช้งานเน็ตเวิร์ก หรือเล่นเน็ต ?

เราจะเห็นว่า อุปกรณ์ Matter สามารถสื่อสารหากันได้ แม้มันจะใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน มันอาจจะใช้สายผ่าน Ethernet หรือไร้สายผ่าน Wi-Fi / Thread อย่างที่เราได้อธิบายไปในย่อหน้าที่แล้ว มันมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจาก Zigbee หรือ Z-Wave ที่อาศัยความร่วมมือระหว่างฮาร์ดแวร์, ระบบเครือข่าย รวมไปถึง Application  Layer รวมไว้ในมาตรฐานเดียว หรือที่เรียกว่าการทำงานแบบ "Full Stack" นั่นเอง

เครือข่ายทั้งหมดที่ว่ามานี้ทำงานแบบ Local นั้นหมายความว่า การทำงาน และควบคุมจะเกิดขึ้นภายในบ้านของผู้ใช้เท่านั้น หากต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเครือข่ายนี้เข้ากับอินเทอร์เน็ต จึงจำเป็นต้องมี "Matter Hub"

เหตุผลที่อุปกรณ์ Matter ที่อาจจะมีฮาร์ดแวร์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในตัว ไม่ได้รับอนุญาตเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเอวโดยตรง เพราะมันอาจมีความเสี่ยงที่มันจะเชื่อมต่อไปยังคลาวด์ หรืออินเทอร์เน็ตด้วยกระบวนการที่อยู่นอกการควบคุม หรือความต้องการของระบบ Matter เอง ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ที่ไม่ควรมีในระบบ Local 

Matter คืออะไร ? รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ ที่ให้อุปกรณ์ IoT คุยกันได้
ภาพจาก : https://homey.app/en-us/wiki/what-is-matter/

เรื่องที่ควรรูคืออุปกรณ์ที่รองรับ Matter ไม่ได้สามารถสื่อสารหากันโดยตรงเสมอไป ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน Ethernet หรือ Wi-Fi จะอยู่ในเครือข่ายเดียวกันก็ตาม แต่อุปกรณ์ที่ใช้ Thread นั้นถือว่าอยู่คนละเครือข่าย ในการสื่อสารจะต้องพึ่งพา "Matter Border-Router" (เราจะอธิบายในหัวข้อถัดไป) ในการสื่อสารกับอุปกรณ์ Matter ที่ใช้ Thread ได้

Thread เป็นเทคโนโลยีไร้สายที่ใช้พลังงาน และมีค่า Latency ต่ำ มันถูกนำมาใช้ในการทำเครือข่ายแบบ เครือข่ายแบบตาข่าย (Mesh Networking) ผ่าน ระบบ หมายเลข IP โดยพื้นฐานแล้ว Thread เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก Zigbee ส่วนใหญ่แล้ว Thread จะใช้ในอุปกรณ์ที่ทำงานโดยอาศัยแบตเตอรี่ในตัว เนื่องจากคุณสมบัติด้านการประหยัดพลังงาน เช่น เซ็นเซอร์ประตู, กลอนดิจิทัล, โคมไฟอัจฉริยะ เป็นต้น

ถ้าจะสรุปเป็นหัวข้อ

  • อุปกรณ์ Matter สามารถสื่อสารหากันได้ ผ่านระบบ Unified Application Layer
  • Matter รองรับ Thread Wi-Fi และ Ethernet ผ่าน Physical Communication Layer
  • การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์อาจไม่สามารถทำได้โดยตรงเสมอไป เช่น LAN กับ Thread
  • อุปกรณ์ Matter บน Thread ใช้ในการทำเครือข่าย Mesh Network

องค์ประกอบของ มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter
(Matter Smart Home Standard Components)

ในเครือข่ายของ มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter จะมีการพึ่งพาอุปกรณ์หลายชนิด โดยสามารถแบ่งตามหน้าที่ออกได้เป็น 5 กลุ่ม ประกอบไปด้วย

1. Matter Hub 

ภายในทุกเครือข่ายจำเป็นต้องมีจุดศูนย์กลางคอยควบคุม และนั่นคือหน้าที่ของ Matter Hub เราจำเป็นต้องมีมันอย่างน้อยหนึ่งตัวอยู่ภายในเครือข่าย Matter นอกจากนี้ ยังมี Matter Hub บางรุ่น ที่สามารถทำหน้าที่เป็น Matter Border-Routers ได้ด้วย

Matter Hub เปรียบได้กับมันสมองของเครือข่าย มันช่วยประสานการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในเครือข่าย, กำหนดสิทธิ์อนุญาตในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ และการทำงานร่วมกัน รวมถึงเป็นทางเชื่อมต่อเครือข่ายภายในบ้านให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ มันยังมี อินเทอร์เฟส (Interface) สำหรับให้ผู้ใช้ควบคุม, ตั้งค่า, กำหนด Automation ฯลฯ ได้ง่าย ๆ

2. Matter Border-Routers

เราได้พูดถึงมันไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ อย่างที่เราได้อธิบายไปแล้วว่า อุปกรณ์ Matter ไม่ใช่ว่าจะสื่อสารหากันโดยตรงได้เสมอไป เพราะอุปกรณ์บางตัวเชื่อมต่อกับเครือข่ายผ่าน Ethernet หรือ Wi-Fi ซึ่งเป็นคนละเครือข่ายกับ Thread

ทั้งคู่มีพื้นฐานการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าเรปียบเทียบการทำงานแบบไร้สาย Thread เป็น Mesh Network ที่ออกแบบมาให้ใช้พลังงานต่ำ และมีแบนด์วิดน้อย ในขณะที่ Wi-Fi เป็นเครือข่ายที่ออกแบบมาให้ทำงานด้วยความเร็วสูง แบนด์วิดเยอะ แต่ก็ใช้พลังงานในการทำงานสูงตามไปด้วยเช่นกัน

ในการที่อุปกรณ์ Matter ที่อยู่บน LAN และ Thread จะสื่อสารหากันได้ เราจำเป็นต้องมีสะพานเข้ามาช่วยแปลภาษาให้พวกมันคุยกันรู้เรื่อง ซึ่งนั่นเป็นหน้าที่ของ Matter Border-Router นั่นเอง แต่บางทีก็อาจเรียกว่า Thread Boder-Router ได้เช่นกัน โดย Matter Border-Router ก็จะทำงานทั้งบนเครือข่าย LAN (ทั้ง Ethernet และ Wi-Fi) และ Thread เพื่อรับ และส่งข้อมูลระหว่างสองเครือข่ายนี้

Matter Hub บางรุ่นก็มีการใส่คุณสมบัติ Matter Border-Router เข้ามาให้ภายในตัวเลย

3. Matter Devices

อุปกรณ์ Matter ทุกตัว จะรองรับการทำงานของระบบ Matter (แน่นอนสิ) พวกมันสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่าย LAN ที่คุณมีผ่าน Ethernet หรือ Wi-Fi โดยพวกมันจะไม่มีการส่งสัญญาณซ้ำ หรือส่งไปยังเครือข่าย Mesh network เพราะอย่างที่เราได้บอกไปในหัวข้อก่อนหน้า ว่ามันทำงานคนละเครือข่ายกับ Thread

มีข้อสังเกตว่า ถึงแม้ Matter จะเป็น Local protocol ที่ทำงานอยู่ในวง LAN เท่านั้น แต่อุปกรณ์ Matter บางชนิด ก็อาจจำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อให้คุณสมบัติการทำงานบางอย่างสามารถใช้งานได้ด้วย อย่างเช่น Phillips Hue Bridge ที่เป็นอุปกรณ์ Matter ที่ทำงานบน LAN แต่ก็สามารถเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Philips Hue ได้

4. Thread Mesh Extenders

Thread Mesh Extenders ทำหน้าที่เหมือน "เราเตอร์" ในเครือข่าย Zigbee หรือ Z-Wave อุปกรณ์ตัวนี้จะต่อกับแหล่งพลังงานโดยตรง ไม่ได้ใช้แบตเตอรี่ในการทำงาน และยังทำหน้าที่เป็น Mesh extenders เพื่อ Repeat สัญญาณ Thread อีกด้วย

โดยมันจะสื่อสารกับอุปกรณ์ทั้งหมดที่อยู่ในระยะของเครือข่าย และทำซ้ำ Repate สัญญาณ อย่างไรก็ตาม Thread Mesh Extenders จะสื่อสารแค่บน Thread เท่านั้น ไม่มีการสื่อสารไปยัง Wi-Fi หรือ Ethernet ทำให้มันไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้

5. Thread End-Devices

นี่เป็นอุปกรณ์ที่อาจเป็นปลายทางในการรับข้อมูล หรือแหล่งต้นกำเนิดข้อมูลก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำ อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ที่มีอยู่ในตัว โดยเพื่อการประหยัดพลังงานมันจึงไม่มีการ Repeat หรือส่งต่อสัญญาณ

Matter คืออะไร ? รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ ที่ให้อุปกรณ์ IoT คุยกันได้
ภาพจาก : https://homey.app/en-us/wiki/what-is-matter/

มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter รองรับอุปกรณ์อะไรบ้าง ? (Matter Smart Home Standard Compatible Devices)

การใช้งาน มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter ได้นั้น ตัวเฟิร์มแวร์ของอุปกรณ์จะต้องรองรับด้วย โดยอุปกรณ์ที่รองรับมาตรฐาน Thread, Z-Wave หรือ Zigbee ส่วนใหญ่ตัวฮาร์ดแวร์จะสามารถใช้งาน Matter ได้อยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางผู้ผลิตจะอัปเดตเฟิร์มแวร์ให้รองรับ Matter หรือไม่ ? ซึ่งก็มีทั้งผู้ผลิตที่ยอมอัปเดตให้ กับผู้ผลิตที่เลือกผลิตอุปกรณ์ใหม่มาขายแทนเลย สำหรับอุปกรณ์รุ่นใหม่ที่รองรับแล้ว จะมีโลโก้ Matter แปะมาบนตัวบรรจุภัณฑ์เลย

Matter คืออะไร ? รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ ที่ให้อุปกรณ์ IoT คุยกันได้
ภาพจาก : https://matter-smarthome.de/en/benefits/benefits-of-matter-3-easy-setup/

นับตั้งแต่เปิดตัว มาตรฐานของ Matter ได้มีการอัปเดตจาก Matter 1.0 ไล่มา 1.1, 1.2 และเวอร์ชันล่าสุด 1.3 ที่เพิ่งจะเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) ในแต่ละเวอร์ชันจะมีการเพิ่มประเภทของอุปกรณ์ที่ Matter สามารถรองรับได้เข้ามา โดยสาเหตุที่มันไม่สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ทุกชนิดได้ เนื่องจากต้องมีการทดสอบการทำงานอย่างถี่ถ้วน จนกว่าจะมั่นใจว่าการสื่อสารหากันระหว่างอุปกรณ์จะเป็นไปได้ด้วยดี

ทั้งนี้ Matter 1.1 ไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับเพิ่มขึ้นจาก Matter 1.0 แต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด และปรับปรุง SDK และ API ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ส่วน Matter 1.3 จะเพิ่มการรองรับอุปกรณ์ในกลุ่มเครื่องครัวเข้ามา

Matter 1.0 Matter 1.2

Matter 1.3

 หลอดไฟ

 สวิตช์

 สมาร์ทปลั๊ก

 กลอนดิจิทัล

 เซ็นเซอร์รักษาความปลอดภัย

 อุปกรณ์มัลติมีเดีย

 ทีวี

 ม่านอัจฉริยะ

 ประตูโรงรถ

 เครื่องควบคุมอุณหภูมิ

 ตู้เย็น

 เครื่องปรับอากาศ

 เครื่องล้างจาน

 เครื่องซักผ้า

 หุ่นยนต์ทำความสะอาด

 เครื่องตรวจควัน

 สัญญาณเตือนไฟไหม้

 เครื่องวัดคุณภาพอากาศ

 เครื่องฟอกอากาศ

 พัดลม

 ไมโครเวฟ

 เตาอบ

 เตาแม่เหล็กไฟฟ้า

 เครื่องดูดควัน

 เครื่องอบผ้า

 Matter Casting Media Players / TVs
 (ส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังทีวี)

 รองรับ Scenes

 Command Batching
 (สั่งงานหลายอุปกรณ์ในครั้งเดียว)

ประวัติความเป็นมาของ มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter (History of Matter Smart Home Standard)

มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter จัดว่าเป็นมาตรฐานที่ทางกลุ่ม Connectivity Standards Alliance หรือชื่อเดิมคือ Zigbee Alliance ได้กำกับดูแลอยู่

ก็ตามชื่อเลย เดิมทีเป็นกลุ่มพันธมิตรของบริษัทที่ผลิตสินค้าเกี่ยวกับ IoT โดยชื่อ Zigbee ถูกลงทะเบียนในฐานะเครื่องหมายการค้าของกลุ่ม ตัวมันเองไม่ได้เป็นมาตรฐานทางเทคนิคด้วยซ้ำไป แต่รวมกลุ่มกันเพื่อกำหนดค่าโปรไฟล์ที่อนุญาตให้อุปกรณ์จากบริษัทผู้ผลิตที่มีอยู่หลายราย (Original Equipment Manufacturer (OEM)) สามารถทำงานร่วมกันได้ ความสัมพันธ์ระหว่างมาตรฐาน IEEE 802.15.4 กับ Zigbee ก็เหมือนกับความสัมพันธ์ระหว่าง IEEE 802.11 กับกลุ่ม Wi-Fi Alliance 

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Zigbee มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เกี่ยวกับใบอนุญาตในการพัฒนา จนท้ายที่สุดก็มีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มใหม่เป็น Connectivity Standards Alliance (CSA) แทน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) 

ปัจจุบันนี้ กลุ่ม CSA มีบริษัทเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 500 แห่ง โดยมีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายรายเข้าร่วมด้วย เช่น Amazon, Apple, Comcast, Google, Yandex, Ikea และ Samsung SmartThings

Matter คืออะไร ? รู้จักมาตรฐานบ้านอัจฉริยะ ที่ให้อุปกรณ์ IoT คุยกันได้
ภาพจาก : https://www.tapo.com/tr/news/233/

ข้อจำกัดของ มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter (Matter Smart Home Standard Limitations)

โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ถึงแม้ มาตรฐานบ้านอัจฉริยะ Matter จะพัฒนามาไกลกว่าเทคโนโลยีก่อนหน้านี้มาก แต่ทว่า Matter ก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน

เมื่อมีมาตรฐานใหม่เกิดขึ้น การที่มันจะประสบความสำเร็จได้นั้น มันก็ขึ้นอยู่กับว่ามันได้รับการต้อนรับ มีจำนวนผู้ใช้งานมากขนาดไหน ? หนึ่งในข้อดีของ Matter คือการที่ผู้ใช้สามารถควบคุมอุปกรณ์ IoT ทั้งหมดได้ในแพลตฟอร์มเดียว แต่ทางผู้ผลิตก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย อย่าง Phillips ที่ผลิตอุปกรณ์ IoT หลายอย่าง เพิ่งจะทยอยอัปเดตอุปกรณ์ให้รองรับ Matter ได้ ทำให้ปัญหาลดลง แต่ Belkin ซึ่งก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์ IoT รายใหญ่เช่นกัน กลับตัดสินใจที่จะไม่ให้การสนับสนุน Matter นั่นทำให้อนาคตที่อุปกรณ์ IoT ทุกอย่างจะสามารถสื่อสารกันได้แบบไร้ข้อจำกัดไกลออกไปอีก

อีกปัญหาหนึ่งของ Matter คือมันอาจไม่ช่วยให้ประสบการณ์ของผู้ใช้ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก แม้ทางฝั่งผู้บริโภคจะชีวิตง่ายขึ้นจากการควบคุมอุปกรณ์ได้แบบไร้รอยต่อ แต่ปัญหาไปตกอยู่ที่ทางผู้ผลิต เพราะไม่สามารถใส่คุณสมบัติที่อยู่นอกเหนือมาตรฐาน Matter เข้ามาได้ หากต้องการพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ ที่มีการใส่ลูกเล่นใหม่น่าตื่นเต้นเข้ามา ผู้ผลิตจะต้องเลือกว่าจะรอให้ทาง Matter อัปเดตให้สนับสนุนลูกเล่นใหม่ดังกล่าวได้เสียก่อน หรือจะปล่อยออกมาเลยทันทีโดยไม่รอ

ถ้าต้องการให้ Matter ประสบความสำเร็จ ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคต ทุกบริษัทจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ให้รองรับ Matter เป็นลำดับแรก ๆ


ที่มา : www.wired.com , www.androidpolice.com , homey.app , www.theverge.com , bytebeam.io , csa-iot.org , csa-iot.org , en.wikipedia.org

0 Matter+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%88%E0%B8%89%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0+%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C+IoT+%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น